อีไอซีคาดมาตรการลดหย่อนภาษีบ้านหลังแรก มีผลกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ไม่มาก

นางสาวนพมาศ ฮวบเจริญ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยผ่านการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซื้อบ้านพร้อมที่ดิน หรือคอนโดมิเนียมที่มีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยค่าลดหย่อนให้เป็นไปตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้มีเงื่อนไขเฉพาะผู้ที่จดทะเบียนซื้อบ้านหลังแรกตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน – 31 ธันวาคม 2562 และต้องถือครองกรรมสิทธิ์ติดต่อกันอย่างน้อย 5 ปีนับตั้งแต่วันที่จดทะเบียน ทั้งนี้ภาครัฐประเมินว่ารัฐจะสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 1,350 ล้านบาท นั้น มาตรการฯ ครั้งนี้จะช่วยลดต้นทุนการซื้อบ้านของผู้ซื้อบ้านหลังแรกได้บ้างมากน้อยตามฐานภาษีที่เสีย แต่ผู้มีเงินเดือนน้อยกว่า 25,000 บาทที่ซื้อบ้านหลังแรกจะไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้

นพมาศ ฮวบเจริญ

 

นางสาวนพมาศ กล่าวว่า ผลบวกของมาตรการฯ ต่อตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวมอาจมีไม่มาก เนื่องจากผู้ได้รับผลประโยชน์ของมาตรการอาจมีไม่มาก เนื่องจากต้องเป็นผู้ที่มีเงินเดือนขั้นต่ำ 25,000 บาทและต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมาก่อน ทำให้กลุ่มผู้ได้รับประโยชน์ถูกจำกัด ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐก็ส่งเสริมการซื้อบ้านหลังแรกมาเป็นระยะตลอดช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้เสียภาษีที่เข้าข่ายจะได้ประโยชน์จากมาตรการอาจมีไม่มาก หากเทียบกับมาตรการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองที่อยู่อาศัย ผลบวกต่อกลุ่มเป้าหมายที่กว้างมากกว่า ซึ่งจะสามารถสนับสนุนตลาดที่อยู่อาศัยได้มากกว่า ดังเช่นที่ดำเนินมาแล้วในช่วง 2558 และมาพร้อมกับมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้จากการซื้อบ้านหลังแรก ส่งผลให้ยอดโอนที่อยู่อาศัยขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงดังกล่าว แต่เมื่อหมดมาตรการลดค่าโอนฯ แม้ยังมีมาตรการลดหย่อนภาษีการซื้อบ้านอยู่ก็ตาม แต่ยอดโอนฯ ก็ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน

“อีไอซีคาดการณ์มูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยของทั้งประเทศในปี 2562 ติดลบประมาณ 10% แม้ว่ามาตรการในครั้งนี้จะสนับสนุนที่อยู่อาศัยกลุ่มหลักของตลาด แต่จากหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อบ้านที่เข้มงวดและข้อจำกัดของมาตรการตามที่กล่าวมาข้างต้น อาจทำให้ผู้บริโภคไม่ได้เร่งซื้อบ้านมากนักจากมาตรการทางภาษีในครั้งนี้ และอาจไม่ได้ช่วยให้ที่อยู่อาศัยเหลือขายลดลงมากนัก โดยข้อมูลของแอเรีย พบว่าที่อยู่อาศัยเหลือขาย (ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จพร้อมขายและกำลังก่อสร้าง) ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ณ สิ้นปี 2560 มีจำนวนประมาณเกือบ 2 แสนยูนิต โดยเป็นที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาทจำนวน 1.6 แสนยูนิต หรือประมาณ 80% ของยูนิตเหลือขายทั้งหมด แบ่งเป็นที่อยู่อาศัยแนบราบ 9.5 หมื่นยูนิต และคอนโดมิเนียม 6.5 หมื่นยูนิต แต่ผู้ประกอบการก็อาจช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการตัดสินใจซื้อบ้านหลังแรกของผู้บริโภคได้ โดยการออกโปรโมชันเพิ่มเติมในช่วงเวลาเดียวกับที่มีมาตรการ เพื่อให้การเร่งระบายที่อยู่อาศัยเหลือขายทำได้มากขึ้น โดยการพิจารณาสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินมีความเข้มงวดมากขึ้นจากเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่ออยู่อาศัยใหม่(มาตรการแอลทีวี) มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายน  ซึ่งภาระหนี้ของภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงยังกดดันความสามารถในการกู้เพื่อซื้อบ้าน ท่ามกลางรายได้ของครัวเรือนที่เติบโตในอัตราต่ำ” นางสาวนพมาศ กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image