“อดีตขุนคลัง” เปิดข้อดีข้อเสียคลองไทย ใครจะได้ประโยชน์

เมื่อวันที่ 29 เม.ย.62 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับเรื่อง “คลองไทย: ข้อดีมีอย่างไร? ข้อเสียป้องกันอย่างไร?” บทความ 7/7 ทั้งนี้มีรายละเอียดว่า

“ปัจจัยวิเคราะห์โครงการคลองไทยในวันนี้ มีหลายประเด็นที่แตกต่างจากร้อยปีก่อน หรือห้าสิบปีก่อน เพราะในช่วงที่ยุโรปล่าเมืองขึ้น และการอาศัยทุนตะวันตก จะมีความเสี่ยงสูงมาก

การเป็นเพียง ‘จุดผ่าน’ นั้น จะไม่คุ้มทุน ดังเช่นกรณีคลองปานามา คลองสุเอซ และคลองคีลในเยอรมัน จะคุ้มทุนก็ต่อเมื่อเป็น ‘จุดพัก’ ที่มีอุตสาหกรรมและการพัฒนาต่อเนื่องเท่านั้น

ถ้ามองบ้านเรือนในเมืองอัมสเตอร์ดัม หรือเมืองบรู็จ จะเห็นบ้านทุกหลังเป็นโกดัง การขนส่งสินค้าจากเรือใหญ่ใช้คลองลำเลียงขนาดเล็ก ที่จั่วด้านหน้าทุกบ้าน จะมีตะขอเหล็กขนาดใหญ่ สำหรับชักรอกสินค้าขึ้นไปชั้นสองและชั้นสาม

Advertisement

การเป็น ‘จุดพัก’ ได้สร้างฐานะความเป็นอยู่ที่ร่ำรวยให้แก่ขาวดัชท์ สมัยนั้นสามารถสนับสนุนศิลปินวาดภาพดัง มีเงินพัฒนาการศึกษาก้าวหน้า สร้างอำนาจถึงขั้นยึดอินโดนีเซียและเซาท์อัฟริกาเป็นเมืองขึ้น

แต่การที่ไทยจะเป็น ‘จุดพัก’ ได้นั้น ต้องลงทุนมากกว่า ‘จุดผ่าน’

ต้องสร้างท่าเรือน้ำลึก ระบบรางที่เชื่อมไปถึงจีน และกระบวนบริหารจัดการรักษาสิ่งแวดล้อม การลงทุนแบบครบวงจรอย่างนี้ ถ้าไม่มีประเทศจีน ก็ลืมได้เลย

Advertisement

ในวันนี้ การมีประเทศจีนที่กำลังจะแซงขึ้นเป็นเศรษฐกิจอันดับหนึ่ง จะเป็นตัวแปรที่สำคัญ

ขณะนี้ มีปัจจัยประจวบเหมาะ 4 ประการ

หนึ่ง จีนจะเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์มาก สอง จีนมีกำลังที่จะลงทุน มีความสามารถที่จะก่อสร้าง สาม ปริมาณสินค้าเข้า/ออกของจีนเป็น underlying demand ที่จะคงอยู่ไปอีกนาน และ สี่ จีนมีศักยภาพที่จะถ่วงดุลกับสหรัฐ

บทวิเคราะห์ในลิงค์ข้างล่างเขียนว่า:-

‘ผู้สังเกตการณ์และนักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่า จีนจะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากคลองดังกล่าว เพราะอาจเป็นทั้งผู้สร้าง และผู้มีส่วนควบคุม

โดยสแตรตฟอร์ระบุว่า แม้จีนจะเป็นนักลงทุนรายเดียวที่จะทำโครงการนี้ให้เป็นจริงได้ “แต่จีนได้เก็บงำความสนใจเกี่ยวกับคลองใหม่แห่งนี้อย่างมิดชิดที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค”’

แต่การจะเจรจากับจีน มีประเด็นที่ควรพิจารณาหลายประการ

1. ปัญหาจักรวรรดินิยม

จีนถูกวิจารณ์ว่าให้ประเทศต่างๆ กู้เงินลงทุนโครงการพื้นฐานเกินตัว และเมื่อไม่สามารถชำระหนี้ จีนก็ยึดโครงการเหล่านั้น เข้าลักษณะจักรวรรดินิยมยุคใหม่

ทางการจีนพยายามอธิบายว่า หนี้จีนเป็นสัดส่วนที่ต่ำ และคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด ต่ำกว่าเงินกู้จากตะวันตก

รัฐบาลไทยใดที่จะดำเนินโครงการ จึงจะต้องเจรจาอย่างเข้ม โอกาสสำเร็จจะขึ้นกับจีนเน้นประโยชน์ระยะยาว มากกว่าการคืนทุนระยะสั้น

2. ปัญหาการแบ่งผลประโยชน์

กรณีไฮสปีดเรลผ่าน สปป.ลาวนั้น ผมได้ข้อมูล(แต่ยังไม่สามารถยืนยัน)ว่า ลาวเจรจาผลักภาระให้จีนเป็นผู้ออกเงินลงทุนทั้งหมด

ลาวขอสิทธิลงทุน 25% แต่ก็ไม่ชำระเป็นตัวเงิน โดยให้ชำระจากกำไรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ส่วนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์นั้น ลาวให้แต่เฉพาะที่สถานี

แต่สำหรับเนื้อที่ยาวเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว ที่ตั้งอยู่ตลอดสองข้างแนวทางรถไฟนั้น จะต้องมีการสร้างรั้วโปร่ง เพื่อป้องกันสัตว์ จึงมิใช่เพื่อใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว

กรณีมีโครงการคลองไทย โอกาสสำเร็จจะขึ้นอยู่กับผลักภาระทางการเงิน และความเสี่ยงการลงทุน ให้จีนได้มากพอ โดยไม่เป็นภาระหนี้สาธารณะของไทย

3. ความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจ

ถ้านับตั้งแต่ยุคโรมัน จีนและอินเดียเป็นเศรษฐกิจอันดับหนึ่งและสองของโลก เป็นอย่างนี้อยู่เกือบหนึ่งพันแปดร้อยปีจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18

แต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนเทคโนโลยีการยุทธในยุโรป ทำให้จีนพลาดท่า การเมืองภายในที่อ่อนแอ ทำให้จีนหายไปจากการค้าโลกหลายสิบปี เพิ่งจะผงาดใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ถ้าหากสมมุติว่าจีนไดัยืนหยัดมาจนถึงทุกวันนี้ คนไทยอาจจะเรียนภาษาจีนเป็นภาษาที่สองมานานแล้วก็ได้

แต่ถึงแม้จีนจะสะดุดไปหลายสิบปี ประชากรหนึ่งพันสองร้อยล้านที่ขยันและฉลาด เทียบกับสหรัฐสามร้อยกว่าล้าน จีนใกล้จะแซงสหรัฐขึ้นเป็นเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก

กรณีมีคลองไทย การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน กับไทย-สหรัฐ จะต้องทำอย่างละเอียดอ่อนมากกว่าเดิมขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

การประชุม one belt – one road ที่ปักกิ่งไม่กี่วันมานี้ สหรัฐไม่ส่งผู้แทน และยังเรียกว่าเป็นโครงการที่ไร้สาระ

อย่างไรก็ตาม อิตาลี, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมันและสเปนได้ส่งบรรดารัฐมนตรีของตนเข้าร่วมการประชุม ท่ามกลางความไม่พอใจของวอชิงตัน

4. เดินครึ่งทางแทน ได้หรือไม่?

ถามว่าไทยจะเป็นจุดพักโดยไม่มีคลองไทยได้หรือไม่?

เช่น ใช้ทวาย ระนอง หรือปากบารา เป็นจุดรับสินค้าเพื่อกระจายต่อทางระบบราง

แต่เมื่อตัดประเด็นอำนาจทางทะเลออกไปจากสมการ จะเหลือแต่ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ซึ่งโอกาสคุ้มการลงทุน จะมีน้อยลงมาก

อย่างไรก็ดี โครงการครึ่งทางอย่างนี้ก็ยังอาจจะเป็นไปได้ ถ้าสามารถเจรจาให้จีนยอมลงทุน และรับความเสี่ยงเป็นหลัก

ส่วนแนวคิดให้สร้างท่าเรือฝั่งอ่าวไทย เพื่อทำ land bridge ขนส่งน้ำมันทางท่อ ข้ามสองฝั่งทะเล และสินค้าต่างๆ นั้น ผมคิดว่าจะไม่คุ้มกับการย่นระยะทาง และค่าใช้จ่ายในการยกขึ้นยกลง

วันที่ 29 เมษายน 2562
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image