นายจ้างลุ้นนโยบายรมว.แรงงานหลังขึ้นค่าจ้าง2-10บ.ค้างเติ่ง ส.อ.ท.ผวาพรรคร่วมหาเสียง

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวถึงสถานการณ์ค่าจ้าง ว่า ปัจจุบันการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างที่ค้างอยู่ คงจะต้องรอความเห็นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่ว่าจะมีนโยบายอย่างไร ซึ่งภาคเอกชนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ควรกำหนดกลไกแบบลอยตัวแทน แต่ยังคงมีค่าแรงอ้างอิงแบบขั้นต่ำไว้เพื่อดูแลผู้ด้อยโอกาส แทนการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำที่ต้องปรับขึ้นทุกปีเช่นปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากไทยอยู่ในภาวะที่ขาดแคลนแรงงานและแรงงานส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับสูงจึงควรมุ่งการขึ้นค่าแรงตามมาตรฐานฝีมือแรงงานให้มากขึ้น

“แรงงานไทยนั้นได้ค่าจ้างสูงเกินอัตราขั้นต่ำอยู่แล้วเพราะแรงงานไทย 60-70% มีการศึกษาระดับอุดมศึกษาหมด และหากมีฝีมือแรงงานและประสบการณ์ค่าแรงก็ได้รับสูงขึ้น ขณะที่แรงงานต่างด้าวมีกว่า 3 ล้านคนเมื่อปรับขั้นต่ำจะทำให้ฐานค่าจ้างทั้งระบบแปรปรวน และเมื่อไทยนั้นขาดแคลนแรงงานพอสมควร ตลาดจะมีการแข่งขันกันเพื่อดึงคนที่มีฝีมือมาทำงานด้วยอยู่แล้ว”นายธนิตกล่าว

นายธนิตกล่าวว่า อย่างไรก็ตามเมื่อเร็วๆนี้ได้ร่วมกับกระทรวงแรงงานลงพื้นที่เพื่อหารือกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสภาเกษตรกรแห่งชาติระดับจังหวัด ก็พบว่า แรงงานของไทยภาพรวมยังคงขาดแคลน และการนำอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปคิดรวมกับทุกภาคธุรกิจนั้นทำไม่ได้ โดยเฉพาะค่าแรงในภาคบริการไม่สามารถใช้กับภาคการเกษตร โดยเอกชนได้เสนอว่าควรแยกกฏหมายแรงงานออกจากกัน

นายธนิตกล่าวว่า ทั้งนี้ เดิมคณะกรรมการ(บอร์ด)ค่าจ้างกลาง กำหนดวาระการประชุมเพื่อพิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 แต่ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดเนื่องจาก นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้างได้ลาออกไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ลาออกไปเป็นส.ว.เช่นกัน ทำให้การพิจารณาการขึ้นค่าแรงยังคงค้างจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ได้มีการเสนอตัวเลขอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่จะปรับขึ้นไว้ 2-10บาทต่อวัน ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างจังหวัด ทั้ง 31 จังหวัดเสนอ ขณะที่อีก 46 จังหวัดปรับขึ้นในอัตรา 2 บาทต่อวัน โดยจังหวัดที่ได้รับการเสนอให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดที่ 10 บาทต่อวัน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และภูเก็ต ปรับขึ้น 7 บาทต่อวัน ได้แก่ สมุทรปราการ ส่วนชลบุรี , ระยอง ให้ปรับขึ้น 5 บาทต่อวัน

Advertisement

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า คงต้องติดตามนโยบายค่าแรงอีกครั้งหลังมีรัฐบาลใหม่ซึ่งคาดว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะมาจากโควตาของพรรคร่วม ซึ่งเอกชนกังวลว่าจะนำมาเป็นนโยบายหาเสียง โดยเห็นว่าควรจะเปลี่ยนไปสู่การลอยตัวมากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image