‘กสทช.’ แจง ‘จีน’ เปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์แล้ว ไม่กระทบโรดแมปจัดสรรคลื่นความถี่

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช.มีการลงนามว่าจ้าง 3 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เพื่อดำเนินการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ และประเมินค่าชดเชยให้กับผู้ถือครองคลื่นความถี่กรณีเรียกคืนคลื่นความถี่ ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น เพื่อนำออกจัดสรรในรูปแบบหลายคลื่นความถี่พร้อมกัน (มัลติแบรนด์) ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับคลื่นความถี่ย่าน 26-28 กิกะเฮิรตซ์ ตามแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ (โรดแมป) ที่ได้วางไว้

นายฐากรกล่าวว่า การว่าจ้าง 3 สถาบัน ใช้งบประมาณสถาบันละ 3 ล้านบาท รวม 9 ล้านบาท โดยคาดว่าไม่เกิน 120 วัน การประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ รวมถึงการประเมินค่าชดเชยให้กับผู้ถือครองคลื่นความถี่กรณีเรียกคืนคลื่นความถี่ และหลักเกณฑ์วิธีการจัดสรรคลื่นความถี่น่าจะแล้วเสร็จ และจะมีการจัดสรรคลื่นช่วงปลายปี 2562

“ในวันที่ 20 มิถุนายน 2562 สำนักงาน กสทช.จะมีการลงนามโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบ 5G ร่วมกับ 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อจัดตั้งศูนย์ทดสอบรูปแบบการใช้งาน (ยูสเคส) บนคลื่นความถี่ย่าน 26-28 กิกะเฮิรตซ์ โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) จำนวน 50 ล้านต่อแห่ง รวม 150 ล้านบาท ซึ่งหากสามารถเชื่อมโยงทั้ง 3 มหาวิทยาลัย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าด้วยกันเพื่อเป็นศูนย์ทดสอบยูสเคส 5G ได้สมบูรณ์จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก” นายฐากรกล่าว

นายฐากรกล่าวว่า จากกรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติของจีน ออกใบอนุญาตให้บริการสื่อสารโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 5G สำหรับใช้ในเชิงพาณิชย์ แก่บริษัทผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมของรัฐ 4 แห่งนั้น ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อโรดแมปการจัดสรรคลื่นความถี่ และไม่กระทบต่อการทดสอบยูสเคส 5G แต่อย่างใด เพราะการทดสอบที่ดำเนินการอยู่สามารถเชื่อมโยงได้กับทุกเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ทั้งฝั่งสหรัฐอเมริกา หรือฝั่งจีนก็ตาม ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนที่สนใจสามารถขอเข้าร่วมการทดสอบยูสเคส 5G ได้ โดยพร้อมให้การสนับสนุน

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image