สิทธิการเล่น : โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน, พจนา อาภานุรักษ์

พ่อแม่ใช้ไอแพดเลี้ยงลูกไม่ให้ซน
สร้างสมาธิสั้น ก้าวร้าว
เด็กติดเกมเป็นอาการป่วยทางสังคม
เด็กไม่ได้เล่นสัมผัสกับธรรมชาติ
และเพื่อนวัยเดียวกัน
สังคมก้มหน้า ขาดปฏิสัมพันธ์รอบด้าน

จากสภาพสังคมในปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก รูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปสู่การพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวก ควบคู่ไปกับการทำงานอย่างหนักของคนที่เป็นพ่อแม่เพื่อหารายได้มาซื้อความสะดวกสบายให้กับสมาชิกในบ้าน ส่งผลกระทบต่อวิถีการเลี้ยงลูกของที่ต้องยืมมือสมาร์ทโฟนเข้ามาทำหน้าที่พี่เลี้ยงเด็กในบางช่วงเวลา ทำให้เด็กในยุคปัจจุบันเติบโตมากับเพื่อนในจอที่สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา

สอดคล้องกับผลสำรวจจาก WEF Global press release ซึ่งได้สำรวจพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนไทยที่มีอายุระหว่าง 8 ถึง 12 ปี จำนวน 1,300 คนทั่วประเทศ ผ่านแบบสำรวจออนไลน์ DQ Screen Time Test พบว่าเด็กไทยใช้เวลากับหน้าจอท่องอินเตอร์เน็ต 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 3 ชั่วโมง โดยเข้าอินเตอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนสูงสุด 73%

ส่งผลให้มิติความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคลขาดหายไปจากความทรงจำของเด็กในยุคปัจจุบัน

Advertisement

จากข้อมูลการศึกษาการเล่นของเด็กในครอบครัวไทยเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ในพื้นที่ 5 ภาคของประเทศและเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,187 ครอบครัว พบว่าเด็กส่วนใหญ่ในเขตเมืองมีลักษณะการเล่นสร้างสรรค์มากที่สุด

ส่วนเขตชนบทเล่นใช้กำลังหรือออกแรงและส่วนใหญ่ส่งเสริมให้เด็กเล่นของที่มีอยู่ในธรรมชาติ ผู้ปกครองเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี มักเลือกซื้อลูกบอล หวังให้เด็กได้ออกแรงกล้ามเนื้อแขนขา ส่วนเด็กอายุ 3-6 ปีผู้ปกครองมักเลือกซื้อ ดินน้ำมัน เพื่อพัฒนาในเรื่องกล้ามเนื้อมือ โดยส่วนใหญ่คาดหวังต่อการเล่นของเด็ก คือ การส่งเสริมให้เด็กมีความคิดจินตนาการสร้างสรรค์ฝึกการสังเกตและรู้จักแก้ปัญหา

แต่ด้วยสภาพสังคมเปลี่ยนไป บีบคั้นให้ต้องมีการแข่งขันตั้งแต่เล็ก การเสริมสร้างพัฒนาการเด็กจึงมุ่งไปสู่การสร้างความสามารถด้านการอ่านเขียนในเชิงวิชาการ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของประเทศไต้หวันที่สำรวจความคิดเห็นของพ่อแม่ต่อการซื้อของเล่นเด็ก พบว่ามักซื้อของเล่นที่เน้นเรื่องวิชาการและการเสริมศักยภาพด้านการรู้หนังสือมากกว่าการให้เด็กได้เล่นตามอิสระ

Advertisement

ชี้ให้เห็นสถานการณ์การเล่นของเด็กในปัจจุบันเป็นปัญหาร่วมกัน คือ ไม่ปรากฏการสนับสนุนให้เกิดการเล่นที่ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

คำถามคือใครบ้างที่ต้องมีส่วนร่วมในการสร้างความทรงจำและประสบการณ์ให้กับเด็ก ทำหน้าที่จัดสรรกิจกรรม เวลา หรือพื้นที่ให้กับเด็กได้เล่นเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ เพื่อให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนคือที่มาของการสร้างสังคม การเล่นเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในวัยเด็กที่เป็นลักษณะการเล่นแบบไม่เป็นทางการจึงมีความสำคัญในแง่การส่งเสริมให้เด็กรู้จักการจัดวางความสัมพันธ์และจัดการอารมณ์ของตนเอง

ตัวอย่างเช่น หลายคนมีความทรงจำเกี่ยวกับการเล่นบทบาทสมมุติเป็นอาชีพต่างๆ เช่น เล่นขายของ พ่อแม่-ลูก ครู-นักเรียน การเล่นแบบแบ่งปันอุปกรณ์กันเล่น เช่น บอร์ดเกม แข่งรถ หรือการเล่นอื่นๆ ที่ต้องอาศัยการเล่นเป็นทีมหรือแข่งขันกัน

รูปแบบการเล่นเหล่านี้ต้องอาศัยปัจจัยด้านเวลาและพื้นที่ให้เด็กได้คิดออกแบบวิธีการเล่น ตกลงกติการ่วมกัน เป็นการจำลองการสร้างสังคมย่อยตั้งแต่วัยเยาว์ แต่ประเด็นปัญหาที่พบคือในปัจจุบันเด็กมีข้อจำกัดเรื่องการรวมกลุ่มกัน ความเป็นเพื่อนบ้าน ความปลอดภัยของพื้นที่ ด้วยสาเหตุจากวิถีชีวิตของพ่อแม่และความเป็นชุมชนที่ไม่เอื้อให้เด็กได้ใช้เวลาร่วมกัน กอปรกับพื้นที่ที่ไม่มีการจัดสรรอย่างเป็นทางการเพื่อการเล่นของเด็กโดยเฉพาะ

จากการลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษภายใต้โครงการพลังเด็กและเยาวชนสร้างสรรค์ : การสร้างพื้นที่การละเล่นพื้นบ้าน อำเภอพยุห์ นำโดยอาจารย์ ดร.ประจวบ จันทร์หมื่น ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบริการวิชาการด้านเด็กและเยาวชน มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ร่วมกับโดยภาคีเครือข่ายในจังหวัดศรีสะเกษ ทั้งหน่วยงานระดับอำเภอ ระดับท้องถิ่น โดยมุ่งผลักดันวาระ “สิทธิการเล่นของเด็ก” ให้เป็นวาระสำคัญของอำเภอพยุห์

โดยเริ่มจากกิจกรรมชวนเด็กๆ ระดมความคิดในประเด็นชนิดการละเล่นที่เด็กๆ มีประสบการณ์ รวมถึงวิธีการและอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการละเล่นนั้น โดยมีตัวแทนแกนนำเด็กและเยาวชน 4 ตำบลเข้าร่วมระดมความคิดเห็น ทำให้ได้ชุดข้อมูลการละเล่นพื้นบ้านที่มาจากตัวเด็กเอง

ดังเช่น การเล่นบักลี่ (ซ่อนแอบ) เฮือนน้อย (เล่นพ่อแม่ลูก) วิ่งว่าว (เล่นว่าว) ขาโถกเถก เป็นต้น ประกอบกับอาจารย์ ดร.ประจวบได้ศึกษาข้อมูลการละเล่นพื้นบ้าน “หมากซีบ้า” ที่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน 3 ช่วงวัย พาคนแก่ให้หวนคิดถึงวันเก่า พาคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจวัฒนธรรมการละเล่นท้องถิ่น

ด้วยรูปแบบการเล่นหมากซีบ้า จำเป็นต้องมีการใช้ร่างกายทุกส่วนในการยิงหมาก เป็นการละเล่นแบบทีมที่สามารถเล่นได้อย่างไม่จำกัดเพศและวัย อุปกรณ์ที่ใช้มีเพียงหมากที่ทำจากไม้ และพื้นที่สนามขนาด 3×5 เมตร ซึ่งถือว่าใช้พื้นที่ไม่มาก การแข่งขันจะเป็นรูปแบบการยิงหมากโดยใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายช่วยในการกำหนดระยะหมากก่อนการยิงทั้งหมด 27 ท่า (แต่ละท่าจะเรียกเป็นแม่ เช่น แม่สอยลอย แม่คอ แม่ตากแดด โดยชื่อแต่ละท่าใช้ภาษาถิ่นอีสานในการเรียก) เมื่อยิงครบท่าแล้ว จะตัดสินผลแพ้ชนะระหว่างทีม การละเล่นหมากซีบ้านี้ทำให้เห็นชัดเจนถึงความสำคัญของการมีพื้นที่กลางสร้างสัมพันธ์ชุมชน การมีพื้นที่สร้างความเป็นเพื่อนสำหรับเด็ก

และการมีพื้นที่เพื่อทำให้คนแต่ละช่วงวัยได้มีปฏิสัมพันธ์กัน พื้นที่ของการสื่อสารความคิดและความรู้สึกเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ซึ่งพื้นที่การเล่นแบบนี้ยังพบอยู่น้อยมากในประเทศไทย

จากข้อมูลงานวิจัยที่ผ่านมาและข้อมูลจากการลงพื้นที่ ชวนให้ผู้เขียนตั้งคำถามถึงสิทธิการเล่นของเด็กที่ถูกพรากไป ใครกันบ้างที่พรากสิทธิการเล่นนี้ไปจากเด็ก หรือเราต่างก็มีส่วนในการพรากประสบการณ์เหล่านี้ไปจากพวกเขา ด้วยการสนับสนุนให้เด็กรีบเร่งอ่านออกเขียนได้ พร้อมทั้งให้อำนาจกับพี่เลี้ยงจอสี่เหลี่ยมในการดูแลลูกหลานของเราเพียงเพราะเราไม่สามารถจัดสรรเวลากับเขาได้มากพอ

นอกเหนือไปจากนั้น ยังชวนตั้งคำถามไปถึงความรับผิดชอบต่อองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการจัดหาและตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องเล่นต่างๆ ในสนามเด็กเล่นว่ามีความเหมาะสมปลอดภัยกับชีวิตของเด็กมากน้อยแค่ไหน พื้นที่สาธารณะที่ลูกหลานของเราสามารถเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายยังมีอยู่จริงหรือไม่

คำถามนี้อาจจะต้องอาศัยหลายฝ่ายในการร่วมกันหาคำตอบ เพราะลำพังให้ครอบครัวซึ่งเป็นสถาบันที่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุดอาจจะไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้อย่างครบวงจร

อย่างไรก็ดี คงถึงเวลาแล้วที่เราต้องหันกลับมามองถึงการให้ความสำคัญกับเสริมสร้างต้นทุนด้านประสบการณ์ การฝึกทักษะการสร้างปฏิสัมพันธ์ และการให้เด็กได้มีเวลามากเพียงพอเพื่อค้นหาตัวตนของตนเอง ด้วยการคืนสิทธิการเล่นอย่างอิสระให้กับเด็ก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันวาระนี้ให้เป็นวาระสำคัญของสังคม

เพราะเด็กไม่สามารถเติบโตอย่างโดดเดี่ยวได้ หากแต่ต้องอาศัยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของเขา สู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

ยังไม่ช้าเกินไปในการคืนสิทธิการเล่นอย่างอิสระกับเด็กไทยทุกคนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ โอกาส และเวลาที่ถูกพรากไป

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน
พจนา อาภานุรักษ์
ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image