“กฤษฎา”วางกรอบติดตามงานเกษตรฯ ไตรมาส 3-4 มอบดาบ 2 รมช.ฟันขรก.ไม่ตั้งใจ-บกพร่อง-ทุจริต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)ได้สั่งการ เรื่อง การเร่งรัดการปฎิบัติงานด้วยวิธีการตรวจติดตามการปฎิบัติราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปยัง รมช.กษ./เลขานุการ รมต.กษ./ปลัดกษ./ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด กษ. ทุกหน่วย/ผต.กษ./ผช.ปล.กษ.ว่า

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 กษ.ได้กำหนดนโยบายและแนวทางการปฏิบัติราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งนี้ได้อนุมัติแผนงานและโครงการให้หน่วยงานต่างๆในสังกัด กษ. นำไปปฎิบัติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาภาคการเกษตรให้มีความเจริญก้าวหน้าและเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นั้น

เพื่อให้มีการเร่งรัดการปฏิบัติงานของข้าราชการและบุคลากรในสังกัด กษ. ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่เน้นการส่งเสริมและพัฒนารวมทั้งการแก้ไขปัญหาต่างๆในภาคการเกษตรให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม จึงขอกำหนดแนวทางการตรวจติดตามการปฎิบัติราชการของ กษ. ในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ดังนี้

1. ขอมอบหมายให้ รมช.กษ. ทั้ง 2 ท่าน มีอำนาจตรวจติดตามงานของ กษ. ได้ทุกหน่วยงานที่มีแผนงานและโครงการที่ได้รับอนุมัติ แล้วนำไปปฏิบัติในพื้นที่โดยไม่จำกัดการตรวจติดตามเฉพาะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้กำกับตามคำสั่งของ กษ. แต่อย่างไร

Advertisement

2. ขอให้ ผต.กษ.ทุกเขตตรวจราชการ เพิ่มความเข้มข้นและความถี่ในการตรวจติดตามงานในพื้นที่ให้มากกว่าระยะเวลาที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นเตือนและเร่งรัดให้ข้าราชการและบุคลากรของ กษ.ในพื้นที่ได้เร่งปฎิบัติงานต่างๆให้เป็นผลสำเร็จทั้งคุณภาพ ปริมาณงานและความคุ้มค่าของงบประมาณให้เป็นไปตามแผนงานและโครงการที่ได้รับอนุมัติ

3. ขอให้ ปล.กษ./รอง ปล.กษ. และ หน.ผต.กษ. ได้ไปประชุมหารือร่วมกับเลขานุการ รมต.กษ. เพื่อกำหนดรูปแบบการตรวจติดตามการปฎิบัติราชการในพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการตรวจติดตามการปฎิบัติงานตามแผนงานและหรือโครงการที่สำคัญดังนี้

3.1 การบริหารจัดการน้ำ ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งนั้น หน่วยงานของ กษ. สามารถดำเนินการได้เป็นผลสำเร็จหรืออย่างไร

Advertisement

3.2 การดำเนินงานตามการปฎิบัติตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด ในการเกษตรกรรม ตามประกาศ กษ. รวม 5 ฉบับ นั้น หน่วยงานผู้ปฎิบัติสามารถดำเนินการได้ผลเป็นอย่างไรมีปัญหาและอุปสรรคหรือไม่

3.3 การบริหารจัดการระบบเกษตรแปลงใหญ่หรือวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ ที่ให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรในการผลิตและประสานงานกับภาครัฐและเอกชนให้มารับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ให้ต่อเนื่องนั้น สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายหรือไม่อย่างไร

3.4 การบริหารจัดการนมโรงเรียนตามระบบใหม่ที่มอบอำนาจให้จังหวัดในพื้นที่ 5 ภาค เป็นหน่วยดำเนินการนั้น สามารถแก้ไขปัญหาการส่งนมไปยังโรงเรียนไม่ตรงตามกำหนดเวลาและไม่มีคุณภาพได้หรือไม่ รวมทั้งระบบใหม่มีความเป็นธรรมต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการจำหน่ายนมโรงเรียนหรือไม่ อย่างไร

3.5 การบริหารจัดการที่ดินตามโครงการจัดที่ดินแห่งชาติ(คทช.) และหรือโครงการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ว่าเกษตรกรในโครงการที่ได้รับสิทธิ์ในการอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินดังกล่าวสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้หรือไม่ ในโครงการมีการจัดระบบสาธารณูปโภคพร้อมหรือไม่ รวมทั้งเกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตจากการทำเกษตรกรรมตามโครงการได้หรือไม่อย่างไร

3.6 การจ่ายค่าเยียวยาชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรภาครัฐปี 2558 มีความคืบหน้าเป็นไปตามกำหนดระยะเวลาจ่ายค่าเยียวยาที่กำหนดไว้หรือไม่อย่างไร

4. ขอให้อธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการเทียบเท่าและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนในสังกัดกษ.ได้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการตรวจติดตามการปฏิบัติราชการแก่ รมช.กษ. และ ผต.กษ. ตามหัวข้อดังกล่าวในข้อ 3 ด้วย

5. ในกรณีที่พบว่าในการปฏิบัติงานของข้าราชการหรือบุคลากรในสังกัด กษ. มีความบกพร่อง เนื่องจากความไม่ตั้งใจในการปฎิบัติงานหรือมีเจตนาทุจริตในการปฎิบัติงานนั้น ขอมอบอำนาจให้ให้ รมช.กษ. ทั้ง 2 ท่านมีอำนาจสั่งการแทน รมว.กษ.ในการดำเนินการตามมาตรการทางปกครองและหรือทางวินัยแก่ข้าราชการและบุคลากรในสังกัด กษ. ได้ทันที แล้วรายงานให้ รมว.กษ. ทราบต่อไป

สำหรับ ผต.กษ.ให้รีบรายงาน ปล.กษ. เพื่อสั่งการอธิบดี/หัวหน้าส่วนราชการเทียบเท่า ดำเนินการได้ด้วย และในกรณีเป็นรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนในสังกัด กษ.ให้แจ้งผู้บริหารสูงสุดของหน่วยและประธานคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนนั้นทราบ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามระเบียบ กฎหมายต่อไปด้วย

รมว.กษ.กล่าวว่า เนื่องจากงานภารกิจของกระทรวงเกษตรฯมี 2 ลักษณะทั้งด้านที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประประชาชนโดยตรงเช่นการบริหารจัดการน้ำหรือการทุเลาปัญหาภัยแล้ง/โครงการนมโรงเรียน และงานอีกด้านของกระทรวงเกษตรฯที่ส่งผลต่อเกษตรกรด้วย เช่นการทำเกษตรแปลงใหญ่ที่ทำให้ต้นทุนการทำเกษตรต่ำ/การจัดรูปที่ดินของ สปก.เป็นต้น จึงจำเป็นต้องจัดระบบการตรวจติดงานให้กระชับชัดเจนเพื่อให้งานของกษ.บรรลุเป้าหมายทั้ง 2 ด้าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image