สรรพากรชี้ผู้ฝากเงินต้องยินยอมให้แบงก์รายงานดอกเบี้ย-เริ่มทันทีพ.ค.นี้

นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร กล่าวถึงประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 344) ลงวันที่ 4 เมษายนกำหนดให้ธนาคารรายงานรายงานดอกเบี้ยออมทรัพย์มายังกรมสรรพากรว่า ประกาศดังกล่าวเป็นเพียงการเปลี่ยนรูปแบบการนำส่งข้อมูล จากเดิมที่ผู้ฝากเงินมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ธนาคารทราบเมื่อได้รับดอกเบี้ยรวมทุกบัญชีเกิน 20,000 บาท เพื่อให้ธนาคารหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งกรมสรรพากร เปลี่ยนเป็นให้ผู้ฝากเงินแจ้งความประสงค์ต่อธนาคารที่ตนเองมีเงินฝากอยู่ว่ายินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของผู้ฝากเงินให้แก่กรมสรรพากรทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้กรมสรรพากรทราบจำนวนดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของผู้ฝากเงินในทุกบัญชีของทุกธนาคาร ซึ่งกรมสรรพากรจะส่งข้อมูลผู้ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่เกินกว่า 20,000 บาท เพื่อให้ธนาคารหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายต่อไป

“ธนาคารแต่ละแห่งต้องให้ลูกค้ายินยอมจึงจะส่งข้อมูลมายังกรมสรรพากรได้ ซึ่งตรงนี้คงต้องแล้วแต่แบงก์ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร ถ้าไม่มีการยินยอมผู้ฝากต้องเสียภาษี 15% ไปก่อน และสามารถขอคืนภายหลังในช่วงยื่นแบบแสดงภาษี ซึ่งเรื่องการยิมยอมและการส่งข้อมูลมายังกรมสรรพากรนั้น กรมพูดคุยกับธนาคารมานานเป็นปีแล้ว และสามารถส่งผ่านระบบภงด. 2 ได้ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนระบบเพิ่มเติม”นายปิ่นสายกล่าว

นายปิ่นสายกล่าวต่อว่า กรมกำหนดให้ส่งข้อมูลครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม เพื่อให้กรมสรรพากรตรวจสอบก่อนการจ่ายดอกเบี้ยครึ่งปีในเดือนมิถุนายน หลังจากนั้นให้ส่งข้อมูลอีกครั้งเดือนพฤศจิกายน เพื่อให้กรมสรรพากรตรวจสอบก่อนจ่ายดอกเบี้ยปลายปีช่วงเดือนธันวาคม โดยนับรายได้ดอกเบี้ยทุกบัญชีทุกแบงก์รวมกันตรงนี้เป็นกฎหมายใช้มานาน 10-20 ปีแล้ว แต่ในอดีตการส่งข้อมูลทำบนกระดาษทำให้เกิดช่องว่าการทุจริตโดยไม่เจตนา และโดยเจตนา แต่ต่อไปเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ทำให้การตรวจสอบง่ายขึ้น โดยยืนยันว่ากลุ่มบัญชีออมทรัพย์ที่มีประมาณ 80-100 ล้านบัญชีนั้น ส่วนใหญ่ 99% มีเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษีจึงไม่ได้รับผลกระทบตรงนี้ เพราะถ้าต้องเสียภาษีต้องมีเงินฝากรวมกันเกิน 4 ล้านบาท จึงทำให้รายได้ดอกเบี้ยอยู่ในระดับ 20,000 บาทต่อปี

“การดำเนินการครั้งนี้เป็นการช่วยผู้เสียภาษีให้ได้รับความสะดวกมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้กรมใช้ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ระบบประกันสุขภาพที่ต้องแจ้งให้ส่งข้อมูลมายังกรม เพื่อจะได้ไม่ต้องขอข้อมูลภายหลัง ซึ่งการยิมยอมให้แบงก์ส่งข้อมูลมายังกรมสรรพากรสำหรับลูกค้าเก่าทำเพียงครั้งเดียวในแต่ละแบงก์ ถ้าเป็นลูกค้าใหม่ต้องยิมยอมตั้งแต่เปิดบัญชี” นายปิ่นสายกล่าว

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image