เสาตะลุงกถา…โดย เฉลิมพล พลมุข

ชีวิตของความเป็นคนหรือมนุษย์ย่อมจักต้องเกี่ยวข้องกับความเชื่อ ประเพณีวัฒนธรรม ศาสนาและกฎหมายของบ้านเมืองอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ เนื่องด้วยสิ่งเหล่านั้นต่างมีอิทธิพลต่อชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม ในระบบการศึกษาเริ่มตั้งแต่ปฐมวัยไปจนกระทั่งถึงระดับบัณฑิตศึกษาต่างก็มีวิชา หลักสูตร เอกสาขาคณะที่ต้องศึกษาศาสตร์ดังกล่าวเป็นการเฉพาะด้าน อาทิ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรมศึกษาและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง

เสาไม้ตะลุงหัวขาดได้เป็นประเด็นหนึ่งของสังคมไทยโดยเฉพาะได้เกิดขึ้นแห่งเมืองมรดกโลกพระนครศรีอยุธยา ชาวบ้านส่วนหนึ่งของเพนียดคล้องช้าง ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ออกมาประท้วงเรียกร้องขอให้ยกเลิกเสาตะลุงหัวขาดต่อหน่วยงานของรัฐกรมศิลปากร อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยผู้นำของชุมชนได้ออกมาทักท้วงถึงการบูรณะที่มิได้ฟังเสียงหรือความคิดเห็นทำความเข้าใจกับชาวบ้านและพลเมืองในเมืองแห่งความเป็นมรดกโลก การบูรณะที่มีเสาไม้หัวขาดดูเสมือนว่าจะทำให้รั้วเสาไม้ที่ใช้ในการคล้องช้างตามโบราณราชประเพณีเปลี่ยนไป… (มติชนรายวัน 29 พฤษภาคม 2562 หน้า 11)

ในเรื่องราวดังกล่าว น.ส.สุกัญญา เบานิด ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้ให้เหตุผลถึงการบูรณะดังกล่าวที่ว่า ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้พบหลักฐานเป็นภาพถ่ายของชาวต่างชาติที่บริเวณล้อมนอกของเพนียดคล้องช้าง มีเสาตะลุงไม่มีหัวมีลักษณะเหมือนเสาไม้มาปักไว้ จนมาถึง พ.ศ.2500 ได้มีการบูรณะเพื่อประกอบพิธีคล้องช้างในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 หลังจากนั้นได้มีการบูรณะเพิ่มเติมต่อมาในปี พ.ศ.2530, 2550, 2561 โดยได้ยึดถือตามหลักฐานในประวัติศาสตร์…

Advertisement

เสาตะลุงในความหมายก็คือ ไม้ท่อนกลมหัวเสากลึงเป็นรูปหัวเม็ดทรงมัณฑ์ ปักเป็นหลักคู่หนึ่งสำหรับล่ามช้างหรือผูกช้างเครื่องยืนแท่น เสาตะลุงโบราณได้เขียนเป็น จรลุง หรือจลุง เช่น แท่นที่สถิต จรลุงโสภิต พื้นฉลักฉลุทอง (ดุษฎีสังเวย) จลุงอาศน์เบญพาศเกลี้ยงเกลา พเนกพนักน่าเนา จะนอนก็ศุขสบไถง ซึ่งในบทกลอนจะใช้ จระลุง

เมื่อเดือนพฤษภาคม ของปีที่แล้วที่หมู่บ้านช้างเพนียดหลวง บริเวณศาลประกำ นายลายทองเหรียญ มีพันธ์ ประธานชมรมคชบาลและเจ้าของวังช้างอยุธยาแลเพนียด ได้จัดให้มีพิธีบูชาศาลประกำ มีหมอช้างจากจังหวัดสุรินทร์ ชัยภูมิไปร่วมพิธีบวงสรวงและถอนเสาตะลุงโดยมีพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพราหมณ์หลวง อ่านโองการบูชาเทพยดา พระเทวกรรมสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขออนุญาตถอนเสาตะลุงโดยมีการเสี่ยงทายคางไก่และมีช้างพลายจำนวน 2 เชือกถอนเสาตะลุงขึ้นมาเป็นพิธี โดยกรมศิลปากรใช้งบประมาณ 35 ล้านบาท โดยใช้เวลาบูรณะซ่อมแซม 300 วัน

บริเวณดังกล่าวในอดีตกาลที่ผ่านมาเป็นสถานที่สำหรับการจับช้าง หน้าพระที่นั่ง ซึ่งเดิมเคยใช้พื้นที่ข้างพระราชวังจันทรเกษม ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงได้ย้ายไปตั้งอยู่ในสถานที่ปัจจุบัน คติความเชื่อช้างถือว่าเป็นสัตว์ชั้นสูงมีความเฉลียวฉลาด เป็นสัตว์คู่พระบารมีมาแต่ครั้งโบราณโดยเฉพาะช้างเผือกมีการประดับยศศักดิ์ให้กับช้างด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในการรบที่ต้องใช้พละกำลังการเดินทางความอดทนสมัยกาลที่ผ่านมาแล้ว

Advertisement

วันเวลาในยุคปัจจุบันวิถีชีวิตของช้างก็เปลี่ยนไปทั้งการเลี้ยงช้างที่เป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าทั้งจำนวนเงินทางด้านการท่องเที่ยวในจำนวนมหาศาล เมืองไทยเราได้มีชื่อถึงชีวิตของช้างส่วนหนึ่งยังมีชีวิตไปตามธรรมชาติโดยอาศัยอยู่ในป่าทึบใหญ่ มีความอุดมสมบูรณ์ระดับหนึ่ง ข่าวหนึ่งในรอบปีที่ถูกนำเสนอจากสื่อต่างๆ ก็คือจะมีช้างจำนวนหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องอาหารการกิน ต้องเข้าไปในที่ทำงานสวนไร่ที่ชาวบ้านปลูกไว้เพื่อสร้างรายได้ ช้างหลายตัวได้ตายไปด้วยการถูกวางยาพิษ การชอร์ตด้วยไฟฟ้าและด้วยเหตุอื่นทำให้ช้างต้องบาดเจ็บและล้มตายลงไป เราท่านได้พบเห็นภาพข่าวหลายคนต้องโศกเศร้าเสียใจในการตายดังกล่าว

ผู้เขียนเองได้มีวิถีชีวิตอยู่ในเมืองแห่งความเป็นมรดกโลกมาหลายทศวรรษได้พบเห็นถึงภาพลักษณ์ สภาพปัญหาในบริบทต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องหลายปัญหาถูกแก้ไขไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังมีอีกหลากหลายปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ในเมืองดังกล่าวในวันเวลาที่ผ่านมาเราท่านได้รับรู้ถึง ครั้งหนึ่งที่องค์การยูเนสโกมีท่าทีจะถอดความเป็นมรดกโลกที่กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์ในพื้นที่ 3,000 ไร่ และภายในเกาะเมืองจำนวน 1,810 ไร่ มีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับการสร้างบ้านเมือง การสงคราม การค้า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พระราชวัง วัดวาอาราม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านไปถึงระดับนานาชาติ

เสาตะลุงไม้หัวขาด มิใช่กรณีแรกที่เกิดขึ้นภายในเมืองแห่งความเป็นมรดกโลก หากย้อนไปไม่นานนักก็มีชาวบ้านประท้วงวัดพนัญเชิงวรวิหารเป็นโจทย์ฟ้องศาลขับไล่ที่ดินฝังศพบรรพบุรุษของชาวจีนภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง ในที่สุดศาลฎีกาท่านได้พิพากษายกฟ้องเมื่อเดือนพฤษภาคมของปีที่แล้วให้ที่ดินสุสานจำนวน 20 ไร่ คงอยู่ต่อไปโดยศาลท่านให้เหตุผลที่ว่า บริเวณดังกล่าวเป็นที่สาธารณะ วัดไม่มีอำนาจฟ้องหรือดำเนินการอะไรได้ ซึ่งถือว่าคดีนี้ได้สิ้นสุดเมื่อศาลท่านได้ตัดสินถึงกรณีดังกล่าว…

ย้อนวันเวลาไปไม่นานนักเมื่อสองปีที่แล้วมาหน่วยงานราชการภายในจังหวัด มีกำลังของ อส.จาก 16 อำเภอ กำลังทหาร เจ้าหน้าที่เทศบาลได้ทำการรื้อย้ายร้านค้าหลังวิหารหลวงพ่อพระมงคลบพิตร ซึ่งมีพ่อค้าแม่ค้าร้านค้ากว่า 163 ร้าน ได้ทำมาค้าขายสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยวโดยใช้กฎหมายบังคับถึงการบุกรุกพื้นที่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกันก็หาทางออกให้ร้านค้าต่างๆ ย้ายไปทำการค้าขายใหม่หลังบริเวณศาลากลางจังหวัดเก่า ซึ่งทางหน่วยราชการของจังหวัดมีความพยายามที่จะทำแผนเชิงการตลาดทั้งมีรถนำเที่ยว มีบริการที่จอดรถ มีการจัดงานกิจกรรมต่างๆ เพื่อดึงดูดให้ผู้คนและนักท่องเที่ยวได้สนใจในระยะยาว แต่ในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือในสถานที่ดังกล่าวในช่วงแรกๆ ดูเสมือนว่าจะได้รับความสนใจแต่วันเวลาผ่านไปไม่นานนัก เราท่านอาจจะเห็นภาพในสถานที่ดังกล่าวมิได้เอื้ออำนวยต่อการค้าขายที่เป็นที่มาของรายได้เพื่อให้ชาวบ้านท้องถิ่นมีวิถีชีวิตที่อยู่รอด

ข้อเท็จจริงหนึ่งของเสาตะลุงหัวขาดได้มีการบูรณะซ่อมแซมที่มีหัวขาดเฉพาะเสาที่เรียงเป็นแถวปีกกา นอกเชิงเทิน (บริเวณสี่เหลี่ยมที่อยู่ในสถานที่พระราชพิธี) เสาตะลุงที่อยู่ในภายบริเวณสี่เหลี่ยมยังคงมีหัวเสาที่สวยงดงามเหมือนเดิม ข้อแตกต่างทางด้านความรู้สึกอารมณ์ก็คือเสาที่มีหัวกับเสาที่ไม่มีหัว อาจจะมีคำถามที่ว่าสิ่งใดคืออารยะสถาปัตย์ที่แท้จริงของความเป็นเมืองแห่งมรดกโลก…

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่สังคมอาจจะมิได้รับรู้มากนักก็คือ บริเวณดังกล่าวได้มีนักธุรกิจที่ดูแลช้างเพื่อการท่องเที่ยวหรือเพื่อการอนุรักษ์ ได้ทำการเช่าสถานที่เพื่อให้ช้างได้มีวิถีชีวิตอยู่อาศัยที่เอื้ออำนวยต่อชีวิตช้าง อาทิ มีแม่น้ำที่ช้างสามารถลงเล่นน้ำได้คลายความร้อน มีบริเวณที่กว้างขวางการมีความคิดถึงวาระแห่งช้างทั้งมุมมองของนักสิทธิสัตว์ที่ว่า การนำช้างเพื่อให้นักท่องเที่ยวขี่ช้างเพื่อชมหรือถ่ายรูปวัด เจดีย์จะเป็นการทรมานหรือละเมิดชีวิตช้างหรือไม่ หรือว่าข้อปฏิบัติในการบุกรุกหรือการเช่าที่ดินบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์เป็นเวลานานจะเป็นคนละมาตรฐานกับกรณีอื่นหรือไม่…

พระนครศรีอยุธยาในวันเวลานี้มีความเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเกือบจะสิ้นเชิงทั้งความเป็นเมืองที่มีนิคมอุตสาหกรรม มีแรงงานทั้งคนไทยและชาวต่างชาติอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก การปลูกสร้างอาคารที่ดินถูกยกขึ้นเป็นวาระของจังหวัดอยู่บ่อยครั้งทั้งการรุกล้ำการก่อสร้างลงในแม่น้ำ การปล่อยน้ำเสีย ขยะ การบุกรุกของชาวบ้านที่ก่อสร้างบ้านเรือนห้องสุขาบริเวณเจดีย์ วัดสำคัญครั้งอดีต การรกทึบของหญ้า ขยะ ถนนหนทางบางสายภายในเกาะเมืองมิได้อำนวยต่อนักท่องเที่ยวผู้พิการ การเรียกเก็บค่าจอดรถบนถนนสาธารณะในงานมรดกโลกยังอยู่ในข้อเท็จจริง สิ่งหนึ่งที่เราท่านต่างคาดหวังถึงการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนก็คือ กรุงศรีฯไม่สิ้นคนดี…

การได้พบเห็น สัมผัส ดูชมเข้าถึงความเป็นศิลป์หรือศาสตร์นั้นๆ เป็นสุนทรียศาสตร์หรือความสุขหนึ่งของมนุษย์ที่สรรหาเพื่อความบันเทิงทั้งของจิตใจและการปลูกฝังไปยังรุ่นลูกหลานไทยรุ่นนี้ ที่ชีวิตของเขาเหล่านั้นในรอบวันหนึ่งสายตา มือ คอ ร่างกายต่างจรดจ้องอยู่กับโทรศัพท์มือถือสี่เหลี่ยม หลายครอบครัวก็ใช้วิธีการเลี้ยงดูลูกด้วยวิธีการดังกล่าวที่ลูกๆ อยู่กับเกมและท่องไปในโลกแห่งจินตนาการจนกระทั่งองค์การอนามัยโลกได้มีประกาศถึงการติดเกม เป็นโรคชนิดหนึ่งที่ต้องเข้าบำบัดรักษา จนกว่าความเจ็บป่วยจะเกินการเยียวยา

ช้าง เป็นทั้งสัตว์ในประวัติศาสตร์ชาติไทยในการสู้รบศึกสงคราม วิถีของช้างในเมืองไทยเราถูกยกเป็นวาระแห่งชาติบ่อยครั้ง บริบทหนึ่งก็คือ พ.ร.บ.ช้าง ที่อาจจะช่วยปกป้องคุ้มครองชีวิตของเขาเหล่านั้นทั้งการนำช้างป่ามาสวมสิทธิ การจดทะเบียนช้าง ซากช้างหรือผลิตภัณฑ์จากขายซาก
ของช้าง การลักลอบค้างาช้าง การนำช้างออกนอกราชอาณาจักร การนำช้างมาแสวงหาผลประโยชน์ การป้องกันการทารุณกรรมช้างเพื่อปกป้องชีวิตเขาให้สมกับเป็นสัตว์ประจำชาติ

ข้อเท็จจริงหนึ่งเมืองไทยเรามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับช้างมากถึง 18 ฉบับ แต่มีเพียงสองฉบับเท่านั้นที่ดูเสมือนจะมีเนื้อหาสาระที่เกี่ยวเนื่องกับช้างโดยตรงที่ให้ความสำคัญกับช้างป่า แต่มีบางประเด็นที่ละเลยของการเลี้ยงช้างบ้านหรือช้างในเมือง โทษอาญาสำหรับการกระทำทารุณกรรม
มีโทษค่อนข้างต่ำและยังไม่มีบทลงโทษที่นำช้างไปใช้ในกิจการต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตของช้างที่ควรจะเป็น ปัญหาการสวมสิทธิช้าง การนำช้างเดินตามถนนตลาดเพื่อแลกกับอาหารช้างในเชิงธุรกิจเราท่านได้พอมีพบเห็นบ้าง

ในอดีตเมืองไทยเราได้มีพระราชบัญญัติสำหรับรักษาช้างป่า พ.ศ.2464 มีจำนวน 25 มาตรา และมีการแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ศ.2503 ที่ได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตไล่โพนจับช้างป่าและใบอนุญาตตั้งคอกจับช้างป่า และต่อมาให้มีการปรับปรุงแก้ไขมาตรา 5 “คำว่า การดูแลช้างป่าให้เป็นหน้าที่กรมจเรสัตว์พาหนะทหารบก (แผนกพระคชบาล) กระทรวงกลาโหม และสมุหเทศาภิบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นผู้มีอำนาจปกครองในท้องถิ่น โดยให้แก้เป็น การดูแลช้างป่าให้เป็นหน้าที่กระทรวงมหาดไทย และสมุหเทศาภิบาล ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจปกครองในท้องถิ่นนั้น” กฎหมายดังกล่าวได้มีการจัดทำ ปรับปรุงไปเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2556 หรือเมื่อหกปีที่ผ่านมาแล้ว

วิถีของช้างหรือชีวิตของช้างไทยในอดีตกาลที่ผ่านมากับข้อเท็จจริงของชีวิตช้างปัจจุบัน มีความเปลี่ยนไปดูเสมือนจะแตกต่างกับชีวิตผู้คนชาวบ้านและนักการเมืองไทยในปัจจุบันบางคน การกินอยู่ดำรงอยู่ใช้สอยของชีวิตช้างบางเชือกต้องทำงานแข่งขันกับวันเวลาในยุคของบริโภคนิยม วัตถุนิยม เงินนิยม ทุนนิยมและอำนาจนิยมทั้งที่พบเห็นได้ด้วยสายตาและโลกของจินตนาการที่ไร้ร่องรอย เราท่านจะเข้าถึงของหัวเสาตะลุงหรือวิถีของช้าง ที่นักการเมืองบางคนในเวลานี้แก่งแย่ง ต่อรองถึงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงที่ยิ่งใหญ่กว่าปากท้องของประชาชนดูเสมือนว่าภาวะดังกล่าวจะเป็นงานในระดับช้างเสียแล้ว…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image