สรรพากรเข้มผู้ประกอบการเลี่ยงภาษี’จัดกลุ่มดี-กลุ่มเสี่ยง’เช็คละเอียดยิบ

นายเกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาญจน์ รองอธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในเดือนเดือนมิถุนายนกรมฯ เริ่มตรวจเข้มการทำบัญชีของผู้ประกอบการ เพื่อคัดกรองว่า ผู้ประกอบการรายใดจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะหลีกเลี่ยงภาษี และ กลุ่มใดจัดอยู่ในกลุ่มดี โดยในกลุ่มที่ถูกจัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงนั้น เมื่อตรวจสอบพบว่า หลีกเลี่ยงภาษี จะต้องชำระภาษีให้ถูกต้องและต้องเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่มตามกฎหมาย

นายเกรียงศักดิ์กล่าวว่า ในระหว่างนี้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน กรมฯเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแจ้งมายังกรมว่าจะเข้าร่วมโครงการจัดทำบัญชีเล่มเดียวอย่างถูกต้อง ซึ่งจะได้รับยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่มสำหรับการชำระภาษีไม่ถูกต้อง โดยในรายที่แสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการนั้น จะได้รับบริการทางการเงินต้นทุนต่ำกว่าปกติจากสถาบันการเงินอีกด้วย ปัจจุบันมีเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการแล้วราว 2.6 หมื่นราย

นายเกรียงศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้ กรมฯได้ใช้ระบบ Big Data & Data Analytics เพื่อวิเคราะห์ว่ากลุ่มธุรกิจใดและพฤติกรรมแบบใดเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงเลี่ยงภาษี โดยนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ให้นโยบายว่า กรมฯจะต้องเปิดข้อมูลให้ผู้ประกอบการได้รับรู้ว่า ธุรกิจใด หรือ พฤติกรรมลักษณะใด ถือว่า เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงเลี่ยงภาษี เพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำไปปรับปรุง

“มีผู้ประกอบการจำนวนมากสอบถามมาว่า กรมฯประเมินกลุ่มเสี่ยงเลี่ยงภาษีไว้อย่างไร ซึ่งท่านอธิบดีก็ได้สั่งการให้เราเปิดบ้านให้รับรู้ทั่วกันว่า ธุรกิจกลุ่มไหนเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือ กลุ่มดี พร้อมบอกด้วยว่า กลุ่มเสี่ยงจะได้รับการตรวจเข้มแบบใด และ กลุ่มดี จะได้รับบริการที่สะดวกขึ้นอย่างไรบ้าง”นายเกรียงศักดิ์ กล่าว

Advertisement

นายเกรียงศักดิ์กล่าวว่า หลังกรมฯได้นำระบบ Big Data & Data Analytics มาวิเคราะห์ความเสี่ยง และ พบว่า มี 10 สัญญาณที่ถือว่า เป็นความเสี่ยงของธุรกิจที่จะหลีกเลี่ยงภาษี โดยแยกเป็นความเสี่ยงที่จะใช้แหล่งข้อมูลจากสินทรัพย์ หนี้สินและทุน รายได้ และ ค่าใช้จ่าย กรณีสินทรัพย์นั้น ผู้ประกอบการมักจะใช้ช่องทางที่ใช้เงินสดเป็นหลัก โดยที่ระบบบัญชีไม่ผ่านธุรกรรมการเงินจากสถาบันการเงิน การแสดงสินค้าคงเหลือไม่ถูกต้อง หรือ ไม่มีทรัพย์สิน หรือ มีทรัพย์สินมากผิดปกติ เหล่านี้ ถือว่า เข้าข่ายแต่งบัญชีเพื่อเลี่ยงภาษี

นายเกรียงศักดิ์กล่าวว่า สำหรับกรณีหนี้เสินและทุนนั้น จะวิเคราะห์ว่า เป็นกลุ่มเสี่ยงได้จากการแสดงผลประกอบการที่ขาดทุน ในขณะที่ มีเงินกู้ยืมให้แก่กรรมการมากและไม่สามารถชี้แจงได้ ขณะเดียวกัน ยังแสดงบัญชีที่ขาดทุนสะสมเป็นเวลานานอีกด้วย กรณีนี้ เราวิเคราะห์ได้ว่า เมื่อธุรกิจขาดทุน เหตุใดไม่นำเงินที่ให้กรรมการกู้ยืมนั้น มาช่วยเหลือธุรกิจแทนที่จะให้กรรมการกู้ สะท้อนว่า มีการตกแต่งบัญชี เป็นต้น

นายเกรียงศักดิ์กล่าวว่า ส่วนกรณีรายได้นั้น ส่วนใหญ่จะมีการบันทึกรายได้ไม่ถูกต้อง และ ไม่ครบถ้วน เช่น ในธุรกิจที่มีการผลิต ได้แจ้งว่า มีรายได้ต่ำ แต่สต็อกสินค้าเหลือมาก ขณะที่ ธุรกิจบริการแจ้งรายได้ต่ำ แต่มีเงินเหลือให้กรรมการกู้ เป็นต้น เหล่านี้ ถือเป็นการแจ้งรายได้ที่ไม่ถูกต้อง ส่วนกรณีค่าใช้จ่ายนั้น จะมีการบันทึกค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่รายได้ลดลง บันทึกค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับรายได้ และ สร้างรายจ่ายที่เป็นเท็จ เป็นต้น

Advertisement

“กรณีการสร้างค่าใช้จ่ายนี้ ทางระดับนโยบายได้แสดงความเป็นห่วง หลังพบว่า มีการสร้างค่าใช้จ่ายเท็จ โดยผู้ประกอบการได้ทำการหัก ณ ที่จ่าย ที่เป็นเท็จ ยกตัวอย่าง สร้างรายจ่ายจ้างงาน โดยสร้างตัวละครขึ้นมา บางรายเอาบัตรประชาชนคนทั้งหมู่บ้านมาเลย ซึ่งตรงนี้ตรวจสอบได้ไม่ยาก โดยเฉพาะกรณีที่ขณะนี้ รัฐบาลได้ทำโครงการบัตรสวัสดิการ เมื่อเช็คจากบัตรประชาชนก็รู้ได้ทันที ทั้งนี้ แม้ว่า ผู้ประกอบการจะทำหัก ณ ที่จ่าย ก็ไม่ได้การันตีว่า จะเป็นค่าใช้จ่ายได้ เพราะต้องตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องด้วย”นายเกรียงศักดิ์กล่าว

นายเกรียงศักดิ์กล่าวว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ เป็นช่วงเดือนที่จะมีการยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงอยากให้ผู้ประกอบการได้เข้ามาเช็คว่า ธุรกิจของท่านเข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ถ้าเข้าข่าย ก็ควรจะมีการแก้ไขก่อนที่จะยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีให้ถูกต้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image