ขรก.บำนาญลุ้นเงินเพิ่ม ช.ค.บ.เดือนละ 1 หมื่น -บำเหน็จดำรงชีพ 5 แสน กรมบัญชีกลางรอกฎหมายมีผลจ่ายทันที

แฟ้มภาพ

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยปรับเพิ่ม ช.ค.บ. รวมกับเบี้ยหวัดบำนาญเป็นเดือนละ 10,000 บาท อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ต่อไป สำหรับร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ดำเนินการส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อมีผลบังคับใช้ 60 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นางสาวสุทธิรัตน์กล่าวต่อว่า การปรับปรุงกฎหมายเป็นไปตามคณะรัฐมนตรีได้มีมติเพิ่มเงินให้กับผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดบำนาญรวมกันทุกประเภทและรวม ช.ค.บ. แล้ว ต่ำกว่าเดือนละ 10,000 บาท ให้ปรับเป็นได้รับ ช.ค.บ. เพิ่มขึ้น เมื่อรวมกับเบี้ยหวัดบำนาญแล้วจะได้รับเงินเดือนละ 10,000 บาท ซึ่งผู้รับบำนาญที่มีสิทธิจะได้รับการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร พร้อมกับรอบการจ่ายบำนาญปกติ ซึ่งขึ้นอยู่กับวันที่มีผลบังคับใช้ หากทันรอบการจ่ายบำนาญของเดือนใด ก็จะได้รับเงินในเดือนนั้น

นางสาวสุทธิรัตน์กล่าวต่อว่า สำหรับร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่ปรับปรุงแก้ไขการขยายเพดานของวงเงินบำเหน็จดำรงชีพให้แก่ผู้รับบำนาญซึ่งมีอายุตั้งแต่ 70 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จากเดิมที่ให้ขอรับได้ในอัตรา 15 เท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 400,000 บาท นั้น ปรับเป็นขอรับได้ในอัตรา 15 เท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งหากผู้รับบำนาญเคยขอรับบำเหน็จดำรงชีพไปแล้วบางส่วน ให้ผู้รับบำนาญที่มีสิทธิขอรับได้ไม่เกินจำนวนเงินที่ยังไม่ครบตามสิทธิ แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งขณะนี้ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว กรมบัญชีกลางได้ส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อมีผลบังคับใช้ 60 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งหากกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ กรมบัญชีกลางพร้อมจะดำเนินการตามขั้นตอนทันที

นางสาวสุทธิรัตน์กล่าวต่อว่า ขณะนี้กรมบัญชีกลางเร่งพัฒนาระบบ e-pension ให้รองรับการจ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพดังกล่าว รวมทั้ง ได้หารือและได้ข้อสรุปร่วมกับธนาคารต่างๆ เพื่อเตรียมการสำหรับการจ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพให้แก่ผู้รับบำนาญที่มีสิทธิ รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเพิ่มเติมในกรณีที่ผู้รับบำนาญได้นำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์ในการประกันการกู้เงินกับธนาคารด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้รับบำนาญได้รับความสะดวกมากที่สุด

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image