ผู้เลี้ยงสุกร ยันตรึงราคาหน้าฟาร์ม ชี้หมูชำแหละควรไม่เกิน150บาท

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า มติที่ประชุมสมาคมฯเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ให้คงราคาขายหมูเป็นหน้าฟาร์มที่กิโลกรัมละ 74-75 บาท และเป็นไปตามที่ได้หารือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ขอให้คงราคาขายเท่าเดิม เนื่องจากพิจารณาต้นทุนการผลิตด้านอาหารสัตว์ยังไม่มีการปรับราคา เพียงแต่อากาศร้อนอบอ้าวทำให้หมูโตช้าน้ำหนักลดลง และกำลังเข้าฤดูฝน ซึ่งจะทำให้หมูเติบโตดีขึ้น ประกอบกับกำลังซื้ออาจหายไปบางพื้นที่ที่เจอพายุฝน โดยปัจจุบันพฤติกรรมการซื้อหมูชำแหละจะอยู่ตามตลาดนัด ซึ่งเป็นตลาดหลักของผู้เลี้ยงสุกรในปัจจุบัน บางพื้นที่มีตลาดนัดถึง 10 แห่งใกล้เคียงกัน เมื่อฝนตกตลาดนัดก็จะหายไปบ้างส่วน ทำให้สู่ออกหมูตลาดลดลงและราคาอ่อนตัวลง
” เมื่อหมูเป็นตรึงราคาต่อ ราคาหมูชำแหละ(หมูเขียง)ควรไม่เกินเฉลี่ย 150 บาทต่อกิโลกรัม และไม่เป็นข้ออ้างให้การปรับราคาขายหน้าเขียง จนเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นของราคาอาหารจานด่วน และเพิ่มค่าใช้จ่ายให้ประชาชนในช่วงเปิดเทอม ดังนั้นเมื่อราคาหมูเท่าเดิมก็ไม่มีเหตุผลให้ต้องปรับราคาอาหารที่ใส่หมูเป็นวัตถุดิบ “นายสุรชัย กล่าว

นายสุรชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุมสมาคมฯยังมีมติให้จัดตั้งคณะกรรมการศึกษาและยกร่างพ.ร.บ.สุกรแห่งชาติ จุดประสงค์ยกระดับผู้เลี้ยงสุกรและพัฒนาฟาร์มเลี้ยงสุกรให้ได้มาตรฐานเท่ากันทั่วประเทศ โดยเรื่องนี้ได้หารือกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมผลักดันและขอความเห็นชอบจากรัฐบาลใหม่ ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะประชุมหารือและคัดเลือกกรรมการที่เป็นตัวแทนจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบในแนวคิดความร่วมมือสมาคมฯกับภาคเอกชนด้านสุกรจัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยในการเลี้ยงสุกร ซึ่งได้หารือกับสถาบันการศึกษาภายในประเทศแล้ว หากสามารถดำเนินการได้จะช่วยลดการพึ่งพานำเข้าจากต่างประเทศ และลดต้นทุนให้เกษตรกร ซึ่งแนวคิดทั้งสองนี้เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่เพื่อผลักดันต่อไป

“สมาคมฯมีแนวคิดที่จะดึงผู้เลี้ยงหมูตามชนบทและหมูเลี้ยงนอกระบบให้เข้ามาสู่มาตรฐาน ซึ่งมีกว่าครึ่ง การเสนอแผนออกพรบ.สุกร และตั้งโรงงานผลิตวัคซีนใช้เอง จะเป็นแนวทางดูแลสุกรไทยในระยะยาว ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแล มีอำนาจต่อรองในการพัฒนาสุกร รวมถึงกำหนดราคาหมูที่สอดคล้องทั้งระบบตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางผู้บริโภค เพราะที่ผ่านมาแม้มีพิกบอร์ดแต่ไม่ค่อยมีการประชุมหารือ หากมีคณะกรรมการผ่านพรบ.สุกรแล้ว จะทำให้การดำเนินการด้านต่างๆพัฒนาได้รวดเร็ว “นายสุรชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image