สรรพากรตั้งเป้าขยายฐานภาษีบุคคลธรรมดา 2 แสนรายหวั่นศก.ต่ำเป้ากระทบจัดเก็บรายได้ทั้งปี

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนผู้เสียเงินได้บุคคลธรรมดาปีละ 2 แสนราย โดยพในปีภาษี 2561 กำหนดยื่นภาษีเมื่อวันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมามีผู้มายื่นภาษีพบว่ามีผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมากกว่าปีที่ผ่านมา 3 แสนราย โดยในปีภาษี2562มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีรวม 11.2 ล้านราย เทียบกับปีภาษี 2561 ยื่นเข้ามา 10.9 ล้านราย

“จำนวนบุคคลที่ยื่นเสียภาษีเข้ามาเพิ่มจากปีก่อนหน้าถึง 3 แสนราย มีทั้งที่เป็นกลุ่มมนุษย์เงินเดือน และผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก ทั้งที่อยู่บนออนไลน์และออฟไลน์ โดยการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 11.2 ล้านราย ส่วนใหญ่เป็นการยื่นผ่านระบบอินเตอร์เน็ตถึง 89.5% และในจำนวนแบบที่ยื่นเข้ามานั้นมี 3.4 ล้านรายที่เป็นการยื่นขอคืนภาษี”นายเอกนิติกล่าว

นายเอกนิติกล่าวต่อว่า นอกจากจำนวนรายที่ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะเพิ่มขึ้นแล้ว จำนวนภาษีที่บุคคลธรรมดา ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนหน้า โดยปีภาษี2562 เฉพาะการยื่นแบบไม่รวมหัก ณ ที่จ่าย มีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.76 หมื่นล้านบาท เทียบกับปีภาษี 2561 บุคคลธรรมดาที่ยื่นแบบเข้ามาและต้องชำระภาษีเพิ่มเติม 1.74 หมื่นล้านบาท

นายเอกนิติกล่าวต่อว่า จากภาวะเศรษฐกิจในปีนี้อาจทำได้ต่ำกว่าคาดการ 4% และส่งออกที่ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจไม่ดีอาจกระทบต่อการจัดเก็บภาษี เช่น อากรแสตมป์ลดลง ส่งอาจกระทบต่อการจัดเก็บรายได้กรมกำหนดไว้ในปีงบ 2562 ที่ระดับ 2 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตามช่วงครึ่งแรกของปีงบ 2562 กรมสามารถจัดเก็บภาษีของกรมเพิ่มขึ้นเกือบทุกตัว ภาษีบุคคลธรรมดาเฉพาะยื่นแบบอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 5.373% ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) จัดเก็บได้ 4.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% จากปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาพรวมการจัดเก็บภาษีของกรม ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณรวม 8.23 แสนล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 6.9% และสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 118 ล้านบาท

Advertisement

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับการขยายฐานภาษีของกรมสรรพากรจะให้ความสำคัญต่อการตรวจสอบการเสียภาษีธุรกิจที่อยู่บนออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายอีเพย์เมนต์มีผลบังคับใช้แล้ว โดยบุคคลหรือนิติบุคคลที่รับโอนเงิน ตั้งแต่ 3 พันครั้งต่อปี หรือ 400 ครั้ง/ปีแต่มีวงเงินรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ธนาคารจะต้องส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร ซึ่งกรมสรรพากรจะเอาข้อมูลเหล่านั้นมาประกอบการพิจารณาเพื่อประเมินภาษี เช่น กรณีบุคคลธรรมดา คนหนึ่งอาจทำงานมีรายได้ประจำเป็นเงินเดือน แต่เมื่อมองจากธุรกรรมการโอนเงินแล้ว ปรากฏว่ามีการรับโอนเงินมากกว่า 3พันครั้งต่อปี ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ปกติ

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image