‘โคสเตอร์’ 20 ที่นั่ง บุกตลาดรถตู้ เกียร์ธรรมดา 1.96 ล้าน : โดย นายพล

ถือเป็นการรุกคืบไปอีกขั้นของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เมื่อเห็นช่องว่างตลาดรถโดยสารไม่เล็กไม่ใหญ่ หรือขนาดกลาง ยังมีความต้องการกลุ่มนี้อีกค่อนข้างมาก

ค่ายโตโยต้าจึงอาศัยจุดแข็งในการผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ โดยเฉพาะรถตู้ เปิดตัว รถโดยสารอเนกประสงค์ โคสเตอร์ (Coaster) วางเป้าหมายให้เป็นรถที่ออกแบบห้องโดยสารให้กว้างขวาง สะดวกสบาย และความปลอดภัยของผู้โดยสาร

โตโยต้าพยายามแสดงให้เห็นว่า ต้องการตอบสนองนโยบายภาครัฐ เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางในรถโดยสารสาธารณะ

นอกจากนี้ ยังตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่กำลังมองหารถโดยสารอเนกประสงค์ เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจการเดินทาง อาทิ ธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรม หากใครเคยเดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น อาจจะเคยได้ใช้บริการรถโดยสารประเภทนี้ เวลามารับที่สนามบินเพื่อไปท่องเที่ยวสถานที่ต่างๆ

Advertisement

นอกจากนี้ โคสเตอร์ ยังเน้นกลุ่ม รถโดยสารรับ-ส่ง รถใช้ในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เป็นต้น

พูดง่ายๆ ว่างานนี้ โตโยต้าพุ่งเป้าหมายไปยังบรรดาภาคธุรกิจต่างๆ รวมถึงหน่วยงานราชการเป็นหลัก ไม่ใช่ลูกค้าส่วนบุคคลเหมือนที่ผ่านมา แต่ถ้าบ้านไหนเป็นครอบครัวใหญ่ มีจำนวนสมาชิกเยอะ ก็อาจจะซื้อเอาไว้ขนคนขนของได้

โตโยต้า โคสเตอร์ ออกจำหน่ายครั้งแรกในปี 1963 ในชื่อ ไลท์ บัส (Light Bus) สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 20 คน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นโคสเตอร์ ในปี 1969 พร้อมกับเปลี่ยนงานออกแบบเล็กน้อย และใช้ชื่อนั้นมาตลอด มีจำหน่ายใน 110 ประเทศทั่วโลก มียอดขายสะสมทั้งหมดมากกว่า 550,000 คัน

รถโดยสารอเนกประสงค์ โคสเตอร์ (Coaster) ประกอบและนำเข้าจากญี่ปุ่น ดีไซน์ภายนอกให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ภายในห้องโดยสาร เน้นความกว้างขวางสะดวก มาพร้อมกับจำนวนที่นั่งผู้โดยสาร 20 ที่นั่ง และระบบปรับอากาศทุกที่นั่ง กระจายความเย็นสบายได้ทั่วถึง

เพิ่มความสะดวกและปลอดภัยในขณะก้าวขึ้น-ลงในเวลากลางคืนด้วยไฟส่องสว่างบันไดข้าง

นอกจากนี้ ยังติดตั้งระบบความปลอดภัย อาทิ ระบบเบรกเอบีเอส (Anti-lock Braking System) ป้องกันล้อล็อกและลื่นไถล สามารถหลบเลี่ยงสิ่งกีดขวางได้เมื่อรถเบรกกะทันหัน

ระบบควบคุมการทรงตัว วีเอสซี (Vehicle Stability Control) ควบคุมรถให้ทรงตัวอย่างมั่นคงแม้ในทางโค้งหรือถนนเปียกลื่น

ระบบป้องกันการเหยียบคันเร่ง ล็อกคันเร่งอัตโนมัติ ป้องกันรถเคลื่อนที่ ขณะที่ประตูผู้โดยสารปิดไม่สนิท

ถุงลมเสริมความปลอดภัย 2 ตำแหน่ง สำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า พร้อมเข็มขัดนิรภัย 3 จุด ทุกที่นั่ง

เพิ่มความปลอดภัยอีกขั้นในการโดยสารด้วยโครงสร้างแชสซีส์และเหล็กกันโคลงหน้า-หลัง โครงสร้างตัวถังพร้อมคานเสริมนิรภัยออกแบบพิเศษให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อปกป้องผู้โดยสารจากการชน

ดีไซน์ภายนอก กระจังหน้าและกันชนหน้า ออกแบบให้มีเอกลักษณ์เน้นกลมกลืน ชุดไฟหน้าพร้อมไฟตัดหมอกขนาดใหญ่ ชุดไฟท้ายพร้อมไฟเบรก

สิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ กระจกมองมุมด้านหน้าและมองหลัง ลดจุดอับสายตาสำหรับผู้ขับขี่ ทั้งขณะเดินทางและจอดรถ หน้าต่างบานใหญ่รอบคัน ไฟส่องสว่างบันไดข้าง ระบบปรับอากาศทุกที่นั่ง

ระบบความปลอดภัย ได้แก่ ระบบป้องกันการเหยียบคันเร่ง โดยจะล็อกคันเร่งอัตโนมัติ ป้องกันรถเคลื่อนที่ขณะประตูผู้โดยสารปิดไม่สนิท ระบบประตูไฟฟ้าพร้อมสัญญาณเตือน และป้องกันการหนีบ (Jam Protection) ไฟแสดงตำแหน่งตัวรถด้านข้าง ประตูทางออกฉุกเฉินด้านหลัง เปิดออกง่ายทั้งจากด้านนอกและด้านใน เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร

เครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรล 4.0 ลิตร กำลังสูงสุด 100 กิโลวัตต์ (136 แรงม้า) ที่ 3,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 353 นิวตัน-เมตร ที่ 1,600 รอบ/นาที

รถโดยสารอเนกประสงค์ โคสเตอร์ มีจำหน่ายรุ่นเดียวคือรุ่น 4.0 M/T เกียร์ธรรมดา 1,960,000 บาท

แม้ว่าจะดูโบราณ เพราะดันเลือกรุ่นเกียร์ธรรมดานำเข้ามาจำหน่ายในบ้านเรา แต่เชื่อว่าในอนาคตคงต้องมีรุ่นเกียร์อัตโนมัติเร็วๆ นี้ เพราะในต่างประเทศ โคสเตอร์มีให้เลือกมากกว่านี้ และแน่นอนว่าราคาก็คงกระโดดขึ้นไปเป็นคันละ 2 ล้านกว่าบาท ตามสไตล์โตโยต้า

แต่ถึงที่สุด “โคสเตอร์” ก็คงได้รับความนิยมไม่น้อย เพราะมาเติมเต็มรถโดยสารประเภทนี้ยังไม่มีคู่แข่งชัดเจน แถมมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มรถตู้โดยสารเดิม ทั้งแบบประจำทางและไม่ประจำทาง กำลังจะถูกทางราชการห้ามวิ่งใช้เป็นรถยนต์โดยสารสาธารณะ เพราะมีปัญหาเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้โดยสารออกไม่ได้

โคสเตอร์จึงจะมาตอบโจทย์ในเรื่องนี้ เพราะมีประตูหลัง

แต่ยังไม่ใช่สูตรของความสำเร็จ เพราะยังคงมีข้อกังขาในเรื่องราคา จนกว่าโตโยต้าจะเปิดไลน์ผลิตในประเทศ เพื่อทำให้ภาษีลดลง เป็นเจ้าของได้ง่ายกว่านี้

นายพล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image