แบงก์ชาติห่วงคนเดิมกู้หลายบัญชีหนี้ท่วม เผยกู้สูงสุด20บัญชี เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

นางสาวโสมรัศมิ์ จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยด้านระบบการเงิน สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยจากข้อมูลเครดิตบูโรพบว่าหนี้ครัวเรือนกลับมาขยายตัวอีกครั้งในปี 2561 โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่ออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ 78.6% เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ 78.3% ทั้งนี้ จำนวนสัญญาสินเชื่อและมูลหนี้ขยายตัว 7% จากปี 2560 อยู่ที่ 68.7 ล้านบัญชี และมูลหนี้ 12.82 ล้านล้านบาท จากการขยายตัวสินเชื่อบุคคล สินเชื่อรถยนต์ และบัตรเครดิตตามลำดับ มาจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร หลังจากที่หนี้ครัวเรือนลดลงต่อเนื่อง ปี 2559 อยู่ที่ 79.6% และหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงสุด สิ้นปี 2558 ที่ 81.5% ทั้งนี้ พบว่าหนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รองจากออสเตรเลีย และเกาหลีใต้

นางสาวโสมรัศมิ์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลหนี้ครัวเรือน 9 ปี (2552-2561) พบว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมากจากผู้กู้รายเดิมกว่า 80% ขณะที่ผู้กู้รายใหม่ที่ไม่เคยมีสินเชื่อมีเพียง 20% เท่านั้น ดังนั้น หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นไม่ได้สะท้อนการเข้าถึงระบบการเงินและสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ขณะที่ผู้กู้รายเดิมมักจะกู้สินเชื่อเดิมจากสถาบันการเงินเดิม หรือกู้สินเชื่อเดิมจากสถาบันการเงินใหม่ โดยผู้กู้รายเดิมมากกว่า 40% มีบัญชีมากกว่า 4 บัญชี และมีผู้กู้รายเดิมบางคนมีการกู้สูงสุดถึง 20 บัญชี ทั้งนี้ สัดส่วนของผู้กู้สูงอายุในกลุ่มผู้รายกู้เดิมเพิ่มขึ้น ส่วนกว่า 50% ของกลุ่มผู้กู้ใหม่ในแต่ละปีมีอายุน้อย และมีสัดส่วนผู้กู้อายุน้อยกว่า 25 ปีสูงขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนว่าคนไทยมีหนี้เร็วขึ้นและนานขึ้น ด้านคุณภาพสินเชื่อ ช่วง 9 ปีที่ผ่านมาคุณภาพสินเชื่อผู้กู้รายเดิมแย่กว่าผู้กู้ใหม่ แต่เริ่มเห็นคุณภาพของผู้กู้ใหม่ในปี 2561 ที่กู้จากธนาคารพาณิชย์ทุกขนาดมีแนวโน้มด้อยลง โดยเฉลี่ย 3% ของสินเชื่อส่วนบุคคลที่ปล่อยใหม่ และ 2% ของสินเชื่อรถยนต์ปล่อยใหม่ และ 1% ของสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่จะมีโอกาสเป็นหนี้เสียภายใน 1 ปี

นายสรา ชื่นโชคสันต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ครัวเรือนไทยที่มีหนี้มีสัดส่วนลดลงจาก 60% มาอยู่ที่ 50% แต่หนี้ต่อจีดีพีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 60% ขึ้นมาเป็น 70-80% สะท้อนครัวเรือนที่มีหนี้อยู่แล้วมีหนี้สูงขึ้น ซึ่งหนี้ที่สูงขึ้นเป็นผลจากรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย รวมทั้งไลฟ์ไตล์การใช้ชีวิตและความต้องการมีหน้าตาทางสังคม หากมีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ หรือรายได้ครัวเรือนไม่เป็นไปตามที่คาด มีโอกาสที่ครัวเรือนเหล่านี้จะผิดนัดชำระหนี้ได้

“ธปท. อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อกำหนดสัดส่วนภาระหนี้จ่ายต่อเดือนเทียบรายได้ต่อเดือน(ดีเอสอาร์) ให้แต่ละธนาคารพาณิชย์มีนิยามเดียวกัน โดยจะไม่ได้มีตัวเลขเดียว แต่จะกำหนดดีเอสอาร์ตามระดับรายได้ต่อเดือน เพราะปัจจุบันใช้นิยามต่างกันซึ่งหากจำเป็น ธปท. อาจจะมีการกำหนดระดับดีเอสอาร์เพื่อควบคุมการปล่อยสินเชื่อได้ ซึ่งการแก้ไขหนี้ครัวเรือนปัจจัยสำคัญ คือ การรักษาวินัยทางการเงินของครัวเรือน เพราะแม้ว่า ธปท.จะมีมาตรการดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของ ธปท. ออกมา เกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่(มาตรการแอลทีวี) คลินิกแก้หนี้ เป็นต้น เหล่านี้จะขาดประสิทธิผลและไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน” นายสรา กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image