การยิงสลุต โดย : ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

การยิงสลุต (gun-salute) มาจากภาษาละติน “salutio” เป็นการยิงด้วยปืนใหญ่แต่สมัยโบราณของเรือสินค้าที่เดินทางในระยะไกลจำเป็นต้องมีปืนใหญ่ไว้คุ้มครองสินค้าบนเรือ โดยมีการเตรียมพร้อมบรรจุดินปืนในกระบอกปืนใหญ่ให้พร้อมยิงได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เมื่อเรือเดินทางไปถึงท่าเรือของประเทศที่ค้าขายด้วย จึงต้องยิงปืนใหญ่ที่บรรจุดินปืนออกให้หมด เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่ามาอย่างมิตร ทำให้เกิดประเพณีการยิงสลุตขึ้น ซึ่งนำมาสู่การแสดงความเคารพระหว่างเจ้าบ้านกับผู้มาเยือนสืบต่อกันมา

จำนวนนัดการยิงสลุต ประเพณีเดิมของยุโรปถือว่าเลข 7 เป็นเลขมงคล ถือว่าเป็นจำนวนวันที่พระเจ้าสร้างโลก ดังนั้น การยิงสลุตระยะแรกกำหนดไว้ 7 นัด เมื่อเรือสินค้ามาถึงก็ยิงสลุตทางท่าเรือหรือป้อมปืนใหญ่ยิงตอบเป็น 2 เท่า คือ 21 นัด ต่อมามีการตกลงใหม่ให้ยิงฝ่ายละ 21 นัด เป็นกติกาสากล เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ชนชาติและพระมหากษัตริย์

การยิงสลุตในประเทศไทย มีหลักฐานว่าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ยกเลิกไปในสมัยสมเด็จพระเพทราชา ต่อมาเลิกไปในสมัยสมเด็จพระเพทราชา ต่อมาธรรมเนียมการยิงสลุตได้รื้อฟื้นอีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เพื่อต้อนรับเซอร์ จอห์น เบาว์ริง ราชวงศ์อังกฤษ เมื่อ พ.ศ.2308 ต่อมา พ.ศ.2448 ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ตราข้อบังคับว่าด้วยการยิงสลุต ร.ศ. แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือการยิงสลุตหลวง

และการยิงสลุตเป็นเกียรติ แก่ข้าราชการ

Advertisement

ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชกำหนด การยิงสลุตขึ้นใหม่ เรียกว่า “การยิงสลุต ร.ศ. 131” (พ.ศ. 2455) กำหนดให้มีปืนไม่ต่ำกว่า 4 กระบอก ซึ่งมีขนาดลำกล้องไม่เกิน 120 มิลลิเมตร ห้ามยิงตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ตกไปแล้วจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น แบ่งประเภทการยิงสลุตไว้ 3 ประเภท ได้แก่

สลุตหลวง แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ สลุตหลวงธรรมดา มีจำนวน 21 นัด และสลุตหลวงพิเศษ มีจำนวน 101 นัด (ต่อมาในรัชกาลที่ 7 เพื่อเป็นการประหยัดดินปืน จึงไม่ทรงให้ยิงสลุตหลวงพิเศษ)

สลุตข้าราชการ

Advertisement

สลุตนานาชาติ

พระราชกำหนดยิงสลุต ร.ศ.131 (พ.ศ.2455) ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อ พ.ศ.2483 ดังนั้นประเพณียิงสลุตจึงได้สิ้นสุดลงเพียงเท่านั้น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ทางราชการจึงรื้อฟื้นประเพณียิงสลุตขึ้นมาใหม่ โดยเริ่มยิงสลุตครั้งแรกในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2491 เนื่องในพระราชพิธีวันเฉลิมพระชนมพรรษาของรัชกาลที่ 9 ดังนั้นประเพณีการยิงสลุตจึงสืบทอดจากนั้นมา โดยกำหนดข้อบังคับไว้ กองทหารซึ่งมีหน้าที่ยิงสลุตเฉพาะเมื่อรับงานหนึ่งๆ การยิงสลุตให้ใช้ปืนไม่ต่ำกว่า 2 กระบอก ปกติห้ามมิให้มีการยิงสลุตในระหว่างเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกไปจนถึงเวลาเชิญธงชาติขึ้นคือ 8 นาฬิกา เว้นแต่เป็นการพิเศษที่มีคำสั่งกระทรวงกลาโหม

การยิงสลุตหลวงในปัจจุบัน ปกติจำนวนยิง 21 นัด ในรอบหนึ่งมีการยิง 2 ครั้งคือ

(1) วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 วันที่ 28 กรกฎาคม

(2) วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 วันที่ 12 สิงหาคม ในวันที่ 28 กรกฎาคม กับ 12 สิงหาคม ทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศ ทำการยิงสลุต เวลา 12 นาฬิกา (เที่ยงตรง) โดยยิงสลุตตามจังหวะเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมีจำนวน 21 นัด

การยิงสลุตหลวงในวาระพิเศษสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ได้เชิญปืนใหญ่โบราณที่สร้างขึ้นกว่า 150 ปี มาร่วมพิธี ได้แก่ ปืนพระมหาฤกษ์ ปืนพระมหาชัย ปืนพระมหาจักร และปืนพระมหาปราบยุค

ปืนพระมหาฤกษ์ มีนามปรากฏในสมัยอยุธยา หมายถึง ช่วงเวลาอันเป็นสวัสดิมงคลสูงสุด ใช้ยิงเพื่อประกาศเริ่มพิธีมงคล รวมทั้งเพื่อเป็นอาณัติสัญญาณ และสร้างขวัญกำลังใจให้กับราษฎร

ปืนพระมหาชัย มีนามปรากฏในสมัยอยุธยา หมายถึง ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ ใช้ยิงเป็นการประกาศฉลองชัยชนะ และความสำเร็จ โดยนับแต่โบราณจะใช้ยิงควบคู่ไปกับปืนมหาฤกษ์

ปืนพระมหาจักร มีนามปรากฏในสมัยรัตนโกสินทร์ หมายถึง จักรศัตราวุธแห่งองค์พระนารายณ์ ใช้ยิงเพื่อเป็นการประกาศเชิงสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจแห่งพระมหากษัตริย์ในฐานะสมมติเทพคือ พระนารายณ์อวตาร เพื่อทำลายเหล่าอธรรมหรือศัตรูทั้งหลายด้วยจักรศัตราวุธของพระองค์

รวมทั้ง มหาจักร ยังเป็นสัญลักษณ์ของเหล่าทหารไทยด้วยเช่นกัน

ปืนพระมหาปราบยุค มีนามปรากฏในสมัยรัตนโกสินทร์ หมายถึง การทำให้สิ้นลงหรือเอาชนะ ความเดือดร้อนทุกข์ยากแห่งยุคสมัย ใช้ยิง เพื่อเป็นการประกาศพระราชกรณียกิจขององค์พระมหากษัตริย์ด้วยการปกครองรักษาไว้ซึ่งความเป็นธรรม ตามคติความเชื่อของฮินดูที่ว่าเมื่อใดศีลธรรมของมนุษย์เสื่อมลง จนสังคมเดือดร้อนไปทั่ว เมื่อนั้นพระนารายณ์จะอวตารลงมาปราบยุคเข็ญ

สำหรับงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 กรมทหาร ปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ได้รับภารกิจในการยิงปืนใหญ่โบราณทั้ง 4 กระบอกนี้ ณ บริเวณสนามหญ้าด้านหน้าศาลาสหทัยสมาคม โดยจะยิงกระบอกละ 10 นัด ตามกำลังวัน รวม 40 นัด พร้อมกับปืนใหญ่ ของทหาร 3 เหล่าทัพที่ยิงพร้อมกันในเวลาดังกล่าว เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่องค์พระมหากษัตริย์ไทย ในรัชกาลที่ 10

พระราชพิธีที่สำคัญยิ่งดังกล่าว นับเป็นการแสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยประเพณีอันดีงาม ที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน และความผูกพันที่ลึกซึ้งของประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image