พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติ 2562 จะช่วยกู้วิกฤตหรือจะสร้างวิกฤตทางการศึกษา (ตอนที่ 1) โดย : เพชร เหมือนพันธุ์

ข่าวการประกาศใช้ พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติ 2562 ฉบับที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ มีจุดมุ่งหมายการทำงานคือ ทำการปฏิรูปการศึกษา แก้วิกฤตทางคุณภาพที่ตกต่ำของการศึกษาไทย ให้ดำเนินการและจัดทำข้อเสนอแนะ ตลอดจนร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา มีวาระ 2 ปี จะสิ้นสุดวาระในวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 นี้

ผลงานที่จับต้องได้และมาพร้อมกับสร้างความสับสนงุนงงสงสัยให้กับคนในวงการศึกษาไทยคือ ร่างพระราชกำหนดการศึกษาแห่งชาติ 2562 (พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติ 2562)

หลังจากที่ทุกคนก็ได้เห็นหน้าตาของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ที่มีทั้งหมด 103 มาตราแล้ว จึงเกิดคำถามว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้จะแก้ปัญหาวิกฤตทางการศึกษาหรือจะมาสร้างปัญหาฉุดการศึกษาไทยกันแน่ ความวิตกกังวลและไม่เห็นด้วยได้ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวต่อต้านไม่ยอมรับ พ.ร.ก.ในหลายองค์กรของกลุ่มวงการวิชาชีพครู เช่น สมาพันธ์ครูประถมศึกษาภาคอีสาน สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ชมรมอดีตผู้อำนวยการสามัญศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษา เป็นต้น

ปัญหาการศึกษาไทยมีคุณภาพตกต่ำตามที่คณะกรรมการที่ยกร่างฯ มีสาเหตุมาจากปัญหาหลักๆ ที่นำมายกร่าง พ.ร.ก.มีดังนี้

Advertisement

1) ปัญหาทางโครงสร้างของการบริหารจัดการการศึกษาของกระทรวงศึกษาที่กระจายเกินไป ขาดจุดศูนย์รวม (จำเลยที่ 1)

2) ปัญหาครูและผู้บริหารสถานศึกษาที่ไม่ขาดคุณภาพ ทำให้การศึกษาไม่มีคุณภาพ (จำเลยที่ 2)

3) ปัญหาเงินค่าวิทยฐานะของข้าราชการครู “ชำนาญการพิเศษและครูเชี่ยวชาญฯ” ที่เพิ่มสูงขึ้นมาตลอด แต่ไม่ได้ตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนให้ดีขึ้น (จำเลยที่ 3)

Advertisement

4) ปัญหาการจัดทำหลักสูตรการศึกษาที่ไม่ทันสมัย ปัญหาการจัดการเรียนการสอนและการวัดผลการประเมินผลการศึกษาที่ไม่เคยได้รับการพัฒนามายาวนาน ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามารับผิดชอบ (จำเลยที่ 4)

5) ปัญหาอื่นๆ (จำเลยที่ 5)

เมื่อ กอปศ.ได้ยกร่าง พ.ร.ก.เสร็จแล้ว ด้วยระยะเวลาที่จำกัดหรือเปล่าไม่ทราบ จึงไม่ได้มีการนำเสนอต่อสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียและได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง จึงทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในเนื้อหาและเกิดกระแสการต่อต้านจากองค์กรครูต่างๆ ทั่วประเทศ

ภาพในอนาคตที่จะเกิดหลังจาก พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติได้นำมาบังคับใช้ แยกวิเคราะห์ตามรายบางมาตรา 103 มาตรา มีดังนี้

ม.4 ในพระราชกำหนดนี้ได้ยกเอาคำจำกัดความมาเพียง 8 คำ ขาดคำที่ต้องการให้เปลี่ยนแปลงจริงๆ เช่นคำว่า ช่วงวัย ใบรับรองความเป็นครู เป็นต้น

ม.6 วัตถุประสงค์ในการพัฒนาบุคคล ได้กำหนดเป้าหมายการจัดการศึกษาว่า เน้นความเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ คุณธรรม วินัย และความภูมิใจในชาติ แต่ไม่ได้เน้นเป้าหมายทิศทางของผู้เรียนให้เป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น จีน สิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น ที่เขามีเป้าหมายการสร้างคนของเขาให้ไปเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) เด็กไทยที่เรียนจบมาตาม พ.ร.ก.นี้จึงเป็นได้เพียงลูกจ้าง (Employer) เหมือนอดีต

ม.8 มุ่งพัฒนาฝึกฝนคนตามช่วงวัย โดย พ.ร.ก.ฉบับนี้ได้แบ่งช่วงวัยผู้เรียนออกเป็น 7 ช่วงวัย คือ 1) วัยทารกแรกเกิด ถึง 1 ปี 2) วัยเด็กเล็ก 1 ปี ถึง 3 ปี 3) วัยอนุบาล 3 ปี ถึง 6 ปี 4) วัยประถมต้นและประถมปลาย (รวมกัน) อายุ 7 ปี ถึง 12 ปี 5) วัย ม.ต้น 12-15 ปี 6) วัย ม.ปลาย 16-18 ปี และ 7) วัยอุดมศึกษา อาชีวศึกษา หลัง 18 ปีเป็นต้นไป

ข้อสงสัย เมื่อก่อนเราแบ่งเป็นช่วงชั้น การแบ่งช่วงวัยเช่นนี้เพื่ออะไร และทำไมวัยประถมศึกษา “วัยประถมต้นและวัยประถมปลาย” จึงไม่แยกออกจากกันทั้งๆ ที่เด็กสองวัยนี้มีพัฒนาการที่แตกต่างกัน การแบ่งแบบนี้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กหรือไม่ การแยกตามช่วงวัยในเด็ก ม.ต้น กับเด็ก ม.ปลาย ออกจากกันนั้นชอบแล้ว เพราะเด็ก 2 วัยนี้มีพัฒนาการที่แตกต่างกัน

แสดงความเห็นร่วม ในสมัยก่อนเขาก็แบ่งเป็นชั้นเด็กเล็กให้ อบต.หรือเทศบาล หรือเอกชนดูแล ชั้นอนุบาลให้เอกชนและโรงเรียนประถมศึกษาดูแล ชั้น ป.ต้นและชั้น ป.ปลาย ควรต้องแยกให้ชัดเจนเช่นกัน ในชั้น ม.ต้น กับชั้น ม.ปลาย จึงจะเป็นไปตามพัฒนาการของเด็กและเป็นไปตามรูปแบบสากลนิยม

ข้อเท็จจริงครูไทยที่เรียนผ่านสถาบันผลิตครูที่มีวิชาชีพครู เขามีความรู้ในพัฒนาการของเด็กและเข้าใจจิตวิทยาของเด็กแต่ละช่วงวัยชัดเจนอยู่แล้ว เขาได้เรียนรู้จิตวิทยาพัฒนาการของเด็กมาจากสถาบันผลิตครู ดังนั้นการแบ่งช่วงวัยกับช่วงชั้น เช่น ใน พ.ร.ก.ฉบับนี้จะสร้างความสับสนและเกิดปัญหาในการปฏิบัติมากกว่า

ในระบบสากลนิยมเขาแบ่งนักเรียนออกเป็น ชั้นเด็กเล็ก (Nursery) ชั้นอนุบาล (Kindergarten) ชั้นประถมต้น (Primary) ชั้นประถมปลาย (Elementary) ชั้น ม.ต้น (Middle) ชั้น ม.ปลาย (Secondary, High School) ชัดเจน ซึ่งของเราก็ทำเช่นนั้นอยู่แล้ว เพียงแต่เวลาบริหารยังไม่ได้แยกขาดจากกันได้อย่างชัดเจนพอ

ในสมัยที่ผู้เขียนอยู่ที่อเมริกา รัฐ New York ปี 2539 ได้ไปเยี่ยมโรงเรียนแห่งหนึ่ง โรงเรียนเดียว มีครูใหญ่ 2 คน คนหนึ่งดูแลระดับประถมศึกษา อีกคนหนึ่งดูแลระดับมัธยมศึกษา แต่มีผู้ช่วยครูใหญ่เพียงคนเดียวทำหน้าที่ดูแลงานของครูใหญ่ทั้งสองคนและดูแลสำนักงานเลขานุการของโรงเรียนซึ่งมีเจ้าหน้าที่อยู่ 5 คน เจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่มีหน้าที่สอน ทำงานธุรการด้านต่างๆ เท่านั้น เช่น ด้านงบประมาณ อาคารสถานที่ กิจการติดต่อประสานงานผู้ปกครองชุมชน ด้านกิจการนักเรียน (เหมือนครู ส.บ้านเรา ส่วนจำนวนให้มีได้ตามขนาดโรงเรียน) การให้มีครูใหญ่ 2 คนในโรงเรียนเดียวกันนั้นแสดงว่าเขาให้ความสำคัญกับการบริการเด็กในแต่ละระดับช่วงชั้นเรียนที่มีวัยพัฒนาการที่แตกต่างกัน เป็นสำคัญ

การแบ่งการจัดการศึกษาเป็นช่วงวัยแบบนี้ ถ้าต้องการให้เป็นแบบสากลนิยมจริงๆ ทำไมไม่เปลี่ยนให้เป็นแบบสากลนิยมไปเลย ดังประเทศในโลกตะวันตกทำกัน เช่น เขาจัดระดับชั้นเรียนเป็นเกรด ตั้งแต่เกรด 1 – เกรด 12 ดังนี้ Grade 1 Grade 2 Grade 3 Grade 4 Grade 5 Grade 6 Grade 7 Grade 8 Grade 9 Grade 10 Grade 11 Grade 12เท่านี้จบครับ ไม่ต้องมาสับสนอีก

ส่วนการจัดช่วงชั้นก็จัดให้เป็นแบบระดับชั้นไปเลย เช่น ระดับชั้นเด็กเล็ก หรือศูนย์เด็กเล็ก (Nursery) ระดับชั้นอนุบาล (Kindergarten) จัดเป็นระดับชั้นอนุบาล 1, 2, 3, ระดับชั้นประถมศึกษา (Elementary, Primary,) จัดเป็นประถมต้น ประถมปลาย ระดับมัธยมศึกษา (Middle School, High school, Secondary School)

ม.13 วิธีจัดการการศึกษาของรัฐตั้งอยู่บนพื้นฐาน 12 ประการ ดังนี้…(1) …(2) …(3) …

…(10) การเลื่อนวิทยฐานะเลื่อนตำแหน่งครู ให้พิจารณาจากผลงานการปฏิบัติงานที่สะท้อนการพัฒนาความรู้ความสามารถของผู้เรียน ผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ ตาม ม.6 เป้าหมายตาม ม.8 และความสามารถในการเป็นครู

…(11) ต้องป้องกันหน่วยงานอื่นมาใช้แรงงานครูที่ไม่มีความเหมาะสม

…(12) ต้องมีแนวทางการประเมินโรงเรียนเพื่อเป็นการพัฒนา

หมายเหตุ ที่ยกมาตรานี้มาเพื่อจะให้เห็นว่ายังมีการเลื่อนวิทยฐานะอยู่นะ แต่ไม่มีรายละเอียด

ม.18 ประชาชนซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ใกล้โรงเรียนอาจรวมตัวกันเป็นคณะบุคคลเพื่อให้การส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ ให้คำเสนอแนะ อุดหนุน จัดการศึกษา เช่น เป็นสมัชชา สภา กลุ่ม หมู่คณะ ถ้ามีให้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ ถามว่าคณะกรรมการเหล่านี้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาอะไรบ้าง มีสายงานบังคับบัญชาอย่างไร มีคุณมีโทษต่อสถานศึกษาอย่างไร ไม่ชัดเจน เพราะเป็นคณะกรรมการอิสระ แม้ผู้ว่าราชการจังหวัดจะมีอำนาจเชิญประชุม ก็ไม่มีสายงานไปผูกพันกับสถานศึกษาโดยตรง จึงยากต่อการให้ความร่วมมือและการประสานงาน จะกลายเป็นยักษ์ไม่มีกระบอง ถ้าอยากจัดไว้ให้มีเป็นแบบสากลนิยมต้องให้มีสายงานที่เชื่อมโยงกันระหว่างองค์กรกับหน่วยโรงเรียน ดูตัวอย่างจากสมาคมหรือชมรมศิษย์เก่า (Alumni) หรือสมาคมครูและผู้ปกครอง (Parent Teacher Association : PTA) หรือคณะกรรมการสถานศึกษา (School Board) ที่องค์กรเขายังมีสายใยความสัมพันธ์กันอยู่จึงมีบารมีเข้าไปจัดการได้ถึงภายในโรงเรียนเพราะเขาเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียจริง (Stakeholder) นี้คือ 3 องค์กรหลักที่ค้ำจุนโรงเรียนในอเมริกา (ไม่ได้ต่อต้าน แต่อยากให้มีบารมี)

ม.22 ให้สถานศึกษาจัดให้มีคณะกรรมการสถานศึกษา (School Board) ทำหน้าที่กำกับเสนอแนะช่วยเหลือเพื่อให้การจัดการศึกษาบรรลุเป้าหมายตาม ม.8 และหน้าที่อื่นตามวรรคสอง (ทำไมไม่ระบุไปถึง ม.6 และ ม.7 ด้วย ไม่ทราบ) คณะกรรมการชุดนี้เคยมีมาแล้วใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับก่อน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็กๆ ต่างจากคณะกรรมการสถานศึกษา (School Board) ของอเมริกาที่ผู้เขียนเคยไปเห็นมา

คณะกรรมการสถานศึกษาของเขามีบทบาท มีอำนาจหน้าที่ต่อโรงเรียนมาก สามารถอนุมัติการจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนได้ ให้บรรจุครูได้ โรงเรียนไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำเขาสามารถย้ายผู้บริหารโรงเรียนได้

ม.23 ในแต่ละจังหวัดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดให้มีการประชุมร่วมกันของประธานคณะกรรมการสถานศึกษาตาม ม.22 โดยอาจเชิญหน่วยงานของรัฐ เอกชน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมเพื่อแลกเปลี่ยน เสนอแนะ แสดงความคิดเห็น หรือให้ข้อมูลข่าวสารที่เหมาะสมแก่การจัดการศึกษาในจังหวัดของตน ผลการประชุมเป็นได้เพียงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางปฏิบัติเท่านั้น ไม่มีอำนาจติดตามควบคุมกำกับ ไม่น่าจะได้ผลตามเป้าหมาย (ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นตำแหน่งยารักษาสารพัดโรค แต่บางครั้งกับมีปัญหาต่อโรงเรียนนะ)

ม.26 วิธีจัดสรรงบประมาณจากรัฐให้จัดสรรเป็นเงินอุดหนุนทั่วไป โดยไม่ต้องกำหนดวัตถุประสงค์บังคับไว้ (ข้อนี้เห็นด้วยอย่างยิ่ง)ม.29 ให้คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติออกระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างเป็นการเฉพาะ โดยให้ถือว่าสถานศึกษาเป็นหน่วยงานอื่นของรัฐ (ไม่วิพากษ์ ไม่แน่ใจ ไม่เข้าใจว่าหน่วยงานอื่นของรัฐเป็นอย่างไร เราจะต้องไปเสี่ยงภัยการจัดซื้อจัดจ้างกับนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจ หรือผู้มีอิทธิพล เพราะระเบียบใหม่นี้ได้เพียงใด)

ม.35 ให้สถานศึกษามีครูใหญ่ 1 คน รับผิดชอบงานบริหาร ให้มีผู้ช่วยครูใหญ่ตามความจำเป็นและเหมาะสม (ไม่ระบุจำนวน) ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เจ้ากระทรวงกำหนด ผู้ช่วยครูใหญ่ “อาจ” ตั้งจากผู้ที่มิใช่ครูก็ได้ โดยให้คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติมีแนวทางสรรหาคัดเลือกและพัฒนา (ตำแหน่ง ผอ. รอง ผอ.โรงเรียนหายไปเลย)

เพชร เหมือนพันธุ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image