พณ.กล่อมเอกชนรับซื้อกระเทียมแก้ราคาตก บางส่วนอ้างเพื่อนบ้านเสนอราคาถูกกว่ามาก

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวภายหลังลงพื้นที่เพาะปลูกกระเทียม อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เพื่อแก้ปัญหาราคากระเทียมต่ำ ว่า จากการคาดการณ์ผลผลิตกระเทียม ปี 2561/62 ผลผลิตมีปริมาณ 89,605 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา (90,982 ตัน) คิดเป็นร้อยละ 1.51 ผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 85% โดยจำหน่ายเป็นกระเทียม(สด) และทยอยเก็บแขวนเพื่อจำหน่ายเป็นกระเทียมแห้ง ในช่วงกลางเดือน เม.ย 62 แนวโน้มราคาเคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ต่ำ สาเหตุจากมีการนำเข้ากระเทียม จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้บริโภคนิยมใช้ เพราะราคาต่ำกว่าผลผลิตของไทย ประกอบกับผลผลิต  มีหัวใหญ่ กลีบใหญ่ เปลือกแข็ง แกะง่าย และเนื้อเยอะ

ทั้งนี้ กรมได้ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเกษรตรกรโดยการป้องกันการลักลอบนำเข้ามาตามด่านชายแดนที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ด่านมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ด่านวังประจัน จังหวัดสตูล โดยขอความร่วมมือกรมศุลกากรให้เข้มงวดตรวจสอบการนำเข้า โดยการนำเข้าและขนย้ายจะต้องมีเอกสารตามประกาศ กกร. เป็นเอกสารประกอบการตรวจปล่อยสินค้าออกจากด่านฯ เพื่อเป็นการป้องกันและป้องปรามมิให้ผู้นำเข้ากระทำผิด ซึ่งเดือน มี.ค ที่ผ่านมา สามารถจับกุมได้กว่า 500 ตัน ซึ่งกระเทียมนั้นจะกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุม โดยผู้นำเข้าจะต้องแจ้งการขนย้ายกระเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศตั้งแต่ 400 กก. ขึ้นไป ไม่ว่าทางบกหรือทางทะเล เข้าหรือออกจากจังหวัดที่กำหนด 52 จังหวัด ต้องขออนุญาตขนย้าย ผู้ครอบครองกระเทียมนำเข้าจากต่างประเทศที่มีปริมาณตั้งแต่ 2,000 กก. ขึ้นไป ให้แจ้งปริมาณ สถานที่เก็บ และจัดทำบัญชีคุมสินค้ากระเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศและจะดำเนินการตรวจสอบคลังที่ใช้เก็บกระเทียม โดยขอความร่วมมือให้ระบุชื่อผู้ฝากเก็บให้ชัดเจน หากไม่ระบุจะถือว่าเป็นของคลัง ถ้าชี้แจงที่มาไม่ได้ จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอีกทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกักตุนกระเทียมไว้เพื่อเก็งกำไร นอกจากนี้ กรม ได้มีการเชื่อมโยงให้มีการซื้อขายกระเทียม ระหว่างกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตรกับ ห้างค้าปลีกรายใหญ่ รวบรวม ผู้ส่งออก ปริมาณกระเทียม(สด) ประมาณ 12,000 ตันมูลค่ารวมประมาณ 180 ล้านบาท ซึ่งสามารถยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรได้ในระดับหนึ่ง

“จากการลงพื้นที่แปลงเพาะปลูกกระเทียม ในเชียงใหม่ เพื่อพบปะเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม และนำผู้ประกอบการค้าสินค้าเกษตร อาทิ ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ผู้รวบรวม ผู้ส่งออก และตลาดกลางสินค้าเกษตรในความส่งเสริมของกรมร่วมตรวจเยี่ยมแปลงเพาะปลูกกระเทียม ซึ่งมีทั้งแปลงที่ปลูกกระเทียมสายพันธุ์พื้นบ้าน และแปลงที่ใช้พันธุ์จากต่างประเทศมาเพาะปลูก ซึ่งเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพเช่นเดียวกับที่มีการนำเข้า เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งเป็นการสร้างความมั่นใจในกับผู้ประกอบการ และเกษตรกร เมื่อมีการผลิตแล้วมีตลาดรองรับ โดยการจัดทำบันทึกความร่วมมือในการซื้อขายระหว่างกัน ซึ่งพบว่ามีผู้ประกอบการหลายรายเจรจารับซื้อแล้ว”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกชนหลายรายที่เจรจากับเกษตรกรเพาะปลูกกระเทียมยังตกลงเรื่องราคารับซื้อไม่ได้ เพราะอ้างซื้อกระเทียมจากประเทศเพื่อนบ้านได้ถูกกว่ากิโลละ 4-5 บาท และบางส่วนลักลอบเข้ามาตีตลาด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image