กฟผ.รับลูกดูดซับปาล์มเพิ่มอีก 1 แสนตัน

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยถึงกรณีรัฐบาลมีนโยบายให้กฟผ.เพิ่มปริมาณดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ(ซีพีโอ) อีก 1 แสนตัน จากปัจจุบัน 1.6 แสนตัน ว่า กฟผ.อยู่ระหว่างทำแผนบริหารจัดการเสนอกลับไปให้กระทรวงพลังงานพิจารณา คาดว่าจะนำไปใช้ดำเนินการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนการผลิตถูกที่สุด คาดจะใช้แนวทางเดิมที่รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบล็อตใหญ่คราวเดียวเพื่อกระตุกราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดให้สูงขึ้น โดยยืนยันไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชน

นายพัมนากล่าวว่า นอกจากนี้ กฟผ.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(เอ็มโอยู) กับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์กรมหาชน) หรือสทน. เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชันเป็นแหล่งพลังงานสะอาดในอนาคต รวมถึงร่วมกันออกแบบและพัฒนาระบบประกอบของเครื่องโทคาแมคหรืออุปกรณ์กักเก็บพลาสมาด้วยสนามแม่เหล็กและใช้ในการศึกษาวิจัยเรื่องเทคโนโลยีฟิวชัน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านพลังงานของประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

“คาดผลการศึกษาเทคโนโลยีและฟิวชันจะแล้วเสร็จปี 2568 ซึ่งเป็นโครงการนำร่องการพัฒนาไปสู่โรงไฟฟ้าระบบใหม่ที่ชื่อว่านิวเคลียร์ฟิวชันในอีก 40-50 ปีข้างหน้า โดยใช้วัตถุดิบจากน้ำทะเลและธิเทียมจากผิวดินกำลังการผลิตถึง 3,000-5,000 เมกะวัตต์ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่มีสารกำมันตรังสี และไม่สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์”นายพัฒนากล่าว

นายพรเพท นิศามณีพงษ์ กล่าวว่า ในระยะแรกคาดใช้เงินลงทุนจากงบประมาณแผ่นดินประมาณ​ 500 ล้านบาท และงบของสทน. 15% ส่วนที่เหลือได้การสนับสนุนจาก กฟผ.อีก 230 ล้านบาท ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อเป็นเครื่องมือในการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชันของประเทศแล้ว ยังส่งเสริมให้บุคลากรในประเทศมีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชันเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญของงานวิจัยด้านเทคโนโลยีขั้นสูง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอแผนงานต่างๆ ต่อรัฐบาลมาโดยตลอด เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ดังนั้นไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล กฟผ.ก็พร้อมดำเนินงานตามแนวนโยบายของรัฐบาล

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image