มะกันทุบ ‘หัวเว่ย’ เติมไฟ ‘สงครามการค้า’ ศก.โลกถดถอย

มะกันทุบ ‘หัวเว่ย’ เติมไฟ ‘สงครามการค้า’ ศก.โลกถดถอย

เพียงแค่ย้อนหลังไปก่อนหน้านี้เดือนเดียว นักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก ต่างตั้งความหวังกันไว้สูงมาก ว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ต้นปี 2561 ที่ผ่านมา จะได้ข้อยุติเลิกราซึ่งกันและกันอย่างเป็นทางการ

ในการพบหารือกันระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กับ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ในช่วงของการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศจี 20 ในตอนปลายเดือนมิถุนายนนี้

แต่เหตุการณ์ 2 เหตุการณ์เมื่อสัปดาห์เศษที่ผ่านมา ทำลายความคาดหวังดังกล่าวไปจนหมดสิ้น หลงเหลือเพียงความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้เท่านั้น

เพราะในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ดังกล่าว สหรัฐอเมริกาไม่เพียงแต่ประกาศขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรสำหรับการนำเข้าสินค้าจากจีนหลายรายการรวมมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ จากเดิม 10 เปอร์เซ็นต์ เป็น 25 เปอร์เซ็นต์ และสั่งการเตรียมขึ้นภาษีทำนองเดียวกันกับสินค้าอีกหลายรายการที่เหลืออีกรวมมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์ เป็น 25 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกัน

Advertisement

ซึ่งเท่ากับว่าสินค้าที่สหรัฐนำเข้าจากจีนมูลค่ารวมแต่ละปีกว่า 500,000 ล้านดอลลาร์ กำลังจะถูกขึ้นภาษีเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ทั้งหมดนั่นเอง

นอกจากนั้น ทรัมป์ยังออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจประธานาธิบดีภายใต้ภาวะฉุกเฉินด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจตามมาอีกฉบับ ซึ่งในทางปฏิบัติคือการปิดตลาดสหรัฐอเมริกาต่อบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีสื่อสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็น 1 ในบริษัทที่ประสบความสำเร็จระดับโลกของจีนอย่างหัวเว่ยลงโดยสิ้นเชิงด้วยอีกต่างหาก

ความเคลื่อนไหวของสหรัฐอเมริกาดังกล่าว ไม่เพียงส่งผลให้ทางการจีนประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของอเมริกันเพิ่มขึ้นอีก 60,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ยังเปิดช่องให้ทางการจีนหาทางเล่นงานบริษัทอเมริกันที่พึ่งพาตลาดจีนอยู่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นโบอิ้ง, ควอลคอมม์, อินเทล หรือเทสลา ได้ในที่สุด

Advertisement

สิ่งที่สร้างความกังวลให้กับนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์มากที่สุดจากกรณีนี้เป็นเพราะเหตุขัดแย้งทางการค้าระหว่าง 2 มหาอำนาจสูงสุดในเศรษฐกิจโลกยุคนี้ กำลังลุกลามขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนแทบกลายเป็นการทำสงครามการค้าระหว่างกันเต็มพิกัดเต็มสูบเข้าทุกทีแล้วนั่นเอง

การลุกลามครั้งล่าสุดของสงครามการค้าจีน-สหรัฐอเมริกา หนักหนาสาหัสขนาดนั้นจริงๆ ภายใต้สภาวะโลกาภิวัตน์ที่โลกเป็นอยู่ในเวลานี้

ในผลการศึกษาวิจัยใหม่ของบลูมเบิร์ก อีโคโนมิก ระบุว่า ผลลัพธ์จากความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดนี้จะทำให้ “กิจกรรมทางเศรษฐกิจ” ของทั้งโลกหายไปอย่างน้อยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์

แน่นอนผลกระทบที่หนักที่สุดย่อมตกอยู่กับสองคู่กรณีโดยตรง นั่นเกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่า 4 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าออกทั้งหมดของจีน เป็นการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ในขณะที่สหรัฐอเมริกาแม้จะส่งออกไปยังจีนน้อยกว่า แต่คิดเป็นสัดส่วนของหมวดสินค้าแล้วผลสะเทือนไม่ได้น้อยกว่านั้นมากมายเท่าใดนัก

อย่างเช่น 5.1 เปอร์เซ็นต์ สินค้าเกษตร (อาทิ ถั่วเหลือง, เนื้อหมู) ของสหรัฐอเมริกาส่งออกไปจีน และ 3.3 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตในหมวดโรงงานการผลิตก็ส่งออกไปจีน

ผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าเข้าใส่กันนั้น ส่งผลในสองทาง ทางหนึ่งนั้นเกิดกับผู้บริโภค ที่ต้องซื้อสินค้าแพงขึ้นเพราะผู้นำเข้าผลักภาระภาษีส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดให้กับผู้บริโภค

อีกทางหนึ่งเกิดขึ้นกับผลกำไรของบริษัทผู้ผลิต ที่ต้องการคงยอดขายสินค้าไว้ให้ได้ ก็จำเป็นต้องลดสัดส่วนกำไรลง เป็นการแบกรับภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นแทนผู้บริโภคอีกส่วนหนึ่ง

ในรายงานล่าสุดที่ธนาคารกองทุนสำรองแห่งรัฐสาขานิวยอร์กทำขึ้นร่วมกับมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและพรินซ์ตัน ระบุว่า คนอเมริกันต้องจ่ายภาษี (สินค้า) เพิ่มเพราะเหตุนี้ 3,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน และอีก 1,400 ล้านต่อเดือน เพราะผลกำไรของผู้ผลิตลดลง

ในจีนยังไม่มีใครศึกษาแต่ผลสะเทือนไม่ต่ำกว่าในสหรัฐอเมริกาแน่นอน มีแต่จะสูงกว่าด้วยซ้ำไป

ทั้งหมดนั่นอาจกลายเป็นภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้น ที่แน่นอนต้องกระทบต่อความต้องการสินค้าที่ต้องลดลงตามไปด้วยในทั้งสองประเทศ

ซึ่งในที่สุดอาจหมายถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้งในสหรัฐอเมริกา และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนอาจหลงเหลือเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ ต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปี

ปัญหาคือทุกอย่างไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ภายในสหรัฐอเมริกากับจีนเท่านั้น

เหตุผลหนึ่งก็คือ สงครามการค้า ทำให้การค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาชะลอลง หรืออาจถึงขั้นชะงักงันในที่สุด

ในเมื่อการค้าระหว่างสองประเทศนี้มีมูลค่ารวมกันคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 3 ของปริมาณการค้าทั้งโลก ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกย่อมคิดคำนวณได้ไม่ยาก

แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ผลกระทบที่สงครามการค้ามีต่อสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “โกลบอลซัพพลายเชน” ห่วงโซ่ซัพพลายต่อเนื่องถึงกันทั้งโลก สิ่งที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา อาศัยส่วนประกอบจากอีกหลายประเทศ เช่นเดียวกันกับผลผลิตของจีน ที่ยังต้องอาศัยชิ้นส่วนจากไต้หวัน, เกาหลีใต้, เวียดนาม และไทย

อะไรก็ตามที่ทำให้สินค้าของสหรัฐอเมริกาและจีนขายไม่ได้ ย่อมส่งผลสะเทือนต่อเนื่องออกไปทั่วโลกผ่านระบบโกลบอลซัพพลายเชนเช่นนี้ทั่วถึงกันทั้งหมด

ยิ่งไปกว่านั้น ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั้งในสหรัฐอเมริกาก็ดี ในจีนก็ดี สามารถส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ที่เป็นคู่ค้าของทั้งสองประเทศได้ไม่มากก็น้อย

ในกรณีของไทย นอกจากจะต้องระวังขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าที่ผลิตในประเทศ เมื่อต้องเผชิญกับสินค้าที่จีนและสหรัฐอเมริกา ต้องหันมาส่งออกให้กับประเทศอื่นๆ เป็นการชดเชยการส่งออกซึ่งกันและกันที่ลดลงแล้ว ยังต้องระมัดระวังเรื่องการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน และต้องเผชิญหน้ากับปัญหาในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แม้ผลกระทบจะจำกัดอยู่บ้างเพราะการส่งออกไปยังตลาดจีนนั้นยังมีปริมาณจำกัดก็ตาม

ผลกระทบในทางบวกในระยะยาวอาจอยู่ที่ภาคการเกษตรของไทย เช่น อุตสาหกรรมการผลิตมันสำปะหลัง ซึ่งจีนต้องการสูงเพื่อนำไปใช้ในการผลิตเอทานอล สำหรับโปรเจ็กต์ใหญ่ใช้เอทานอลในน้ำมันเชื้อเพลิง (อี10) ทั่วประเทศในปีหน้า พร้อมๆ กับการลดการนำเข้าเอทานอลจากสหรัฐอเมริกาลงทั้งหมด

หรือการนำเข้าถั่วเหลืองเพื่อผลิตอาหารสัตว์และน้ำมัน ก็อาจนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มขึ้นและราคาถูกลง เป็นต้น

แต่ที่ต้องคำนึงถึงไว้ตลอดเวลาก็คือ ทั้งหมดนั่นเป็นการดำเนินการภายใต้ภาวะแวดล้อมทั่วโลกที่ยากลำบากอย่างยิ่ง

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินเอาไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้และปีหน้าจะขยายตัว 3.3 เปอร์เซ็นต์ แต่นั่นเป็นการคาดการณ์ภายใต้สถานการณ์ที่ว่าสงครามการค้าจะยุติลงและเศรษฐกิจโลกจะกระเตื้องขึ้นในช่วงหลังของปีนี้

มอร์แกนสแตนลีย์ วาณิชธนกิจชื่อดัง เตือนเอาไว้ล่าสุดว่า ถ้าสหรัฐอเมริกากับจีนยังตกลงกันไม่ได้เรื่องสงครามการค้า

เศรษฐกิจโลกจะโตไม่ถึง 2.5 เปอร์เซ็นต์ ในปีหน้า

หรือพูดง่ายๆ ว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาเยือนแล้วนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image