ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ คาดโอนบ้านอืด แนะระวังเปิดโครงการใหม่(ชมคลิป)

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยในงานสัมมนา “วิเคราะห์สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย กรุงเทพฯและปริมณฑล และจังหวัดอยุธยา -สระบุรี ปี 2562” ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ (ซอยรางน้ำ) ว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปีนี้ยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ซึ่งมีการปรับเกณฑ์การให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน(มาตรการแอลทีวี) ภาระหนี้ครัวเรือนสูงและกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งตั้งแต่ต้นปีพบว่าการเปิดโครงการใหม่น้อยลงเทียบกับปีที่ผ่านมา เพราะเร่งระบายสต็อกเดิมและรอความชัดเจนการเลือกตั้ง แต่เริ่มเห็นการเปิดโครงการในเดือนเมษายนกลับมาดีขึ้นและจะมีการเปิดตัวโครงการใหม่อีกในช่วงที่เหลือของปีนี้เพื่อทดแทนสต็อกเดิมและสร้างการเติบโตของบริษัท แต่คาดว่าการเปิดโครงการใหม่ปีนี้จะติดลบเทียบกับปีก่อน ซึ่ง 4 เดือนแรก (มกราคม-เมาายน) ปี 2562 มีบ้านจัดสรรเปิดใหม่ 54 โครงการ ติดลบ 14.2% จำนวน 8,127 ยูนิต ติดลบ 17.3% จากปีก่อนที่ 63 โครงการ 9,831 ยูนิต คอนโดมิเนียมจำนวนโครงการไม่เปลี่ยนแปลงมาก แต่จำนวนยูนิตลดลงค่อนข้างมาก เปิดใหม่ 35 โครงการ ติดลบ 7.8% จำนวน 12,801 ยูนิต ติดลบ 23.3% จากปีก่อน 38 โครงการ 16,708 ยูนิต

นายวิชัย กล่าวว่า ขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงเดียวกันมีการเติบโตมากก่อนมาตรการบังคับใช้ แต่คาดว่าช่วงที่เหลือของปีอาจจะไม่เติบโตมากนัก แต่มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมา ได้แก่ การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ซื้อบ้านหลังแรกไม่เกิน 2 แสนบาท ในกลุ่มบ้านราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท และมาตรการลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองและการโอนของบ้านต่ำกว่า 1 ล้านบาท จะมีผลดีบ้าง ซึ่งคาดการณ์ว่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั้งปีจะอยู่ที่ 335,000 ยูนิต ติดลบ 7.7% แต่หากไม่มีมาตรการรัฐเข้ามาจะเห็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่ 302,000 ยูนิตติดลบมากถึง 15.6% จากปีก่อนที่ 363,000 ยูนิต

“หากพิจารณาสัดส่วนซัพพลายและความต้องการซื้อในช่วงที่ผ่านมาพบว่าแต่ละปีไม่ต่างกันมากนักแต่เริ่มเห็นส่วนต่างซัพพลายที่มากขึ้นเพราะการพัฒนาโครงการใหม่ที่เข้ามามากในช่วงครึ่งหลังปี 2561 และขณะนี้ตลาดมีการเร่งโอนก่อนมาตรการแอลทีวีไปแล้วปีที่ผ่านมาต่อเนื่องต้นปีนี้ แต่การเปิดโครงการใหม่ที่ยังออกมาต่อเนื่อง ทำให้ระยะต่อไปต้องระวังเรื่องการดูดซับซัพพลายใหม่ที่เข้ามาในตลาดที่จะชะลอลงจากครึ่งปีหลัง 2561 อยู่ที่ 4.9%ต่อเดือน มาที่ 4.8%ต่อเดือน ในครึ่งปีแรก 2562 และลดลงมาครึ่งปีหลัง4.2%ต่อเดือน ผู้ประกอบการระวังเปิดโครงการใหม่ แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการจะปรับตัวได้ เน้นพัฒนาโครงการเรียลดีมานด์” นายวิชัยกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image