ซีพีคว้าไฮสปีดเทรน ปิ๋วอู่ตะเภา-เมืองการบิน กระทบลงทุนอีอีซี?

ซีพีžคว้าžไฮสปีดเทรนž
ปิ๋วžอู่ตะเภา-เมืองการบินž
กระทบลงทุนอีอีซี?

ถูกจับตามองอย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุนรวม 224,544 ล้านบาท เนื่องจากเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดนักลงทุนเข้าไปในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

แม้ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเปิดประกวดราคาจนได้ผู้ชนะ คือกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่มซีพี

โดยตั้งเป้าหมายจะลงนามในสัญญาเดือนมิถุนายน 2562 นี้ แต่ยังไม่แน่นอนว่าจะสามารถเดินหน้าโครงการได้ตามแผนหรือไม่ เนื่องจากตัวแปรสำคัญอีกอย่างที่ทำให้กลุ่มซีพีกระโดดเข้ามาลงทุนไฮสปีดเทรน เพราะมั่นใจว่าจะสามารถดึงโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่อีอีซีมาดำเนินการได้ ทั้งท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นความหวังในการสร้างรายได้ทดแทนไฮสปีดเทรนที่อาจจะต้องแบกรับภาระขาดทุนหรือยังไม่มีกำไรในช่วงเริ่มแรก

Advertisement

แต่แล้วก็ดูเหมือนจะพลาดเป้าทั้ง 2 โครงการ จนเกิดคำถามขึ้นมาว่า หากซีพีไม่ได้อีก 2 โครงการนี้จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเดินหน้าไฮสปีดเทรนต่อหรือไม่ และหากรถไฟเชื่อม 3 สนามบินไม่เกิด จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และจะทำให้เป้าหมายที่รัฐบาลพยายามผลักดันอีอีซีบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายได้จริงไหม

ในเรื่องนี้ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า กรณีเครือซีพีและพันธมิตรชนะการประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แต่ไม่ได้เมืองการบินอู่ตะเภานั้น ในมุมภาคเอกชนเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี เพราะผู้ชนะการประมูลแต่ละประเภทจะมีภาระผูกพัน ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดอยู่ในกรอบการลงทุน (ทีโออาร์) อยู่แล้ว และภายหลังการลงนามกับรัฐจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามความก้าวหน้าเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในอนาคต ดังนั้นไม่ว่าเอกชนใดจะได้ไฮสปีดเทรนหรือเมืองการบินก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ มีความเป็นมืออาชีพ ไม่มีเหตุผลที่จะทำให้การดำเนินโครงการต้องสะดุด

ทั้งนี้ การลงทุนในพื้นที่อีอีซี เมื่อมีความชัดเจน มีผู้ชนะการประมูลโครงสร้างพื้นฐาน จะสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศ ทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเกิดความมั่นใจในการเข้าลงทุนพื้นที่อีอีซี ทำให้เห็นภาพการเข้าลงทุนของเหล่าอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลพยายามเชิญ ออกไปชักจูงการลงทุน โดยการลงทุนดังกล่าวน่าจะเห็นภาพชัดเจนภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

Advertisement

อย่างไรก็ตามอีกประเด็นสำคัญในการสนับสนุนการลงทุนในอีอีซี คือความมีเสถียรภาพของรัฐบาล ที่จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องด่วนของนักการเมืองและ ส.ส.แต่ละพรรคที่เจรจากันอยู่

นอกจากนี้ภาคเอกชนยังติดตามด้วยว่า ผู้ที่เข้ามาเป็นรัฐบาลจะมีนโยบายในการผลักดันอีอีซีอย่างไร เพราะปัจจุบันก็มีองค์ประกอบครบแล้ว ทั้งกฎหมาย สำนักงานอีอีซี และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรัฐบาลใหม่น่าจะเห็นชอบตามแผนที่ลงทุนในปัจจุบัน แต่อาจมีการปรับแก้ในรายละเอียดอยู่บ้าง อาทิ ประเภทอุตสาหกรรม พื้นที่ลงทุนŽ นายสุพันธุ์ระบุ

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ความคืบหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซีที่มีอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่กำลังลงนามสัญญาและจะเริ่มการก่อสร้างเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 แม้ว่าจะล่าช้าออกไปบ้างจากที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะผลักดันโครงการในอีอีซีให้เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรก 2562 ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่เกิดขึ้นจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในจังหวะที่อาจจะมีความกังวลด้านเศรษฐกิจจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และไทยอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งการพิจารณาให้ความเห็นชอบนโยบายงบประมาณประจำปี 2563 อาจจะล่าช้าออกไป

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการขนาดใหญ่มูลค่าลงทุนกว่า 2.2 แสนล้านบาท ใช้ระยะก่อสร้างหลายปีกว่าจะแล้วเสร็จ แต่ช่วงการก่อสร้างจะเริ่มมีเงินหมุนเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจ และจะส่งผลดีต่อภาคการก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งหากโครงการก่อสร้างมีความคืบหน้าต่อเนื่องก็จะส่งผลให้เกิดความต้องการพัฒนาโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ทั้งที่อยู่อาศัย พาณิชย์ และอุตสาหกรรม ตามแนวทางการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งโดยรวมจะส่งผลดีต่อการลงทุนและส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจตามมา หากโครงการแล้วเสร็จจะทำให้เกิดระบบคมนาคมระบบรางสะดวกทั้งการเดินทางและการขนส่งสินค้า เพื่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศ

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ นักกลยุทธ์การลงทุนอิสระ ระบุว่า การที่กลุ่มซีพีไม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการเมืองการบินและท่าเรือแหลมฉบัง ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้โครงการอีอีซีไม่สามารถพัฒนาได้ตามเป้าหมายของภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมองว่าเป็นข้ออ้างของซีพีที่ต้องการได้ทั้ง 3 โครงการไว้ในมือมากกว่า โดยขณะนี้ซีพีชนะการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่อยู่ในมืออยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหากชนะอีก 2 โครงการจะทำให้การพัฒนาโครงการดีที่สุดและได้ตามเป้าหมายของภาครัฐ หรือแม้แต่โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินที่ซีพีได้มา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้อีอีซีพัฒนาได้ตามเป้าหมายของรัฐ เพราะขณะนี้เชื่อว่าน่าจะมีการประเมินผลตอบแทนของโครงการเรียบร้อยแล้ว

ซึ่งถ้าพูดง่ายๆ ก็ต้องบอกว่า หากซีพีได้ 2 โครงการ หรือทั้ง 3 โครงการมาอยู่ในมือก็จะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงมากกว่าที่จะมี 1 โครงการในมือเท่านั้นเอง ไม่ได้เกี่ยวว่าจะต้องเป็นเอกชนรายเดียวในการรับผิดชอบทั้ง 3 โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ เพราะความจริงแล้วเฉพาะโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินซีพีก็ทำเองคนเดียวไม่ได้ ต้องมีการร่วมทุนกับเอกชนอื่นด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มองว่าเป็นโครงการที่มีสิทธิขาดทุนในตัวเองอยู่แล้วแน่นอน เพราะต้องลงทุนใหม่ทั้งหมด และใช้เวลาในการคืนทุนนาน ซึ่งเชื่อว่าซีพีน่าจะรู้ถึงเหตุผลในส่วนนี้จึงอยากได้โครงการอื่นเข้ามา เพื่อช่วยให้คืนทุนเร็วมากขึ้นเท่านั้น แต่สิทธิอื่นที่นอกเหนือจากนี้ที่ซีพีจะได้ คือการเช่าพื้นที่ในการทำกิจกรรมอื่นอีกมากมาย ซึ่งมองว่าแค่พื้นที่ที่ซีพีได้สิทธิประโยชน์อยู่ในขณะนี้ก็มากเพียงพอกับการที่จะสร้างรายได้เข้าบริษัทแล้ว ทำให้การที่จะไปกวาดทั้งสนามบินทั้งท่าเรือมาด้วยนั้นไม่มีความจำเป็น ถึงแม้จะสามารถพัฒนาไปพร้อมกันได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าซีพีไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบพัฒนาทั้ง 3 โครงการแล้วอีอีซีจะไม่สำเร็จตามเป้าหมาย

โครงการเมืองการบินและแหลมฉบัง ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเอกชนรายเดียวในการรับผิดชอบ และมองว่าไม่ว่าเอกชนรายใดก็เข้ามาพัฒนาได้ ถ้าหากมีความสามารถมากพอ ผ่านคุณสมบัติที่ภาครัฐกำหนดทุกด้าน เพราะหากไม่สามารถทำได้ตามที่ทำสัญญากับภาครัฐไว้ก็ต้องโดนปรับและชดใช้ค่าเสียหายให้รัฐ ซึ่งคงไม่มีใครอยากเข้ามาเล่นเพื่อให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นแน่นอน

“ธรรมชาติของโครงการลงทุนพื้นฐานขนาดใหญ่ที่มีการเชื่อมต่อกันของทั้งรถไฟ เครื่องบิน และท่าเรือ มันจะเด่นและสำเร็จด้วยตัวเองอยู่แล้ว ส่วนหากโครงการนี้ไม่เป็นไปตามที่ภาครัฐคาดการณ์ไว้ ในส่วนของการที่ไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนได้นั้น คงต้องส่งคำถามไปยังภาครัฐว่ายังขาดการสนับสนุนหรือการอำนวยความสะดวกอะไรไปหรือไม่ แรงจูงใจ สิทธิประโยชน์ หรือแม้แต่สิทธิในการถือครองที่ดินไม่เพียงพอในการดึงดูดความสนใจของนักลงทุนหรือไม่ ซึ่งต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐในการพิจารณาว่าขาดอะไรไป อะไรที่ทำให้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ส่วนตัวไม่เชื่อว่าการที่เราลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานไปแล้วจะทำให้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หรือไม่ดึงดูดความสนใจของนักลงทุนต่างชาติเลยŽ” นายประกิตระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image