หลังเสือขึ้นยากลงยากปรากฏการณ์แห่งอำนาจในระบบ‘ราชการและการเมืองไทย’ โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดย่อมจะมีวิถีปฏิบัติหรือเส้นทางแห่งการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน แต่หนึ่งในมิติที่ทุกชีวิตอาจจะปฏิเสธได้คือความต้องการและด้วยความต้องการของมนุษย์นี่เองจึงสอดคล้องกับการที่อับราฮัม มาสโลว์ ได้เสนอทฤษฎีลำดับความต้องการแบบขั้นบันได 5 ขั้น ซึ่งประกอบด้วย ความต้องการด้านร่างกาย ด้านความมั่นคงปลอดภัย ด้านความรักและความเป็นเจ้าของ ด้านเกียรติยศชื่อเสียงและความภาคภูมิใจ และความสมบูรณ์ของชีวิต

จากความต้องการของมนุษย์ที่หลากหลายนั่นเองมนุษย์บางคนกลับนำมาซึ่งปัญหาหรือสิ่งที่มนุษย์พันธุ์เดียวกันไม่พึงประสงค์แต่ในทางกลับกันมนุษย์จำนวนมากกลับมุ่งมั่นในความดีงามเดินอยู่บนเส้นทางของความถูกต้องชอบธรรมภายใต้บริบทของความพอเพียง

อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงความต้องการของมนุษย์หรือคนนั้นในมิติของบทความนี้จะนำเสนอในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้คนบางคน บางกลุ่มที่เมื่อมีโอกาสเข้าสู่อำนาจไม่ว่าจะอยู่ในบริบทของผู้ที่เป็นข้าราชการ ภาคเอกชน หรือในแวดวงการเมืองหลายคนหลายกลุ่มมักจะเสพติดกับตำแหน่ง ทั้งนี้ เพราะอาจจะมองว่าตำแหน่งที่จะได้หรือได้มานั้นเป็นสิ่งที่น่าพิสมัย

เหตุและผลของการแสวงหาตำแหน่งแต่ละคนจะนิยามหรือแนวคิดตลอดจนข้ออ้างที่แตกต่างกันไป อาทิบ้างก็เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม บ้างก็เพราะมีผู้สนับสนุน บ้างก็ว่าในห้วงเวลานี้ไม่มีใครเหมาะหรือจะดีเท่าและ ฯลฯ ต่อกรณีนี้หากมองย้อนกลับไปในอดีตของสังคมไทยไม่ว่าผู้ที่แสวงหาตำแหน่งทางราชการหรือการเมืองมีทั้งผู้ที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญและมีทั้งผู้ที่ไม่สามารถยืนอยู่ได้ในสังคมผสมผสานกันไป

Advertisement

คำกล่าวที่ว่า “ได้ครับพี่ดีครับผมเหมาะสมครับท่าน” วลีดังกล่าวจะเกิดจากกลุ่มคนที่เป็นลิ่วล้อ หรือพวกสอพลอซึ่งมีประโยชน์แอบแฝงหรือประโยชน์ทับซ้อนอยู่เบื้องหลัง กลุ่มคนหรือพวกที่เปรียบเสมือนมือที่มองไม่เห็นเหล่านี้จึงถือได้ว่าเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อให้คนอื่นชักใยอยู่เบื้องหลัง

ผู้บริหารในองค์กรภาครัฐหรือแวดวงการเมืองทั้งผู้ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ตำแหน่งหรืออำนาจตลอดจนผู้มีบทบาทหน้าที่ซึ่งนั่งอยู่ในตำแหน่งด้วยการบริหารจัดการมาอย่างยาวนานการดำเนินการของบุคคลทั้งสองกลุ่มจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามอาจจะสอดคล้องกับคำเปรียบเปรยที่ว่า “ขี่หลังเสือยากจะลง” ในประเด็นนี้ฉีหู่หนานเซี่ย ผู้แปลนิยายจอมนางคู่บัลลังก์ได้ให้ความหมายไว้ว่าขี่อยู่บนหลังเสือไปแล้วหากลงมาก็จะถูกเสือกินทำให้จำต้องขี่ต่อไปแม้ไม่อยากจะขี่

ในกรณีนี้หากวิเคราะห์ในมิติของเหตุและผลอาจจะมองได้ว่าเป็นการเปรียบเปรยถึงประเด็นที่ว่าเมื่อเรื่องราวได้ดำเนินไปครึ่งหนึ่งแล้วพบเจออุปสรรค แต่ก็ถูกสถานการณ์บีบให้ต้องดำเนินการต่อไปจนถึงที่สุดโดยไม่อาจหยุดยั้งลงกลางคันได้ ซึ่งจากกรณีดังกล่าวหากไปศึกษาเส้นทางชีวิตของผู้นำภาครัฐและทางการเมืองมีหลายกรณีที่เป็นปรากฏการณ์ให้พบเห็นในบริบทของความต่างบนความเหมือนซึ่งสามารถพบเห็นทั้งในสังคมไทยและต่างประเทศอยู่เนือง

Advertisement

เมื่อกล่าวถึงบุคคลหรือกลุ่มที่ขึ้นหลังเสือแล้ววันนี้เชื่อได้ว่าไม่ว่าข้าราชการหรือผู้ที่อยู่ในสังคมการเมืองบางคนอาจจะกำลังครุ่นคิดหรือพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลว่าสำหรับตนเองนั้นด้วยสถานการณ์ที่ผ่านมาหรือกำลังเผชิญอยู่สมควรที่จะไปต่อหรือเพียงพอแค่นี้

เมื่อกล่าวถึงคำว่าจะไปต่อหรือพอเพียงสำหรับผู้มีอำนาจในตำแหน่งต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในระบบราชการบางคนวันนี้อาจจะยังไม่เพียงพอเพราะด้วยอำนาจและผลประโยชน์ที่กระจายอยู่รอบด้านคนกลุ่มนี้คำว่าพอเพียงหรือเพียงพออาจจะไม่อยู่ในหลักคิดตัวอย่างเช่นในบางองค์กรระเบียบหรือข้อบังคับกำหนดให้สามารถดำรงตำแหน่งได้ตามที่กำหนดแต่ด้วยการเสพติดหรือยากที่จะลงจากหลังเสือจึงแสวงหาช่องทางด้วยกลอุบายที่แยบยลเช่นการสร้างทายาทเพื่อประโยชน์และอำนาจที่จะก้าวเดินไปด้วยกัน

สําหรับผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารกิจการบ้านเมืองสำหรับในระบบรัฐสภาที่เป็นไปตามครรลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยถ้าบุคคลเหล่านั้นคิดเพียงว่าตนเองเกิดมาชาตินี้ได้ตอบแทนแผ่นดินและรับใช้บ้านเมืองมาพอสมควรแล้วถ้าจะพอก็อาจจะเป็นสิ่งดีที่สุดสำหรับตนเองก็ว่าได้ แต่ถ้าเขาเหล่านั้นยังมีเหตุและผลที่ไม่อาจจะ “พอได้” ก็ถือได้ว่านั่นเป็นเหตุและผลส่วนตัวที่จะดำเนินการไม่ว่าจะเพื่อประโยชน์ของประชาชนหรือประเทศชาติก็ตาม

แต่หนึ่งในมิติของตัวอย่างผู้นำที่โลดแล่นหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามที่สามารถก้าวลงจากหลังเสือได้อย่างสง่างามคือ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ 2 แผ่นดินในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นถือได้ว่าท่านเป็นผู้นำที่สังคมไทยและนานาชาติให้การยอมรับในเชิงประจักษ์เป็นอย่างมากท่านหนึ่ง

และเมื่อเข้ามาบริหารกิจการบ้านเมืองภายใต้บริบทของความซื่อสัตย์สุจริตจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์โดยที่ไม่มีพวกพ้องและผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยระเวลาที่ยาวนานถึง 8 ปี 5 เดือน แต่ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะที่ควรคำกล่าวที่ว่า “ผมไม่มีความทะเยอทะยานทางการเมือง” และ “8 ปี 5 เดือนผมพอแล้ว” จากการที่พลเอกเปรมท่านได้แสดงออกให้เห็นถึงความพอเพียงและเพียงพอน่าจะเป็นต้นแบบให้คนรุ่นหลังโดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองจะได้นำไปเป็นวัตรปฏิบัติและไม่ต้องกลัวที่จะก้าวลงจากหลังเสือ

เมื่อกล่าวถึงข้าราชการและผู้ที่อยู่ในแวดวงการเมืองแล้วก็ต้องไปที่แวดวงธุรกิจที่มีนักบริหารมืออาชีพและเป็นมหาเศรษฐีติดอันดับโลกเขาคือ “แจ๊กหม่า” ประธานบริษัทอาลีบาบาผู้ซึ่งมีความพอเพียงเมื่อบริหารจัดการธุรกิจจนประสบความสำเร็จสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติมีชื่อเสียงไปทั่วโลก จนถึงเวลาที่สมควรเขาพร้อมที่จะก้าวลงจากหลังเสือได้อย่างสง่างามด้วยเหตุผล จะเบนเข็มไปทำงานการศึกษาและการกุศล หันไปทุ่มเทให้กับมูลนิธิ แจ๊กหม่า ฟาวน์เดชั่นเพื่อพัฒนาการศึกษาโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล

ที่น่าสนใจกับการยุติบทบาทหรือการลงจากหลังเสือของการเป็นผู้นำธุรกิจระดับยักษ์ใหญ่ของโลกนิวยอร์ก ไทม์ส รายงานการสัมภาษณ์ของแจ๊กหม่าไว้อย่างน่าสนใจความตอนหนึ่งว่า “การลาออกดังกล่าวนั้นไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งยุคใหม่ ผมมีความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมในทีมงานของผมและหุ้นส่วนผมเลยคิดว่าในอีกไม่นานผมจะกลับไปสอนหนังสือนี่เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าตัวเองทำได้ดีกว่าการเป็นซีอีโอของอาลีบาบา”

วันนี้โลกแห่งการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล นวัตกรรมที่กระจายเข้าสู่สังคมนับวันจะมากขึ้นตามลำดับไม่ว่าจะก้าวผ่านเทคโนโลยีหรือบุคคลที่ถือได้ว่าเป็นคลื่นลูกใหม่จึงเป็นหนึ่งในมิติที่ผู้นำทั้งปวงในทุกสาขาอาชีพพึงสังวรณ์เพื่อจะได้นำไปเป็นหลักคิดสำหรับการกำหนดทิศทางอนาคต และเพื่อทางรอด ทางเลือกที่ดีงามที่สุดสำหรับตนเองและครอบครัว

ซุนวู นักปราชญ์ผู้เยี่ยมยุทธ์เคยกล่าวไว้ว่า “รู้เขารู้เรารบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” คำกล่าวนี้คงจะเป็นหนึ่งในทฤษฎีหรือวิธีคิดของผู้นำที่ชาญฉลาด การก้าวลงจากหลังเสือเมื่อถึงวาระอันสมควร จึงถือได้ว่าหลังเสือเมื่อขึ้นได้ก็ต้องลงได้ และเมื่อลงแล้วผู้นำที่แกร่งกล้ามีความซื่อสัตย์สุจริตไม่มีกลิ่นหรือชนักปักหลังติดตัวบุรุษผู้นั้นย่อมไม่กลัวเสือกัดหรือต้องเผชิญกับสภาวการณ์ที่พึงจะประสบแต่อย่างใด

เหนือสิ่งอื่นใดผู้นำหรือผู้กล้าต้องน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยในมิติแห่งความพอเพียงความตอนหนึ่งว่า

“พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ต้องไม่เบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง” (พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2541)

คำพ่อสอนจึงถือได้ว่าเป็นเทียนชัยที่คนไทยทุกภาคส่วนควรนำไปเป็นแสงสว่างแห่งการดำเนินชีวิตและปฏิบัติหน้าที่ ยิ่งผู้นำในองค์กรภาครัฐและแวดวงการเมืองด้วยแล้วเมื่อถึงเวลาแห่งความพอเพียงและเพียงพอก็ถือได้ว่านี่คือสัจธรรมที่ควรน้อมนำไปสู่การปฏิบัติ

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image