กระทรวงใหม่ทางการศึกษา : ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

กระทรวงทางการศึกษาของไทย เริ่มจัดตั้งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2435 ชื่อ “กระทรวงธรรมการ” เพราะมีหน้าที่สำคัญในการจัดการ พระศาสนา ความรู้กับการศึกษา การพยาบาล และพิพิธภัณฑ์

ต่อมา สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) มีการจัดการศึกษามากขึ้นตามแผนการศึกษาชาติหลายฉบับ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “กระทรวงศึกษาธิการ” เมื่อปี 2462 และปี 2469 ได้เปลี่ยนชื่อกลับเป็น “กระทรวงธรรมการ” ด้วยเหตุผลว่าไม่ควรแยกการศึกษาออกจากวัด

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย การศึกษามีพัฒนาการขึ้นเป็นลำดับ โดยการจัดตั้งกรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษา และปี 2484 เปลี่ยนชื่อเป็น “กระทรวงศึกษาธิการ” อีกครั้ง

เมื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้รวมภารกิจการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมมาอยู่ในกระทรวงเดียวกันชื่อว่า “กระทรวงศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม (ศ.ศ.ว.)” ต่อมา ได้แยกภารกิจด้านศาสนาไปจัดตั้งเป็นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และแยกภารกิจด้านวัฒนธรรมไปจัดตั้งเป็นกระทรวงวัฒนธรรม จึงเปลี่ยนชื่อกลับมาเป็น “กระทรวงศึกษาธิการ” จนถึงปัจจุบันนี้

Advertisement

อย่างไรก็ตาม มีการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาครั้งสำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับการศึกษาในศตวรรษที่ 21 และการนำสังคมไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0 ที่เน้นเรื่องวิทยาศาสตร์ การวิจัย และการสร้างนวัตกรรม ซึ่งภารกิจเหล่านี้ล้วนอยู่ในการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งสิ้น

ดังนั้นได้เกิดแนวคิดจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา จึงมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการอุดมศึกษาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 เพื่อรองรับภารกิจของกระทรวงใหม่ทางการศึกษา คือ “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ในช่วงเวลาเดียวกัน

การจัดตั้งกระทรวงใหม่ทางการศึกษา กระทรวงใหม่ทางการศึกษาจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2562 โดยยกเลิกกฎหมายบางฉบับเพื่อเน้นความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และงานวิจัยมาไว้ในกระทรวงใหม่ กล่าวคือ ยกเลิก

Advertisement

พระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ.2502

พระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2507

ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 315 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2515

สาระสำคัญในกฎหมายดังกล่าว ได้แก่

ภารกิจหลักของกระทรวงใหม่

เน้นงานวิจัยและนวัตกรรม กล่าวคือ

“การวิจัย” หมายความว่า การศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์ หรือทดลองอย่างเป็นระบบ อันจะทำให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริง ความรู้ใหม่ หรือหลักการไปใช้ในการตั้งกฎ ทฤษฎี แนวทางในการปฏิบัติเพื่อเป็นพื้นฐานของการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปะวิทยาการแขวงต่างๆ รวมทั้งเพื่อสร้างนวัตกรรม อันจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

“นวัตกรรม” หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ สิ่งประดิษฐ์ บริการ กรรมวิธีที่เกี่ยวกับการผลิตการจัดโครงสร้างองค์กร ระบบบริหารจัดการ การบริหารการเงิน ธุรกิจ การตลาดหรือในการอื่นใด ทั้งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่หรือพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญและนำไปใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้างทั้งในเชิงพาณิชย์และสาธารณะ

ภารกิจงานวิจัยและนวัตกรรมได้เชื่อมโยงเป็นรูปธรรมในรูปคณะกรรมการ คือ

“คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” หมายความว่า คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามกฎหมายว่าด้วยสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ

การแบ่งส่วนราชการ
มีส่วนราชการดังต่อไปนี้
(1) สำนักงานรัฐมนตรี
(2) สำนักงานปลัดกระทรวง
(3) กรมวิทยาศาสตร์บริการ
(4) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
(5) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
(6) สถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นส่วนราชการ

ส่วนราชการตาม (2) (3) (4) และ (5) มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นกรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
ส่วนราชการตาม (6) มีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีระเบียบบริหารราชการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษานั้น

ข้อสังเกต ส่วนราชการตาม (6) การจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐและเอกชนมีกฎหมายรองรับเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งพระราชบัญญัติแต่ละฉบับได้กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาทั้งหลายมีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นบุคคลตามกฎหมายที่มีสิทธิหน้าที่และสามารถทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ ได้ โดยมีอธิการบดี อธิการ หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจทำแทนสถาบันอุดมศึกษาดังกล่าว

อนึ่ง ให้ถือว่าผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดกระทรวงนี้มีฐานะเทียบเท่าอธิบดี

หน้าที่และอำนาจของกระทรวงใหม่

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งให้มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(1) ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลการอุดมศึกษาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยมีความเป็นอิสระทางวิชาการและการบริหารจัดการ ให้มีการพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ และให้ดำเนินการวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาชุมชน สังคมและประเทศทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสหวิทยาการ

(2) ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลการวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมที่อยู่ในสังคมกระทรวงหรือกำกับดูแลของรัฐมนตรี รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมที่อยู่นอกกระทรวงเพื่อให้เกิดความร่วมมือ และดำเนินการไปในทิศทางที่มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ

(3) จัดให้มีระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือเพื่อผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทาง และความร่วมมือในด้านการวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและบุคคลหรือหน่วยงานในต่างประเทศ

(4) ปฏิบัติการอื่นที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของกระทรวง

ในการดำเนินการตาม (3) กระทรวงอาจ
มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดหรือในกำกับเป็นผู้ดำเนินการ หรืออาจร่วมดำเนินการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานเอกชนหรือต่างประเทศก็ได้

การเปลี่ยนแปลงของหน่วยงานเดิม

หน่วยงานหลักที่กำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชนก่อนประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ คือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งในบทเฉพาะกาลของกฎหมายกระทรวงใหม่ทางการศึกษาให้ไปสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง โดยโอนงาน ทรัพย์สิน และบุคลากรไปอยู่ในหน่วยงานดังกล่าว สำหรับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เคยมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการอุดมศึกษา ดังนี้

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2515 ได้จัดตั้งทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ เพื่อกำกับดูแลมหาวิทยาลัยของรัฐในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเปลี่ยนชื่อเป็น “ทบวงมหาวิทยาลัย” เนื่องจากโอนงานกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจากกระทรวงศึกษาธิการมาอยู่ในสังกัด ภายหลังการปฏิรูปการศึกษา ปี 2545 ได้รวมเป็นหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ คือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และมีแนวคิดจะแยกเป็นกระทรวงการอุดมศึกษามาเป็นระยะๆ ถึงปี 2562 จึงถ่ายโอนมาอยู่ในกระทรวงใหม่นี้

การบริหารงานในรูปคณะกรรมการ

กระทรวงใหม่มีคณะกรรมการ 3 ชุด ได้แก่

(1) คณะกรรมการการอุดมศึกษา เรียกโดยย่อว่า “กกอ.” มีหน้าที่และอำนาจกำหนดแผนปฏิบัติการการอุดมศึกษา ให้ข้อเสนอแนะความเห็นชอบแก่รัฐมนตรี และกำกับ เร่งรัด ติดตามการปฏิบัติตามแผน

(2) คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เรียกโดยย่อว่า “กมอ.” มีหน้าที่และอำนาจในการส่งเสริม สนับสนุนมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา เสนอแนะต่อรัฐมนตรีเพื่อการพัฒนามาตรฐานการอุดมศึกษา และกำกับ เร่งรัด ติดตาม ในการจัดทำฐานข้อมูลมาตรฐานการอุดมศึกษา

(3) คณะกรรมการข้าราชพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เรียกโดยย่อว่า “ก.พ.อ.” ทำหน้าที่เป็นองค์กรบริหารบุคคลสำหรับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดกระทรวงที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา

ความเชื่อมโยงกับกฎหมายการอุดมศึกษา

กฎหมายฉบับนี้ไม่มีสภาพบังคับหรือไม่มีบทกำหนด แต่เชื่อมโยงกับกฎหมายการอุดมศึกษาในบางส่วน กล่าวคือ

มาตรา 31 กระทรวงอาจขอให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการและแผนงานเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษานั้น ตลอดจนรายละเอียดทางวิชาการ การเงิน สถิติ และข้อมูลอื่นเพื่อประโยชน์ในการจัดทำฐานข้อมูลการอุดมศึกษาและการปฏิบัติราชการในหน้าที่และอำนาจได้

ความในวรรคหนึ่งให้นำมาใช้บังคับแก่สถาบันอุดมศึกษาที่ไม่อยู่ในสังกัดของกระทรวงและสถาบันอุดมศึกษาเอกชนด้วยโดยอนุโลม

มาตรานี้เชื่อมโยงไปใช้บังคับตามกฎหมายการอุดมศึกษา มาตรา 74 กระทรวง มีอำนาจให้สถาบันอุดมศึกษาส่งข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการศึกษา ถ้าไม่ส่งจะมีหนังสือเตือน หากไม่ส่งข้อมูลภายในกำหนดที่ได้เตือน ให้ได้รับสภาพบังคับที่เป็นผลร้าย โดยข้อเสนอของกระทรวงนี้

ความส่งท้าย
นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 มีกฎหมายทางการศึกษาออกมา 2 ฉบับ และเป็นการจัดตั้งกระทรวงใหม่ทางการศึกษา โดยมิได้ยกเลิกกระทรวงศึกษาธิการ จึงมีลักษณะเป็นกระทรวงคู่ทางการศึกษา ซึ่งแบ่งภารกิจจัดการศึกษา โดยระดับพื้นฐานที่กำกับดูแลการศึกษาระดับประถมและมัธยมเป็นภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปนั้นเป็นภารกิจของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

การแบ่งภารกิจทางการศึกษาที่ชัดเจนตามศักยภาพของทั้งสองกระทรวงจะช่วยพัฒนาการศึกษาไทยให้มั่นคง ยั่งยืน และทันสมัยในอนาคต

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image