โอกาสที่ยิ่งใหญ่..วิจัยหุ่นยนต์การแพทย์ที่เดนมาร์ก

ผม นายกฤษณพันธุ์ แย้มเกตุ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต มีโอกาสเดินทางไปฝึกทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยระดับโลกเป็นระยะเวลา 3 เดือน เนื่องจากวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มุ่งสร้าง Platform ใหม่ของโลกในศตวรรษที่ 21 ให้บัณฑิต โดยส่งนักศึกษาไปทำงานวิจัยทางด้านหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ที่ Southern Denmark University ประเทศเดนมาร์ก

นับเป็นเรื่องดี ที่ทางวิทยาลัยมีความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นเดนมาร์ก จึงมองเห็นโอกาสที่จะได้นำความรู้ตลอด 4 ปี ที่ได้รับจากวิทยาลัย ไปต่อยอดการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้บรรยากาศการทำงาน ทัศนคติ และการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ จึงตัดสินใจเข้าร่วมฝึกงานในมหาวิทยาลัยที่ประเทศเดนมาร์ก โดยได้เข้าร่วมในส่วนของ Embodied AI & Neurorobotics Lab, Centre for BioRobotics,The Maersk Mc-Kinney Moller Institute. และเป็นหนึ่งในทีมพัฒนาหุ่นยนต์ช่วยเหลือผู้สูงอายุในโครงการที่มีชื่อว่า SMOOTH (Seamless human-robot interaction for the support of elderly people)

ส่วนความรับผิดชอบจะอยู่ที่ส่วนของการโต้ตอบระหว่างผู้ใช้กับหุ่นยนต์ โดยจะนำโปรแกรม และบทสนทนาที่พัฒนาโดยทีมของมหาวิทยาลัยแฮมเบิร์ก (Universitat Hamburg) เยอรมัน มาพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อใช้งานร่วมกับทีมที่พัฒนาเรื่องการเคลื่อนที่ และการเรียนรู้เส้นทางการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์

Advertisement

โดยก่อนไป ได้เตรียมทบทวนความรู้เรื่อง Embodied AI, ภาษาC++ และ Python ที่ได้เรียนจากวิทยาลัย นอกจากนั้น ต้องศึกษาระบบปฏิบัติการหุ่นยนต์ (ROS) เพิ่มเติม รวมไปถึงโปรแกรมที่พัฒนาโดยทีมจากเยอรมัน โดยระหว่างที่ทำงานอยู่ที่เดนมาร์ก ได้เห็นการทำงานที่เป็นกันเอง การประชุมด้วยบรรยากาศที่สร้างสรรค์ และมีประสิทธิภาพ ความเคารพซึ่งกันและกัน น้ำใจ และมิตรภาพที่น่าประทับใจ

ส่วนตัวรู้สึกทราบซึ้ง และรู้สึกขอบคุณคณาจารย์ นำโดย รศ.นันทชัย ทองแป้น คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศ.ดร.ปรเมษฐ์ มนูญพงศ์ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นเดนมาร์ก สำหรับความรู้ และโอกาสอันยิ่งใหญ่ของชีวิต หลายคนเชื่อว่าโลกยุคใหม่ ความรู้สามารถหาได้จากที่ไหนก็ได้ ไม่ใช่แค่ในมหาวิทยาลัย แต่ส่วนตัวพบว่า การถ่ายทอดความรู้ที่สำคัญต่อชีวิต มาจากอาจารย์ที่จริงใจ บรรยากาศในการเรียนรู้ที่ดี ก็มาจากสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพ และขอบคุณครอบครัวที่สนับสนุนมาตลอด

ผมคิดว่าการมาใช้ชีวิตต่างแดน เป็นความท้าทายที่น่าค้นหา ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในที่แปลกใหม่ รวมถึง ภาษาท้องถิ่น ซึ่งวัฒนธรรมที่ต่างกัน ทำให้ได้เห็นอะไรที่แตกต่างหลากหลาย การได้มีเพื่อนชาวต่างชาติ ทำให้ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ อีกทั้ง การได้มาฝึกงานที่มหาวิทยาลัยในต่างแดน เลยทำให้พบเพื่อนที่มาจากทั่วทุกมุมโลก

Advertisement

สำหรับอนาคต คิดว่าการได้มาเรียน BME ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ทำให้มีช่องทางในการทำงานทั้งโรงพยาบาล บริษัทเอกชน หรือจะประดิษฐ์สร้างเครื่องมือแพทย์ก็ทำได้ และการได้มาฝึกงานที่เดนมาร์ก ยิ่งเป็นการเสริมสร้างความรู้ความสามารถให้ยิ่งขึ้นไปอีก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image