กท.เกษตรฯ จับมือ GIZ เปิดตัวโครงการ Thai Rice NAMA หวังผลิตข้าวเบอร์ 5 เปิดตลาดข้าวรักษ์โลก

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ ได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือโครงการ Thai Rice NAMA ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 14.9 ล้านยูโร (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 600 ล้านบาท) จากรัฐบาลประเทศเยอรมนี รัฐบาลสหราชอาณาจักร รัฐบาลเดนมาร์ก และสหภาพยุโรป ผ่านโครงการ NAMA Facility มีระยะเวลาการดำเนินโครงการ 5 ปี (2561-2566) สำหรับดำเนินงานพัฒนาการผลิตข้าวของเกษตรกร จำนวน 100,000 ครัวเรือน ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2.8 ล้านไร่ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบการทำนาในปัจจุบันไปสู่ระบบการทำนาแบบยั่งยืน โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ขณะเดียวกันก็ยังเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้นด้วย ซึ่งย่อมเป็นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และขณะเดียวกันยังเพิ่มประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับจากประสิทธิภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง โครงการมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ 1.เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมแก่เกษตรกรทั้งการทำนาแบบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการผลิตข้าวที่ได้มาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน (Thai Rice GAP++) 2.เพื่อพัฒนาและขยายธุรกิจการให้บริการเทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการทำนา และ 3.เพื่อให้มีมาตรการจูงใจที่สนับสนุนให้ภาคการผลิตข้าวทั้งระบบเป็นไปในรูปแบบที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือโลกร้อน ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ นานาประเทศจึงให้ความสำคัญต่อการดำเนินการแก้ไขปัญหาหรือลดผลกระทบในเรื่องนี้ องค์การสหประชาชาติได้รณรงค์ให้ประเทศสมาชิกมีการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมและวัดผลได้ สำหรับประเทศไทย นายกรัฐมนตรีให้คำยืนยันในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ว่าไทยประกาศลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ พร้อมลดใช้พลังงานจากฟอสซิล และใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และหากได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ จะลดลงให้ได้ 25% ภายในปี 2573 ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ ที่ชัดเจนของประเทศไทยที่จะร่วมกับนานาประเทศ ในการดำเนินงานที่ลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถึงแม้ว่าเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย จะยังคงเป็นภาคพลังงานและการขนส่งเป็นอันดับแรก แต่ไม่ได้หมายความว่าภาคอื่นๆ ไม่ต้องคำนึงถึง ทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคเกษตร มีส่วนร่วมในการเตรียมความพร้อมและปรับตัวให้มุ่งสู่การสร้างนวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หากไม่มีการปรับตัว ผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะย้อนกลับทำให้เกิดภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง เป็นต้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและเกษตรกร และการพัฒนาประเทศในภาพรวม

นางสาวดุจเดือนกล่าวว่า การดำเนินการโครงการนี้จะมุ่งเน้นให้เกษตรกรรายย่อย มีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาแบบปัจจุบันไปสู่การทำนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพันธุ์ข้าวและเทคโนโลยีเฉพาะที่เหมาะสมกับพื้นที่ ทั้งการปรับพื้นที่ให้เสมอกัน การปลูกแบบเปียกสลับแห้ง การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การจัดการฟางและตอซังเพื่อลดการเผา และอื่นๆ ซึ่งจะประหยัดน้ำและลดน้ำท่วมในแปลงลง โดยโครงการจะมีการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียน และให้การฝึกอบรมเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยี การผลิตข้าวที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โครงการได้รับความร่วมมือจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ในการปล่อยสินเชื่อสีเขียวให้แก่ผู้ให้บริการเทคโนโลยีทางการเกษตร เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ โครงการจะให้การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ ในการกำหนดนโยบายและมาตรการสนับสนุนต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ รวมทั้งการพัฒนามาตรฐาน Thai Rice GAP++ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงตลาดและห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงการขยายผลในพื้นที่อื่นต่อไป

“จะเห็นได้ว่าโครงการนี้เป็นความร่วมมือบูรณาการระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และ GIZ และยังร่วมมือกับ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารกองทุน สำหรับหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯนั้น ไม่ได้มีเฉพาะกรมการข้าว แต่ครอบคลุมกรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน รวมทั้งจัดทำแผนธุรกิจร่วมกับภาคเอกชน ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ได้รับผลประโยชน์ที่เป็นเกษตรกรและผู้ให้บริการเทคโนโลยีจำนวน 454,200 คน โครงการมีพื้นที่เป้าหมายซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกแบ่งเป็น นาปรังประมาณ 2.8 ล้านไร่ และนาปีอีก 2.8 ล้านไร่ โดยคาดว่าจะได้ผลผลิตสูงสุดประมาณ 4 ล้านตันต่อปี” นางสาวดุจเดือนกล่าว

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image