คต.เตรียมรับมือสงครามการค้า หวั่นสินค้าจาก2ประเทศยักษ์ทะลักเข้าไทย

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า การรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน (เทรดวอร์) ที่ส่งผลกระทบจนทำให้การค้าทั่วโลกชะลอตัว ในส่วนของประเทศไทยจะต้องเตรียมมาตรการดูแลการทุ่มตลาด ในกรณีที่สินค้าจากจีนหรือจากสหรัฐทะลักเข้ามาไทย เพราะส่งออกหรือนำเข้าสินค้าระหว่างกันได้น้อยลง จะส่งผลกระทบต่อสินค้าของไทย โดยคต.มีอำนาจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ทุ่มตลาด) รวมทั้งที่ผ่านมาได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจับตาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีนที่นำเข้ามาในประเทศไทยว่ามีสินค้าชนิดใดถูกนำเข้ามามากเป็นพิเศษหรือไม่ โดยหากพบว่ามีการนำเข้ามามากจนผิดปกติก็อาจเป็นไปได้ว่า จะนำเข้ามาเพื่อสวมสิทธิ์เป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากไทย เพราะหากส่งออกจากจีนไปสหรัฐโดยตรงจะเสียภาษีถึง 25% โดยพ.ร.บ.ดังกล่าวหลังจากการปรับปรุงแก้ไขแล้ว จะทำให้คต.มีอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบโกดังและโรงงานผลิตของผู้ประกอบการได้

นายอดุลย์ กล่าวว่า สำหรับการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐ ขณะนี้ยังมีประเด็นที่อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมกัน 2 ประเด็นคือ เรื่องกฎหมายแรงงาน ที่สหรัฐต้องการให้ไทยอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ ซึ่งในส่วนนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงานที่จะต้องพิจารณาดำเนินการ แต่ที่ผ่านมาก็ทราบว่ามีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ไปจำนวนมาก รวมถึงเรื่องที่สหรัฐต้องการเปิดตลาดสุกร (หมู) ในไทย ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้พยายามเจรจากับไทยมาโดยตลอด แต่ไทยยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามมาตฐานของ Codex ที่ไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสุกร เพราะถือว่าเป็นสารอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่สหรัฐยืนยันว่าไม่มีอันตรายหากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งก็ต้องมีการสู้กันด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ต่อไ ทั้งนี้สหรัฐยังให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) กับไทย 3,500 รายการ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมี 11 รายการสินค้าที่ยกเลิกการให้สิทธิไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ยกเลิกไทยเป็นรายประเทศ เพราะเป็นการยกเลิกในรายสินค้าตามเงื่อนไข จึงไม่ได้มีความน่ากังวลมากนัก

“เทรดวอร์รอบนี้สร้างผลกระทบให้ตลาดซึมไปทั้งโลก ทำให้ต้องมีการหาโอกาสให้กับการส่งออกไทยเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้สินค้าที่ดูเหมือนจะได้เปรียบในการแข่งขันคือ กลุ่มอาหาร ผลไม้สด กุ้งแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์ยางพารา จึงจะมีการศึกษาหาโอกาสต่อไป สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอทีเอ) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2562 มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ รวมอยู่ที่ 18,039.03 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อยู่ที่ 76.89% เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 2.38% แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิเอฟทีเอ 16,745.54 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการใช้สิทธิจีเอสพี 1,293.49 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมตั้งเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ มูลค่าประมาณ 81,025 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% ซึ่งมั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image