อานุภาพของโซเชียลและเทคโนโลยี : นิธิ เอียวศรีวงศ์

เมื่อเร็วๆ นี้ ผบ.ทบ.ประกาศสัจธรรมความจริงที่น่าสนใจไว้ว่า “โซเชียลคืออาวุธที่มีอานุภาพและทรงประสิทธิภาพมากกว่าอาวุธใดๆ ทั้งสิ้น ที่กองทัพมีอยู่”

ไม่แต่เพียงเป็นความจริงอย่างเดียว ยังน่าจะเป็นความจริงที่ทำให้เกิดสำนึกถึงพลังอำนาจที่แท้จริงของกองทัพด้วย

ความรู้ด้านพลังที่กองทัพไหนๆ ในโลกย่อมรู้ดีมีอยู่เพียงอย่างเดียว คือพลังที่ขอเรียกว่า “กำลังยิง” และเมื่อคิดถึงอานุภาพของอาวุธสมัยใหม่ บวกกับการจัด “กำลังยิง” ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดของกองทัพสมัยใหม่ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นพลังอำนาจที่ใหญ่และน่ากลัวมาก อาจทำความเสียหายให้ฝ่ายตรงข้ามได้อย่างกว้างใหญ่ไพศาล ไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามของกองทัพจะอยู่ภายในประเทศหรือนอกประเทศ

แต่ในความจริงแล้ว โลกรู้จักพลังอื่นๆ นอกจาก “กำลังยิง” อีกหลายอย่าง ทั้งรู้จักใช้พลังเหล่านั้นไปในทางสร้างสรรค์และทำลาย ทั้งแก่ตนเองและส่วนรวมมานานแล้วด้วย “กำลังยิง” เสียอีกเป็นพลังเล็กๆ เพียงส่วนเดียวของสังคม เช่นกองทัพน่าจะรู้จักพลังทางเศรษฐกิจดี ประเทศที่มีพลังเศรษฐกิจไม่มากนักอย่างประเทศไทย มี “กำลังยิง” ได้เท่านี้แหละครับ และที่จริงก็มีมากเกินไปด้วยซ้ำ บั่นรอนพลังด้านอื่นๆ ที่มีประโยชน์กว่าไปอย่างไม่จำเป็น

Advertisement

นอกจากพลังทางเศรษฐกิจที่ทำให้ประเทศเข้มแข็งแล้ว ยังมีพลังอื่นๆ อีกเช่นพลังทางการศึกษา, พลังทางสังคม, พลังทางการเมืองทั้งภายใน และระหว่างประเทศ, ฯลฯ และแน่นอนพลังทางการสื่อสารซึ่งโซเชียลเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ เพราะเปลี่ยนแบบแผนการสื่อสารทางสังคมไปอย่างมโหฬาร

หากเราจัดการพลังเหล่านี้เป็นหรืออย่างฉลาด ประเทศจะก้าวไปไกลมาก เมื่อคิดถึงข้อได้เปรียบของไทยในด้านต่างๆ เช่นที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ความขัดแย้งภายในไม่ใหญ่เกินไป เพราะความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ และศาสนา ไม่มากขนาดที่จะขัดขวางการอำนวยความยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน

ฝ่ายที่จะจัดการพลังเหล่านี้เป็นและชาญฉลาดก็คือรัฐ ซึ่งนับจาก พ.ศ.2475 เป็นต้นมา ก็ได้ตกลงที่จะเปิดให้ผู้คนหลายๆ ฝ่ายเข้ามามีอำนาจร่วมกัน ดึงเอาสติปัญญาและความสามารถของทุกคนเข้ามาช่วยกันด้วยกลไกประชาธิปไตย เพื่อจะจัดการพลังเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์แก่ทุกคนซึ่งเป็นเจ้าของชาติร่วมกัน

Advertisement

แต่รัฐเช่นนี้กลับไม่สามารถป้องกันตนเองจาก “กำลังยิง” ของกองทัพได้ กองทัพจึงเข้ามากำกับรัฐอยู่ตลอดมา โดยเปิดเผยบ้าง โดยสถาปนาเงาอำมหิตเบื้องหลังบ้าง ทั้งๆ ที่อย่าง ผบ.ทบ.ประกาศสัจธรรมไว้ กองทัพไม่รู้จักพลังอื่น นอกจากกำลังยิง จึงไม่รู้วิธีที่จะจัดการพลังด้านอื่นๆ ของสังคมอย่างชาญฉลาด ทำให้พลังด้านต่างๆ ของสังคมไทยไม่อาจทำงานได้เต็มศักยภาพ

ซ้ำกองทัพไม่เข้าใจว่า ในสังคมที่ปลดปล่อยให้พลังเหล่านี้ได้ทำงานอย่างเสรี (ภายใต้การปกป้องสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและความยุติธรรมทางสังคม) ย่อมเกิดความขัดแย้งภายในพลังเอง หรือระหว่างพลังต่างๆ เช่นระหว่างแรงงานกับทุนในพลังทางเศรษฐกิจ หรือระหว่างการหากำไรกับการปกป้องประเพณีบางอย่างที่ยังเป็นประโยชน์แก่คนบางกลุ่ม

แท้จริงแล้ว ความขัดแย้งไม่ได้มีผลแต่การบ่อนทำลาย ความขัดแย้งในระดับหนึ่งเป็นผลให้เกิดความก้าวหน้าด้วย เพราะในที่สุดแล้วความขัดแย้งมักลงเอยที่ “ทางออก” ซึ่งพอรับได้แก่ทุกฝ่าย กลายเป็นแบบแผนใหม่ที่มีความต่างด้านคุณภาพจาก “ทางออก” เก่าหรือแบบแผนความสัมพันธ์อย่างเดิม ด้วยเหตุดังนั้น ทั้งในกระบวนการความขัดแย้งและผลบั้นปลายของความขัดแย้ง จึงก่อให้เกิดการเรียนรู้ในสังคม

พลังด้านต่างๆ ในสังคมทำงานอย่างได้ผลด้วยความขัดแย้ง แตกต่างจากพลังที่เป็น “กำลังยิง” ซึ่งต้องการความพร้อมเพรียงสมัครสมานของทุกฝ่าย เพื่อทำให้กำลังยิงมีอานุภาพขึ้นได้ กองทัพจึงมองการจัดการพลังด้านต่างๆ อย่างคับแคบ เพราะรู้จักแต่เพียงกำลังยิงเท่านั้น

น่าสนใจที่จะสังเกตว่า สัจธรรมของ ผบ.ทบ.มองโซเชียลเป็นอาวุธ จึงนำมันไปเทียบกับอาวุธยุทธภัณฑ์ที่กองทัพมีอยู่ อาวุธเป็นเครื่องมือทำลายล้าง แต่โซเชียลไม่ใช่ ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ “อานุภาพ” ของมันกลับสร้างสรรค์เงื่อนไขใหม่ๆ ขึ้นหลายอย่าง แม้ไม่ปฏิเสธว่า โซเชียลถูกใช้เพื่อทำลายล้างก็ได้ด้วย (เช่น โจมตี, กล่าวหา, ให้ร้ายบุคคล หรือฉ้อโกงผู้บริโภค) แต่พลังหรืออานุภาพด้านการสร้างสรรค์ของโซเชียล (และเครื่องมือสื่อสารใหม่อื่นๆ เช่นโทรศัพท์มือถือ) นั้นมีอย่างไพศาล ทั้งยังอาจเกิดอานุภาพใหม่ๆ ที่ยังไม่มีใครมองเห็นในปัจจุบันได้อีกอย่างที่ยังมองไม่เห็นขีดจำกัดของมัน

โซเชียลเปิดตลาดที่คนเล็กคนน้อยสามารถเข้าไปทำมาหากินได้ ในขณะที่ตลาดแบบเดิมถูกรายใหญ่ปิดหรือเรียกค่าเช่าจนคนจำนวนมากเข้าไม่ถึง ในสมัยที่การติดตั้งโทรศัพท์พื้นฐานยังต้องลงทุนสูงมาก โทรศัพท์มือถือช่วยให้ผู้มีทักษะหลายด้านสามารถสร้างอาชีพอิสระของตนเองได้ แทนที่จะต้องขายแรงงานตลอดไป เช่นผู้รับเหมารายย่อย, คนรับตัดหญ้า, คนรับจ้างทำความสะอาดบ้าน, แม่บ้านที่อยากทำอาหารปิ่นโตให้ผูก, ฯลฯ เพราะเบอร์มือถือของเขา ทำให้เขาเข้าถึงตลาดที่กว้างใหญ่กว่าความสัมพันธ์ทางสังคมแคบๆ ที่เขามีอยู่ และแน่นอนโซเชียลยิ่งเปิดโอกาสเช่นนี้ให้แก่คนจำนวนมากขึ้นได้ด้วยต้นทุนเพียงนิดเดียว

ถ้ารัฐรู้จักใช้โซเชียลเพื่อสร้างสรรค์ตลาดที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างปลอดภัย (คือไม่ถูกหลอกและโกง) แทนที่จะใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ไว้ทำลายล้างศัตรูทางการเมืองเป็นหลัก คนเล็กคนน้อยจะได้โอกาสทำมาหากินสุจริตจนสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ครอบครัวของตนมากกว่าการคอยรับเงินจากบัตรคนจน

โซเชียล (ก็อย่างที่ชื่อของมันบอก) สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ที่กว้างใหญ่ไพศาล จะเอาเครือข่ายนี้ไปใช้ในการค้าขาย หรือในทางสังคมและการเมืองก็ได้ เพราะโซเชียลเปิดโอกาสให้คนเอื้อมถึงกันโดยตรง ไม่ต้องผ่านความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือการอนุญาตจากรัฐ นักโพสต์มือดีอาจมี “ติ่ง” ของตนได้เป็นหมื่น โดยไม่ต้องไปจดทะเบียนตั้งสมาคมกับรัฐ ใช้เครือข่ายนี้เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันก็ได้ เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารก็ได้ หรือเพื่อให้กำเนิดความเคลื่อนไหวได้ทุกด้าน ไม่เฉพาะแต่การเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย

อำนาจในทุกทางเลื่อนเข้ามาอยู่ในมือประชาชนมากขึ้น

และนี่อาจเป็นเหตุผลให้รัฐทหารและรัฐเผด็จการมักมองโซเชียลด้วยความหวาดระแวง ดังจะเห็นนัยยะนี้ได้ชัดเจนในคำประกาศสัจธรรมของ ผบ.ทบ. รัฐประเภทนี้มักพยายามควบคุมโซเชียล (ซึ่งเท่ากับบั่นรอนพลังในทางสร้างสรรค์ของโซเชียลไปด้วย) แต่เพื่อจะควบคุมให้ได้ผลจริงนั้นทำได้ยากมาก พูดกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือเกินสมรรถภาพของรัฐทหารไทยจะทำได้ คิดถึงทุนที่จีนต้องลงไปเพื่อการควบคุมนี้ (ทั้งสมรรถนะในการเขียนโปรแกรม, กำลังทรัพย์, กำลังเครื่องมือ, และกำลังคน) ก็เกินสมรรถภาพของประเทศไทยในทุกทางไปแล้ว

และอย่าลืมว่า สมรรถภาพในการนี้ไม่ “ผลิต” อะไรเลย (unproductive)

ตรงกันข้าม ในรัฐประชาธิปไตยย่อมไม่เทียบอานุภาพของโซเชียลกับอาวุธ โซเชียลไม่มีกำลังยิง แต่มีกำลังด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก เพื่อจะจัดการให้โซเชียลเป็นประโยชน์ อาจจำเป็นต้องเปิดช่องโหว่บางส่วนให้คนร้ายนำมันไปใช้ในทางทำลายล้างเหมือนอาวุธ นี่เป็น “ราคา” ที่ต้องจ่ายอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก เช่นปืนก็อาจมีประโยชน์ในบางเงื่อนไข แต่เพื่อใช้ประโยชน์ของปืนได้เต็มที่ ก็ต้องเปิดช่องโหว่ให้โจรนำมันไปใช้ปล้นธนาคาร หรือคนเสียสติใช้เพื่อสังหารหมู่คนอื่น

แต่รัฐประชาธิปไตยย่อมเชื่อว่า ปัจเจกชนส่วนใหญ่มีปกติเป็นคนมีเหตุผล, มีความอดกลั้น, และมีศีลธรรมทางสังคม ดังนั้น ไม่ว่าโซเชียลหรือปืน ก็มีไว้เพื่อให้คนเหล่านี้ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่สมศักยภาพของมัน ตรงกันข้าม รัฐทหารและรัฐเผด็จการมักมองปัจเจกชนส่วนใหญ่มีปกติเป็นคนไร้เหตุผล, ขาดความอดกลั้น, และขาดศีลธรรมทางสังคม เทคโนโลยีซึ่งเพิ่มสมรรถภาพของมนุษย์ทุกชนิดจึงเป็นสิ่งที่ต้องระวังควบคุม เพราะเมื่อตกอยู่ในมือของปัจเจกชนแล้ว มักจะนำมันไปใช้ในทางที่เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ

ทั้งหมดนี้ เพื่อนำมาสู่ข้อสรุปว่า “ราคา” ที่คนไทยต้องจ่ายให้แก่การปล่อยให้ทหารเข้ามาควบคุมบ้านเมืองนั้นสูงเกินกว่าที่คนไทยจะจ่ายต่อไปได้แล้ว

นิธิ เอียวศรีวงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image