บทนำ : ค่าโง่

ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2038/2551, 107/2552, 1379/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 366-368/2557 ระหว่างบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ฟ้องคดี กับกระทรวงคมนาคม ที่ 1 กับพวก ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดี โดยสรุปได้ว่า ให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย คืนเงินค่าตอบแทนและเงินอื่นให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจากบอกเลิกสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟ และถนนยกระดับในกรุงเทพมหานครและการใช้ประโยชน์จากที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยไม่ชอบ

สำหรับจำนวนเงินที่ศาลปกครองสูงสุดระบุให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยคืนให้แก่บริษัทโฮปเวลล์นั้น เป็นไปตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ คือ ให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ่ายคืนเงินค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายอื่นๆ แก่บริษัทโฮปเวลล์รวม 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ถือเป็นการปิดตำนานการต่อสู้ทางคดีระหว่างหน่วยงานรัฐของไทยกับบริษัทเอกชนในกรณีก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่

ผลที่เกิดขึ้นสรุปได้ว่า คนไทยที่เคยวาดฝันอยากเห็นทางโฮปเวลล์เกิดขึ้น นอกจากจะไม่ได้ใช้โครงการดังกล่าว เพราะดำเนินการไม่สำเร็จแล้ว หน่วยงานรัฐยังต้องจ่ายเงินคืนให้แก่บริษัทเอกชนอีกด้วย สื่อมวลชนจึงให้ฉายาปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า “ค่าโง่” ซึ่งกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นจากฝีมือของรัฐบาลหลายครั้งหลายครา มีการให้สัมปทาน มีการอนุมัติโครงการ แล้วมีปัญหาระหว่างดำเนินการโครงการ โครงการไม่เสร็จสิ้น เกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยราชการกับบริษัทเอกชน ขึ้นสู่กระบวนการที่เรียกว่าอนุญาโตตุลาการ และจบท้ายตรงที่ฝ่ายรัฐบาลต้องจ่ายเงินให้แก่บริษัทเอกชน

กระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้น ต้องถามว่าทำให้รัฐเสียหายหรือไม่ หากเกิดความเสียหาย ใครเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหาย และความรับผิดชอบดังกล่าวคืออะไร นอกจากนี้ยังมีคำถามอีกว่า ในปัจจุบันระบบการสัมปทาน การว่าจ้าง และอื่นๆ ของหน่วยราชการ มีการปรับเปลี่ยนแตกต่างจากเมื่อครั้งการสัมปทานโครงการอย่างโฮปเวลล์มากน้อยแค่ไหน เพื่อตอบคำถามว่าในอนาคต ประเทศไทยจะเกิดกรณีว่าจ้างเอกชนให้ก่อสร้างโครงการใหญ่ โดยงานที่ว่าจ้างก็ทำไม่สำเร็จ ขณะที่หน่วยงานรัฐต้องนำเงิน ซึ่งได้จากการเก็บภาษีจากประชาชนไปจ่ายให้กับบริษัทเอกชน เหตุการณ์ “ค่าโง่” เช่นนี้ จะเกิดขึ้นอีกไหม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image