ฮือฮา! ชาวบ้านโพธิ์ไทรจับปลาบึกน้ำหนัก 143 กิโลกรัม ชำแหละขายได้เงินเป็นหมื่น

เมื่อวันที่ 28 เมษายนผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงนี้สภาพน้ำโขงลดลงอย่างรวดเร็วและเร็วกว่าทุกปี แต่กลับเป็นผลดีต่อชาวบ้าน มีชาวประมงพื้นบ้านสามารถจับปลาบึกขนาดใหญ่ 1 ตัวน้ำหนัก 143 กิโลกรัมได้ ที่บ้านปากกะหลางต.สองคอน อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี จากการวางอวนกลางแม่น้ำโขงชาวบ้านทราบข่าวแห่ซื้อทำเมนูเด็ดจนเกลี้ยง เพราะเป็นปลาแม่น้ำโขงแท้ๆเนื้ออร่อยคนชอบกิน แต่หายาก ระยะหลังจับกันไม่ค่อยได้สร้างความฮือฮาให้กับผู้ที่ขับรถผ่านไปมาที่พบเห็น

นายโทน สิงห์มุ้ย อายุ 33 ปี ชาวประมงในพื้นที่ บ้านปากกะหลาง ต.สองคอนอ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า ตนได้ใช้อวนจับปลาในแม่น้ำโขงที่บริเวณหาดสลึง บ้านปากกะหลาง ต.สองคอน อ.โพธิ์ไทรในขณะออกกู้อวนในตอนเช้า พบมีบางอย่างติดอวนและหนักมากพร้อมลากเรือไปอย่างแรงจึงได้ตะโกนให้เพื่อนชาวประมงที่อยู่รอบข้างมาช่วยกันลากอวนขึ้นฝั่งรู้สึกตกใจมากที่ได้เห็นปลาบึกตัวใหญ่ ชั่งน้ำหนักได้ 143กิโลกรัมจากนั้นจึงช่วยกันนำไปขึ้นรถแล้วนำมาชำแหละขายให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ขายได้เงินกว่า 14,000 บาท เป็นการเสริมรายได้ในครัวเรือนถือว่าโชคดีกว่าถูกหวย เพราะไม่เคยมีชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่บริเวณนี้จับได้มาก่อน เคยมีการจับปลาบึกที่บริเวณหาดสลึงได้สูงสุดไม่เกิน 80 กิโลกรัมเท่านั้นนับว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตที่หาปลาชนิดนี้ได้ เพราะเป็นปลาที่หาได้ยากมากนาน ๆ ทีจะมีชาวประมงจับได้สักครั้งหนึ่งเป็นปลาที่มีรสชาติอร่อยและก็แพงที่สุดของปลาน้ำจืด

นายธนกฤต สายใจ สมาชิกสภาจังหวัดอุบลราชธานี เขต อ.โพธิ์ไทร กล่าวว่าปลาบึกเป็นปลาที่หายากและเป็นที่นิยมของผู้บริโภคเชื่อว่าผู้ที่ได้รับประทานแล้วจะมีอายุยืนยาว ร้านอาหารนิยมนำไปผัดเผ็ดผัดฉ่า ต้มยำและอาหารประเภทลาบ ลวกจิ้ม โดยเฉพาะท้องติดมันนิดๆนำไปทำห่อหมกอีสาน เนื่องจากเนื้อปลาชนิดนี้มีลักษณะคล้ายเนื้อหมูสามชั้นมีชั้นหนัง ไขมันและเนื้อ รสชาติอร่อยมากที่สุดในบรรดาปลาตระกูลหนังโดยเฉพาะปลาธรรมชาติที่ล่าได้จากแม่น้ำโขงผู้เฒ่าผู้แก่และชาวประมงพื้นบ้านเล่าให้ฟังว่าปลาชนิดนี้มักจะอาศัยอยู่ตามโขดหินเกาะแก่งกลางแม่น้ำโขงชอบกินพืชตะไคร่น้ำ และพบว่าเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ที่ผ่านมาชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ จับปลาบึกได้น้อยมาก

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image