ผู้เพาะเลี้ยงหอยมุกโอด หอยตายเกลื่อน หลังน้ำทะเลอุณหภูมิสูงขึ้น

ผู้เพาะเลี้ยงหอยมุกโอด หอยตายเกลื่อน หลังน้ำทะเลอุณหภูมิสูงขึ้น

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม นายนิกร อินทรเจริญ ผู้จัดการฟาร์มเพาะเลี้ยงไข่มุกของบริษัท ภูเก็ต เพิร์ล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในปัจจุบัน ส่งผลให้หอยมุกที่มีการเพาะเลี้ยงไว้ตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นอย่างนี้มาทุกปี และมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับคุณภาพของน้ำที่เปลี่ยนไป เมื่ออากาศร้อนขึ้นทำให้มีพยาธิมากขึ้น มูลค่าความเสียหายในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 7 ล้าน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าพบว่าปีนี้จะหนักสุด ปัจจุบันมีพื้นที่เลี้ยงประมาณ 5 ไร่ มีหอยมุกที่ทำการเพาะเลี้ยงอยู่ประมาณ 100,000 ตัว

นายนิกรกล่าวอีกว่า ในส่วนของหอยที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก คือ หอยมุกกวาง ซึ่งจะนำมาใส่เม็ดนิวเคลียส เพื่อให้เกิดเป็นมุกซีกครึ่งวงกลม ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับการทำหัวแหวนหรือจี้ โดยในส่วนของเปลือกหอยที่ตายแล้วจะนำไปเจียระไน หรือนำไปเป็นส่วนประกอบของเฟอร์นิเจอร์ หรือของประดับต่างๆ แม้มูลค่าอาจจะไม่เท่ากับมุกที่เลี้ยงได้ แต่ก็สามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้ในระดับหนึ่ง

ขณะนี้ยังไม่มีแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจน เนื่องจากการเลี้ยงหอยมุกต้องพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก แต่ก็ได้มีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม โดยเฉพาะเรื่องความลึกของระดับน้ำที่เหมาะสมในการเลี้ยง เพื่อลดอัตราการตายดังกล่าว รวมทั้งได้ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ทำการศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยงหอยที่จะนำมาฝังนิวเคลียสเอง แทนการใช้หอยที่จับมาจากธรรมชาติ เนื่องจากปัจจุบันปริมาณหอยธรรมชาติมีปริมาณลดลง และชาวประมงที่จับหอยมาขายก็มีจำนวนน้อยลงด้วย ซึ่งผลการศึกษาวิจัยเบื้องต้นออกมาเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากสามารถร่นระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตมุกจากเดิมต้องใช้เวลา 18 เดือน เหลือเพียง 7-9 เดือน ก็สามารถที่จะเก็บผลผลิตได้แล้ว

Advertisement

ขณะที่ นางสาวกรรนิการ์ กาญจนชาตรี อาจารย์คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า ในช่วงหน้าร้อนจะพบว่ามีหอยมุกตายเป็นจำนวนมาก หลังจากที่ติดแกนมุกหรือนิวเคลียสและปล่อยลงน้ำไปได้ประมาณ 5 วัน จะมีหอยตายประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และตายมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ จากการศึกษา พบสาเหตุมาจากอากาศร้อนเป็นหลัก โดยได้ให้ข้อมูลกับทางบริษัทผู้เพาะเลี้ยงว่า ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม หากเอาหอยลงโอกาสจะตายสูงและรอดน้อยมาก ฉะนั้นจึงควรเปลี่ยนช่วงเวลาในการเก็บผลผลิต ซึ่งช่วงที่เหมาะสมในการติดแกนมุก คือช่วงเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงหน้าฝน และจะไปครบรอบการเก็บผลผลผลิตซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 7 เดือน – 1 ปี ได้ในราวเดือนมีนาคม ซึ่งจะลดอัตราการตายของหอย และยังช่วยอุตสาหกรรมไข่มุกได้อีกทางหนึ่ง

ในส่วนของหอยที่นำมาใช้ในการฝังนิวเคลียสนั้น เราสามารถที่จะเพาะเลี้ยงเองได้เอง แต่สิ่งที่ยากที่สุดของหอยมุก คือการเลี้ยงแพลงก์ตอนเพื่อเป็นอาหารของหอย โดยการเกาะติดวัสดุต่างๆ ในหอยนั้นจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จากนั้นก็จะปล่อยลงทะเล ก่อนจะถูกพัดพากระจายไปทั่วบริเวณ และจะมีชาวบ้านส่วนหนึ่งในชุมชนที่ทำอาชีพประมงเก็บหอยเหล่านั้นมาขาย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ของชุมชนทางอ้อม และเป็นการทดแทนหอยที่มีอยู่ในธรรมชาติด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image