“ชุติมา” ลงนามความตกลง 2 ฉบับ การลงทุน-การค้าบริการอาเซียน ตั้งธงดันจีดีพีอาเซียนโต 5% ใน 5ปี

วันที่ 23 เมษายน 2562 ที่โรงแรมอังสนา ลากูน่า จ.ภูเก็ต นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (เออีเอ็ม) ได้ลงนามพิธีสารแก้ไขความตกลงการลงทุนอาเซียน (ACIA) ฉบับที่ 4 และได้ลงนามความตกลงการค้าบริการอาเซียน (ATISA) ในช่วงการประชุม AEM Retreat ครั้งที่ 25 ซึ่งผลจากการข้อตกลงทั้ง 2 ข้อดังกล่าว จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของกลุ่มอาเซียน (จีดีพี) เติบโต 5% ภายใน 5 ปี

ทั้งนี้ ในการปรับปรุงความตกลง ACIA จะกำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องผูกพันไม่กำหนดเงื่อนไขที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของนักลงทุน อาทิ การห้ามเชื่อมโยงการขายสินค้ากับปริมาณหรือมูลค่าส่งออก และการห้ามรัฐบาลกำหนดว่าสินค้าที่นักลงทุนจากประเทศสมาชิกอาเซียนผลิตจะต้องถูกส่งไปยังตลาดใดตลาดหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ ความตกลงฯ ได้เปิดช่องทางให้สมาชิกอาเซียนยังคงใช้มาตรการหรือเงื่อนไขฯ ที่อาจไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดข้างต้นได้ โดยให้ระบุไว้ในรายการข้อสงวนของตนได้ และนักลงทุนจะไม่สามารถฟ้องรัฐบาลผู้รับการลงทุนได้ ทั้งนี้ การจัดทำพิธีสารดังกล่าวไม่มีผลให้ไทยต้องแก้ไขกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ในการจัดงาน ASEAN Investment Report เมื่อปี 2561 ได้ระบุว่า ในปี 2560 การลงทุนในภูมิภาคอาเซียนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมีมูลค่ากว่า 1.37 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง ซึ่งถือเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุด มีมูลค่ากว่า 2.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 19% ของการลงทุนรวม โดยประเทศที่มีการลงทุนในอาเซียนสูงสุด ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย หรือสามารถทำตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ได้ หากทุกประเทศมีมติเห็นชอบแล้วจะมีการประกาศใช้ต่อไป

นางสาวชุติมา กล่าวว่า สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ มีมูลค่ากว่า 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ นักลงทุนต่างประเทศสำคัญในอาเซียน ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน ประเทศจากสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และอินเดีย ให้ความสนใจขยายการลงทุนในอาเซียน อาทิ สาขาการผลิต ก่อสร้าง เหมืองแร่ การเงิน การวิจัยและพัฒนา การค้าปลีกค้าส่ง และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ ความตกลง ACIA จะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อทุกประเทศมีความพร้อมแล้ว

Advertisement

นอกจากนี้ ในส่วนของรายละเอียดการลงนามความตกลงการค้าบริการอาเซียน (ATISA) ครอบคลุมหลักการในเรื่องที่จำเป็นต่อการค้าบริการ อาทิ การปฏิบัติกับธุรกิจต่างชาติเท่าเทียมกับธุรกิจของชาติตน การเสริมสร้างการจัดทำกฎระเบียบภายในประเทศที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การเสริมสร้างความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยในอาเซียน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการระหว่างกัน ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ต้องการคงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องบางสาขาบริการ สามารถเขียนสงวนกฎระเบียบดังกล่าวได้ ซึ่งจะทำให้ประเทศสมาชิกอื่นทราบเงื่อนไขการเข้าไปลงทุนประกอบธุรกิจในแต่ละประเทศ ซึ่งความตกลงฉบับนี้ให้เวลาประเทศสมาชิกถึง 5 ปี ในการพิจารณากฎระเบียบที่ต้องการสงวนไว้ หลังจากที่ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับแล้ว

ทั้งนี้ ความตกลง ATISA จะช่วยยกระดับมาตรฐานการจัดทำกฎระเบียบด้านบริการของสมาชิกอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดอุปสรรคทางการค้าบริการที่เกินความจำเป็น รวมทั้งช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการใช้มาตรการทางการค้าบริการของประเทศสมาชิกอาเซียน เนื่องจากกำหนดให้ต้องเผยแพร่ระเบียบกฎเกณฑ์ด้านการลงทุนต่อสาธารณะ นำไปสู่การสร้างบรรยากาศทางการค้าบริการที่สามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยมีศักยภาพและสามารถเติบโตได้ในประเทศอาเซียน เช่น บริการด้านสุขภาพ บริการด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งจะสามารถบรรลุหนึ่งในเป้าหมายของ AEC Blueprint 2025 นอกจากนี้ ความตกลง ATISA จะมีผลบังคับใช้ 180 วัน หลังการลงนาม โดยประเทศสมาชิกอาเซียนที่ดำเนินการภายในเสร็จแล้ว จะต้องแจ้งสำนักเลขาธิการอาเซียนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image