สทนช.โล่งผ่านแล้ง เตรียมรับมือฝนต่อ จี้เร่งมือขจัดสิ่งขวางก่อนน้ำหลาก

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)กล่าวภายหลังประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 5/2562 ว่า ที่ประชุมได้ติดตามผลการดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงเกิดภัยแล้งและแนวทางการให้ความช่วยเหลือ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะพื้นที่่ประสบภัยแล้ง  7 จังหวัด คือ พิษณุโลก ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ นครราชสีมา มหาสารคาม ตราด และชลบุรี รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพิ่มเติมอีก 12 จังหวัด คือ พิจิตร กำแพงเพชร ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก สุรินทร์ กาฬสินธุ์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท อ่างทอง และเพชรบุรี

นายสมเกียรติ  กล่าวว่า แนวทางการช่วยเหลือระยะสั้น ได้จัดหาน้ำแจกจ่ายในพื้นที่ประสบภัยโดยรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำดื่ม จัดซื้อภาชนะบรรจุสำรองน้ำ ซ่อมแซมและขุดบ่อบาดาล ซ่อมแซมถังเก็บน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำ ก่อสร้างและซ่อมแซมระบบกระจายน้ำ ทำให้พื้นที่ดังกล่าวสามารถผ่านพ้นฤดูแล้งปีนี้ไปได้ รวมถึงการแก้ไขปัญหาระยะกลาง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบกลางแล้ว 1,226 ล้านบาท เพื่อเพิ่มความจุให้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำอื่นๆ โดย สทนช.ลงพื้นที่ทุกเดือนเพื่อติดตามผลดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำรวม 144 โครงการ ที่ดำเนินการโดย 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การประปาส่วนภูมิภาค กองทัพบก ให้แล้วเสร็จโดยเร็วด้วย

นายสมเกียรติ กล่าวว่า พร้อมกับหารือถึงมาตรการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำช่วงฤดูฝน ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์จะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนประมาณสัปดาห์หน้า ใน 4 ประเด็น คือ 1.ให้ทุกหน่วยงานรับทราบแนวทางการปรับเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 36 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 414 แห่ง และได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่จะต้องดำเนินการตามเกณฑ์ใหม่เรียบร้อยแล้ว เพื่อจะได้นำเกณฑ์ที่ปรับปรุงแล้วมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้งการเก็บกักน้ำในฤดูถัดไป และการระบายน้ำโดยไม่กระทบพื้นที่ท้ายน้ำ

นายสมเกียรติ กล่าวว่า 2.การติดตามตรวจสอบฐานข้อมูลและมาตรการในการบริหารจัดการน้ำ ทั้งแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ที่สทนช.ได้ดำเนินการรวบรวมแล้วเสร็จ 3.ให้มีการเตรียมข้อมูลจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำหลากรายจังหวัด ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน

Advertisement

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เร่งตรวจสอบสภาพอาคารชลศาสตร์ สถานีโทรมาตร เพื่อติดตามเฝ้าระวัง ระบบการระบายน้ำ และเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือ จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำหลาก รวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนตั้งแต่ต้นฤดูและดำเนินการอย่างต่อเนื่องด้วย และ 4.การปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาน้ำท่วม โดย สทนช.ได้บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการสำรวจและปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำตามภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี หรือปี2561-80

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image