สทนช.แจงพร้อมรับมือน้ำหลาก หลังเหนือ-อีสานเจอฝนกระหน่ำแล้ว

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 6/2562 ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือ ติดตามแนวโน้มการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ สถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ในปัจจุบัน สภาพน้ำท่า รวมถึงการบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูฝน ปี 2562 ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ ทางสทนช.จึงได้เชื่อมโยงข้อมูลภายใต้ระบบฐานข้อมูลและรูปแบบเดียวกัน

“ซึ่งจากการวิเคราะห์ คาดการณ์สถานการณ์ฝนขณะนี้จากหน่วยงานที่เกียวข้อง พบว่า จะเริ่มมีฝนตกหนักตลอดสัปดาห์นี้บริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน อาทิ แพร่ และเชียงใหม่ เป็นต้น ที่จะเกิดฝนตกหนัก และมีภูเขาหัวโล้นอยู่มาก ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ และแจ้งเตือนพื้นที่ประสบภัยดินโคลนถล่มจากน้ำไหลหลากฉับพลัน โดยอ้างอิงข้อมูลปริมาณน้ำของของกรมทรัพยากรน้ำที่สถานีวัดน้ำฝนครอบคลุมกว่า 1,000 แห่ง ซึ่งต้องเฝ้าระวังตั้งแต่เดือนนี้ถึงมิถุนายนอาจจะเกิดผลกระทบได้ “นายสมเกียรติ กล่าว

นายสมเกียรติ กล่าวว่า จากการคาดการณ์แนวโน้มฝนตกภาพรวมจะมีปริมาณฝนไม่มากนัก จะตกหนักเพียงบางจุดและปริมาณฝนมากเป็นช่วงๆ โดยตั้งแต่ช่วงนี้ถึงกลางเดือนมิถุนายน จะตกหนักบริเวณภาคเหนือ ขณะที่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ก็จะเป็นภาคอีสาน และภาคกลางเล็กน้อย สถานการณ์ที่จะมีน้ำท่วมหนักๆ ก็ไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากแนวโน้มฝนน้อยกว่าปี 60- 61 รวมถึงแหล่งน้ำต่างๆ ยังสามารถรองรับปริมาณฝนได้อีกมาก โดยปริมาณน้ำในภาพรวมของประเทศในขณะนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมาถึง 5–6 พันล้านลูกบาศก์เมตร

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ดังนั้น เหตุการณ์ที่จะมีน้ำล้นสปริลเวย์โอกาสจะเกิดขึ้นได้น้อย ยกเว้นกรณีเกิดพายุ ซึ่งได้มีการคาดการณ์พายุก็คาดว่าจะเกิดในช่วงเดือนสิงหาคม–กันยายนประมาณ 1-2 ลูก ซึ่งสทนช.จะร่วมกันทำงานภายใต้ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติตลอด 24 ชั่วโมง คาดว่าศูนย์ฯจะเปิดในช่วงเดือนกรกฏาคม โดยจะทำงานสอดคล้องกับการป้องกันสาธารณภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)ควบคู่กันด้วย

Advertisement

“ประเด็นที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ คือ ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ โดยเฉพาะที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุ โดยเฉพาะในภาคอีสาน สทนช.จึงได้เน้นย้ำหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ติดตามสถานการณ์ฝนอย่างใกล้ชิด หากปริมาณน้ำฝนน้อยอาจสุ่มเสี่ยงน้ำไหลเข้าอ่างน้อยก็อาจจะกระทบกับปริมาณน้ำต้นทุนในอนาคตได้ ต้องประสานกรมฝนหลวงขึ้นปฏิบัติการช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกทางด้วย ” นายสมเกียรติ กล่าว

นายสมเกียรติ กล่าวว่า สำหรับข้อกังวลในเรื่องของสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงบางพื้นที่ในช่วงเดือนกรกฎาคมนั้น ที่ประชุมคาดการณ์ว่าในเขตชลประทานไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากช่วงนี้ได้เร่งเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ขณะที่ภาคเกษตรการปลูกพืชฤดูแล้งก็มีการเก็บเกี่ยวไปแล้วกว่า 90% มีการวางแผนการจัดสรรน้ำให้พ้นช่วงแล้งของหน่วยงานเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ขณะที่การเพาะปลูกข้าวในฤดูฝนก็มีการปลูกแล้วเกือบๆ 2 ล้านไร่ แต่ในพื้นที่นอกเขตชลประทานยังคงต้องมีการติดตามเฝ้าระวังเพื่อป้องกันผลกระทบอย่างใกล้ชิดด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image