เรียกประชุม!!!ทูตพาณิชย์ทั่วโลก 31 พ.ค. รับมือวิกฤตสงครามการค้าสหรัฐ-จีน

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ความเห็นถึงการที่สหรัฐฯเตรียมขึ้นภาษีสินค้าจีนเพิ่มเติมเป็นร้อยละ 25 ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 ตามเวลาสหรัฐฯ ว่า ประธานาธิบดีทรัมป์คงจะพยายามกดดันจีนเพื่อปิดดีลการเจรจาในช่วงวันที่ 8-10 พฤษภาคม ให้ได้ผลประโยชน์ตามที่สหรัฐฯต้องการมากที่สุด สำหรับสินค้าที่เข้าข่ายถูกขึ้นภาษีตามคำกล่าวของประธานาธิบดีทรัมป์ เป็นรายการสินค้าเดียวกับที่สหรัฐฯเคยขึ้นภาษีจีนแล้ว 1 รอบ ที่อัตราร้อยละ 10 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 ครอบคลุมสินค้าเกษตร ประมง สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าเทคโนโลยี ตามนโยบาย Made in China 2025 รวมทั้งหมด 5,745 รายการ มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 40 ของมูลค่าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีน

นางสาวชุติมา กล่าวว่า เนื่องจากกลุ่มสินค้าเป็นกลุ่มเดิม ดังนั้น แม้สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีเพิ่ม ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการค้าไทยกับจีนและกับสหรัฐฯ ในภาพรวมมากนัก แต่อาจจะส่งผลในระดับมหภาค โดยทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงไปอีก ซึ่งส่งผลกระทบทางอ้อมกับไทยที่พึ่งพาการส่งออก และตั้งแต่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้ากลุ่มนี้รอบแรกเมื่อเดือนกันยายน 2561 ถือเป็นโอกาสให้ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ แทนจีนได้เพิ่มขึ้น แต่การนำเข้าจากประเทศอื่น เช่น เม็กซิโก เวียดนาม เกาหลีใต้ อินเดีย ไต้หวัน เพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะเดียวกันไทยได้รับผลกระทบจากการเป็นห่วงโซ่อุปทานของจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิ สินค้ากลุ่มยานพาหนะและชิ้นส่วน อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าบ้าน เครื่องจักรและส่วนประกอบ โดยเฉพาะการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ลดลงค่อนข้างมากท่ามกลางปัญหา ยังมีหนทางรับมือได้

นางสาวชุติมา กล่าวว่า หลังจากที่สหรัฐฯขึ้นภาษีสินค้าขึ้นไปเมื่อเดือนกันยายน 2561 พบว่า ช่วงไตรมาส 4/2561 ถึง ไตรมาส 1/2562 การส่งออกไทยไปสหรัฐฯ เพื่อทดแทนจีนในสินค้ากลุ่มนี้ เพิ่มขึ้นกว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบระยะเดียวกันปีก่อนหน้า เช่น สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารปรุงแต่งและเครื่องดื่ม และเครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ และเครื่องสำอาง

” หากสหรัฐฯขึ้นภาษีจีนอีกครั้ง สินค้าที่ไทยอาจส่งออกไปแทนจีนได้เพิ่มเติม เช่น ยานพาหนะและส่วนประกอบ อาหารปรุงแต่งและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและเครื่องประดับ สินค้าเกษตร อาทิ ถั่วแห้ง แผ่นยางสดรมควัน ข้าวสี ยางแท่งTSNR ผักผลไม้สด แช่แข็ง แช่เย็น และแปรรูป เช่น กล้วย เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มะพร้าว ฝรั่ง มะม่วง มังคุด มะละกอ สับปะรด อาหารทะเลแช่แข็ง และแปรรูป เช่น ปลาทูน่าบิ๊กอาย ปลาทูน่าท้องแถบ ปลาทูน่าครีบเหลืองสดและแช่แข็ง เนื้อปลาแช่แข็ง น้ำผึ้งธรรมชาติ อาหารสุนัข/แมว เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่ไม่ใช่น้ำผลไม้ เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก เช่น กรดซิตริกตลอดจนยานยนต์และส่วนประกอบ เช่น เครื่องยนต์สันดาปภายใน ยางรถยนต์” นางสาวชุติมา กล่าว

Advertisement

นางสาวชุติมา กล่าวว่า ส่วนสินค้าส่งออกไปจีนที่จะเร่งส่งออกไปทดแทนการส่งออกในกลุ่มที่ลดลง อาทิ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเครื่องสำอาง อาหารปรุงแต่ง เนื้อสัตว์แช่แข็งและแปรรูป ผลไม้สดและแปรรูป ยางสังเคราะห์ และอัญมณี ซึ่งเป็นสินค้าที่ขยายตัวดีมากในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา จึงต้องเร่งขยายการเข้าไปทำตลาดในจีนเพิ่มเติม ทั้งนี้ จีนกับสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย สองประเทศรวมกันมีสัดส่วนถึงร้อยละ 25 เท่ากับอาเซียน 10 ประเทศ ไทยจึงต้องแสวงหาโอกาสจากสงครามการค้าและรักษาสัดส่วนสินค้าไทยในตลาดทั้งสอง ซึ่งปัจจุบันกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีมาตรการรุกตลาดรองในจีนรองรับไว้แล้ว โดยจะเน้นบุกเจาะตลาดที่เป็นมณฑล รัฐ และเมืองรองมากขึ้น รวมถึงสหรัฐฯ อินเดีย และประเทศอื่นๆ ที่สินค้าไทยมีโอกาส

” วันที่ 31 พฤษภาคมนี้ จะมีการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศทั่วโลก เพื่อประเมินสถานการณ์ และหารือแผนผลักดันการส่งออกเชิงรุกอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ”

นางสาวชุติมา กล่าวว่า สำหรับระยะยาว ไทยต้องเร่งเจรจาความตกลงต่าง ๆ และเตรียมตัวเข้าสู่ mode การเจรจาหลังจากมีรัฐบาลใหม่ เพราะมิฉะนั้น จะไม่มีทางเลือกในการส่งออกภายใต้อัตราภาษีที่ต่ำ เป็นจุดอ่อนที่ต้องเร่งปิด ส่วนความท้าทายที่สุด คือ การที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิต (production value chain) ของจีนซึ่งทำให้การส่งออกไทยตกอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี ทั้งนี้ เบื้องต้นอาจต้องเร่งขยายส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ผลไม้ ไปจีนให้มากขึ้น แต่ในระยะยาวต้องนำนโยบายด้านการลงทุนเข้ามาเป็นเครื่องมือ โดยดึงให้จีนเข้ามาลงทุนในอีอีซีเพิ่มมากขึ้น คือ ให้ย้ายห่วงโซ่การผลิตย้ายมาไทยแทน โดยใช้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางอาเซียน+CLMVT และการเป็นศูนย์ transport and travel hub ที่รัฐบาลได้วางวิสัยทัศน์ไว้ บวกกับต้องเชื่อมโยง sector ที่ Belt and Road วางไว้ในจีนฝั่งตะวันตกที่จะเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image