ความอยากของนักการเมือง โดย : โสต สุตานันท์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) กล่าวไว้ในหนังสือ “พุทธธรรม” ว่าความอยากหรือความต้องการตามธรรมชาติของมนุษย์มี 2 ลักษณะ คือ

1.ฉันทะ หมายถึง ความอยากที่มุ่งประสงค์อัตถะ คือ ตัวประโยชน์หรือสิ่งที่มีคุณค่าแท้จริงแก่ชีวิต เพื่อความดำรงอยู่ด้วยดีของชีวิตหรือเพื่อประโยชน์สุขทั้งของตนเองและผู้อื่น ซึ่งต้องอาศัยความจริง สิ่งที่ดีงามหรือภาวะที่ดีงาม ฉันทะก่อตัวขึ้นจากโยนิโสมนสิการ คือ ความรู้จักคิดหรือคิดถูกวิธี คิดตามสภาวะและเหตุผล เป็นภาวะกลางๆ ของธรรม ไม่ผูกกับอัตตาและนำไปสู่อุตสาหะหรือวิริยะ

2.ตัณหา หมายถึง ความอยากที่มุ่งประสงค์เวทนา ต้องการสิ่งสำหรับเอามาเสพเสวยเวทนาหรือสิ่งที่จะปรนเปรอตัวตน เพิ่มเสริมราคาเสริมขยายความมั่นคงยิ่งใหญ่ของตัวตนที่ยึดถือไว้ ซึ่งเป็นคุณค่าเทียม อาศัยอวิชชาคอยหล่อเลี้ยงและให้โอกาส พัวพันเกี่ยวเนื่องอยู่กับเรื่องตัวตนเอาตนเป็นศูนย์กลางและนำไปสู่ปริเยสนาหรือการแสวงหา

ความต้องการของมนุษย์ทุกเรื่องจะมีทั้งฉันทะและตัณหาทับซ้อนกันอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น การกินอาหารถ้าเป็นฉันทะจะกินเพื่อประโยชน์สำหรับหล่อเลี้ยงร่างกาย ให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ มีสุขภาพดี เป็นอยู่ผาสุก มีกำลังเกื้อกูลแก่การบำเพ็ญกิจหน้าที่ หากเป็นตัณหาจะกินเพื่อความเอร็ดอร่อย เสริมความสนุกสนาน เป็นเครื่องแสดงฐานะ ความโก้หรูหรา หรือการตัดสินใจซื้อรถยนต์ ถ้าเป็นฉันทะจะพิจารณาถึงการช่วยให้เดินทางได้รวดเร็ว เกื้อกูลแก่การปฏิบัติหน้าที่การงาน ความเป็นอยู่ การบำเพ็ญประโยชน์ จึงมุ่งเอาความสะดวก ปลอดภัย แข็งแรงทนทาน เป็นหลัก แต่หากเป็นตัณหาจะคำนึงถึงการเป็นเครื่องวัดฐานะ แสดงความโก้ความมั่งมี มุ่งเอาความสวยงามและความเด่นเป็นสำคัญ

Advertisement

ความต้องการของนักการเมืองที่อยากเข้าไปมีอำนาจบริหารประเทศชาติก็เช่นกัน ถ้าเป็นฉันทะก็จะมุ่งเข้าไปทำงานการเมืองโดยมีจุดประสงค์เพื่อประโยชน์ของประชาชนหรือสังคมส่วนรวมเป็นที่ตั้ง มีความคิดอย่างถูกวิธี ลึกซึ้ง แยบคาย เป็นองค์รวม กอปรด้วยตรรกะเหตุผลที่ถูกต้องชอบธรรม รู้และเข้าใจดีว่า แท้จริงแล้วประโยชน์ส่วนรวมกับประโยชน์ส่วนตนเป็นสิ่งเดียวกัน ขณะเดียวกันก็ถือเป็นการปฏิบัติธรรม ฝึกฝนพัฒนาจิตให้เจริญงอกงาม และสั่งสมบุญบารมีไปด้วยในตัว เพราะธรรมะ คือ หน้าที่ที่จักต้องประพฤติกระทำให้อยู่กันเป็นผาสุกทั้งโดยส่วนตัวและส่วนรวม ดั่งที่ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวไว้

แต่หากเป็นตัณหาก็จะมุ่งเข้าไปเล่นการเมืองเพื่อแสวงหาอำนาจผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้องบริวาร มุ่งหวังลาภยศสรรเสริญ เกียรติยศชื่อเสียง อยากเด่นเป็นใหญ่อยู่เหนือผู้อื่นหรือแม้หากอยากทำดีมีอุดมการณ์ก็จะเป็นไปในลักษณะของคนติดดี กอปรด้วยทิฐิมีอัตตาสูง ยึดมั่นถือมั่นในความคิดเห็นของตนเองว่าถูกต้องที่สุด ไม่ยอมรับฟังความคิดความเห็นที่แตกต่าง มีจิตใจที่คับแคบและก่อทัศนคติแบบแบ่งแยก

แน่นอนที่สุดว่าทุกสังคมควรส่งเสริมสนับสนุนให้นักการเมืองที่มีความพร้อม มีศักยภาพความรู้ความสามารถได้มีโอกาสเข้าไปทำงานการเมืองเพื่อฉันทะให้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามคิดหาวิธีป้องกันมิให้นักการเมืองที่กอปรด้วยอวิชชา มิจฉาทิฐิ เข้าไปเล่นการเมืองเพื่อตัณหาควบคู่กันไปด้วย ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้ให้แง่คิดไว้ในหนังสือ “นิติศาสตร์แนวพุทธ” อย่างน่าสนใจว่า ในการบัญญัติกฎหมายในสังคมมนุษย์มี 2 แนวทาง คือ

Advertisement

1.การปกครองเพื่อให้สังคมสงบเรียบร้อยก็จะเป็นการปกครองด้วยอำนาจหรือเน้นการใช้อำนาจ กฎหมายก็จะมุ่งบังคับและควบคุมโดยเน้นการกำจัดคนชั่ว ด้วยการลงโทษคนทำความผิด

2.ในระบบสังคมที่ถือคติว่าการปกครองเป็นการสร้างสังคมที่ดีขึ้นมา เพื่อเป็นสภาพที่เอื้อให้มนุษย์ได้พัฒนาตนเข้าสู่ชีวิตที่ดีงาม การบัญญัติกฎหมายก็จะเน้นการศึกษา เน้นการสร้างและส่งเสริมคนดีมากกว่าการพยายามกำจัดคนชั่ว

แต่โดยที่สังคมในขณะหนึ่งๆ ย่อมมีคนที่อยู่ในระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันหลากหลายการปกครองและกฎหมายจึงต้องทำหน้าที่ทั้งสองด้านพร้อมๆ กันไป คือ ทั้งส่งเสริมคนดีและกำราบคนร้าย แต่ต้องมีจุดเน้นที่การสร้างและส่งเสริมคนดีเป็นสำคัญ เพราะวิถีทางนี้เป็นแนวทางที่สร้างสรรค์เป็นแนวทางที่มุ่งพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้าไปสู่ความดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป หากเน้นการกำราบคนร้าย ด้วยการใช้อำนาจบังคับและการลงโทษจะเกิดความรู้สึกในเชิงปฏิปักษ์และก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งตามมา

คำถามคือ กฎกติกาของสังคมไทยที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีลักษณะส่งเสริมคนดีหรือกำราบคนร้าย เชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านคงเห็นพ้องต้องกันอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า เรามุ่งเน้นการกำราบคนร้ายมากเกินไป มากจนเกินขอบเขตแห่งความพอดี จนทำให้ระบบกฎหมายขาดความสมดุลผิดเพี้ยนบิดผันไปหมด บางครั้งบางกรณีนอกจากจะไม่สามารถกำราบคนร้ายได้แล้ว ยังกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้คนดีมีความรู้ความสามารถได้มีโอกาสเข้าไปทำงานการเมืองหรือทำด้วยความยากลำบาก ทั้งยังอาจส่งผล
กระทบข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ตามมาอีกมากมาย ตัวอย่างเช่น

⦁รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) บัญญัติลักษณะบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งว่าต้องไม่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ผลที่ตามมาคือ คนที่มีความพร้อมเป็นคนดีมีความรู้ความสามารถซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนต่างๆ จะถูกตัดโอกาสไม่สามารถเข้าไปทำงานการเมืองได้ ขณะเดียวกันเจตนารมณ์ของกฎหมายซึ่งเข้าใจว่า เพื่อป้องกันมิให้คนเลวที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนต่างๆ ใช้สื่อไปในทางที่มิชอบมิควรเพื่อประโยชน์ในทางการเมืองนั้น ก็เป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า สามารถทำได้แค่ไหน เพียงใด

⦁รัฐธรรมนูญ มาตรา 187 บัญญัติห้ามมิให้รัฐมนตรี รวมถึงคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ ผลที่ตามมาคือ ทำให้คนที่มีความพร้อมเป็นคนดีมีความรู้ความสามารถที่ประสงค์จะเข้าไปทำงานการเมืองเพื่อช่วยเหลือประเทศชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง ต้องได้รับผลกระทบเดือดร้อนและยุ่งยากปวดหัวกับเรื่องดังกล่าว ขณะเดียวกันเจตนารมณ์ของกฎหมายซึ่งเข้าใจว่า เพื่อป้องกันมิให้คนเลวที่เข้าไปเป็นรัฐมนตรีใช้อำนาจไปในทางที่มิชอบมิควรเพื่อช่วยเหลือธุรกิจการค้าของตนเองหรือพวกพ้องบริวาร ก็เป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า สามารถทำได้แค่ไหน เพียงใด

⦁พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 69 บัญญัติห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐตามมาตรา 81 ส่วนการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นแม้มาตรา 70 จะบัญญัติให้ทำได้ แต่ก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ผลที่ตามมา คือ สร้างความยุ่งยากปวดหัว เป็นอุปสรรคปัญหาให้กับนักการเมืองดีๆ ที่ต้องการเสนอนโยบายหรือให้ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทำให้ประชาชนขาดโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเลือก ขณะเดียวกันเจตนารมณ์ของกฎหมายซึ่งเข้าใจว่า เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ความเสมอภาค และความเที่ยงธรรม ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 71 นั้น ก็เป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า สามารถทำได้แค่ไหน เพียงใด ทั้งยังหมิ่นเหม่อย่างยิ่งต่อการที่จะทำให้คิดไปได้ว่า เป็นการดูหมิ่นดูแคลนประชาชนว่า ไม่มีวุฒิภาวะ ไม่มีสติปัญญาเพียงพอที่จะพิจารณาแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนผิดถูก ดีไม่ดีอย่างไร

⦁พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 73 และ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 65 บัญญัติห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใด ซึ่งมีอยู่หลายประการและมีความหมายครอบคลุมกว้างขวาง ผลที่ตามมาคือการหาเสียงของนักการเมืองเป็นไปอย่างผิดธรรมชาติ ขัดต่อขนบประเพณีหรือวิถีชุมชนที่ต้องพึ่งพาอาศัยมีน้ำใจต่อกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีมีงานบุญประเพณีต่างๆ ทั้งยังเปิดช่องเปิดโอกาสให้มีการกลั่นแกล้งให้ร้ายกันหรือจ้องจับผิดกันในเรื่องหยุมหยิมเล็กน้อย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ หลายปีก่อนผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ทำคดีเรื่องหนึ่ง ข้อเท็จจริงมีว่าจำเลยร้องเรียนโจทก์ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งฯว่า มอบเงินรางวัลให้คณะฟ้อนรำในงานประเพณีบุญบั้งไฟ เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งแก่ตน (ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเงินในซองที่มอบมีจำนวนเท่าไหร่) ขณะเดียวกันก็ได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ มาตรา 118 พร้อมกันไปด้วย กรณีเรื่องร้องเรียนถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกฟ้อง แต่คดีที่ฟ้องสู้กันถึงศาลฎีกา ผลที่สุดโจทก์ถูกจำคุก 1 ปี

สำหรับคดีที่ผู้เขียนรับผิดชอบเป็นคดีโจทก์ฟ้องจำเลยว่า นำความเท็จไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งและฟ้องคดีต่อศาล ผู้เขียนทำคดีไปก็รู้สึกหดหู่เศร้าใจไปว่า มันเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมืองเรา

ว่าไปแล้ว หากพิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่ง การที่นักการเมืองนำเงินไปแจกประชาชนในช่วงการเลือกตั้งก็ไม่น่าจะก่อให้เกิดผลเสียหายอะไร นักการเมืองก็ได้บุญกุศล ประชาชนก็มีเงินใช้ ทั้งยังช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นด้วย เนื่องจากมีเงินสะพัด มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เรียกว่า win-win ด้วยกันทุกฝ่าย สิ่งที่ควรต้องทำน่าจะได้แก่ การรณรงค์ให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนในการใช้วิจารณญาณตัดสินใจเลือกผู้แทนอย่างชาญฉลาด มองการณ์ไกล ไม่เห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้าชั่วครั้งชั่วคราว การจัดการเอาผิดกับนักการเมืองที่ประกอบอาชีพไม่สุจริตผิดกฎหมายอย่างเฉียบขาด และการควบคุมตรวจสอบอย่างเข้มงวดเอาจริงเอาจังมิให้นักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ ทุจริตฉ้อโกงประเทศชาติ

ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอแสดงทรรศนะส่งท้ายว่า สำหรับประชาชนคนส่วนใหญ่แล้ว ความต้องการที่แท้จริง คือ การอยู่ดีกินดี มีอาชีพ มีงานทำ มีชีวิตที่มั่นคงปลอดภัย และสังคมมีความสงบเรียบร้อย อยู่ในสภาพที่เอื้อหรือเกื้อหนุนให้สามารถพัฒนาชีวิตในด้านต่างๆ ให้เจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป ดังนั้น หากผู้ปกครองหรือรัฐบาลสามารถบริหารประเทศตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้ ไม่ว่าบ้านเมืองจะปกครองด้วยระบบอะไร ใครเป็นผู้ปกครอง ก็เชื่อว่าคงไม่มีประชาชนคนใดต่อต้านคัดค้านหรือปฏิเสธไม่ยอมรับ

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับความจริงว่า การที่จะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีอาชีพ มีงานทำ มีชีวิตที่มั่นคงปลอดภัย และสังคมมีความสงบเรียบร้อยได้นั้น ต้องอาศัยกฎกติกาที่มีความเป็นธรรมและชอบธรรมเป็นเครื่องมืออันสำคัญในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎกติกาสูงสุด คือ รัฐธรรมนูญ เพราะการเมืองเป็นเรื่องของการจัดสรรแบ่งปันอำนาจ ผลประโยชน์ ทรัพยากรและสิ่งที่มีคุณค่าต่างๆ ในสังคม หากปราศจากกฎกติกาที่เป็นธรรมและชอบธรรมแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่การจัดสรรแบ่งปันจะมีความยุติธรรมและเป็นที่ยอมรับของผู้คนในสังคม

หากอุปมาเปรียบเทียบกับการล่องเรือในแม่น้ำ กฎกติกาที่เป็นธรรมและชอบธรรมก็เป็นเสมือนการมีน้ำเต็มลำน้ำไหลตลอดทั้งปี แม้บางครั้งบางเวลาเรืออาจรั่ว ชำรุดเสียหาย หรือเจอพายุพัดกระหน่ำอับปางลง แต่เมื่อซ่อมแซมเสร็จก็สามารถล่องเรือเดินทางต่อไปได้ ส่วนจะช้าจะเร็ว จะถึงจุดหมายปลายทางเมื่อไหร่ก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ขณะที่กฎกติกาที่ไม่เป็นธรรมและไม่ชอบธรรมก็คงเป็นเสมือนลำน้ำที่แห้งขอดตื้นเขิน อย่างไรเสียก็คงไม่สามารถล่องเรือเดินทางต่อไปได้

สภาพการณ์บ้านเมืองในตอนนี้ เป็นที่รู้อยู่แก่ใจของทุกฝ่ายว่า เราเดินหน้าต่อลำบาก ซึ่งคงมิอาจปฏิเสธได้ว่า สาเหตุสำคัญแห่งปัญหา คือ ความไม่เป็นธรรมและไม่ชอบธรรมของรัฐธรรมนูญทางออกของบ้านเมืองที่ดีที่สุดในตอนนี้น่าจะได้แก่ พรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าฝ่ายใดที่กำลังแย่งชิงกันจัดตั้งรัฐบาลอยู่ขณะนี้ต้องให้สัญญาประชาคมต่อประชาชนว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะผลักดันให้มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีที่มาจากตัวแทนของประชาชนทุกภาคส่วน เมื่อร่างเสร็จก็จัดให้มีการทำประชามติ หากประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบก็ยุบสภาในทันทีเพื่อเริ่มต้นกันใหม่

ทางออกดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ประชาชนคนไทยต้องร่วมกันแสดงความคิดความเห็น โน้มน้าว ชักชวน บีบคั้น กดดัน ให้เหล่าพรรคการเมืองและผู้มีอำนาจทั้งหลายเห็นพ้องหรือยอมทำตาม ถ้าคนไทยส่วนใหญ่ละเลยเพิกเฉยไม่ช่วยกันคิดช่วยกันทำก็คงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากก้มหน้ายอมรับชะตากรรมกันไป

โสต สุตานันท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image