ปลาเมาที่แม่น้ำเพชรบุรี มีข้อสังเกตมากมาย โดย : กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

ผู้เขียนมีบ้านอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรี อยู่ปลายๆ แม่น้ำที่ใกล้กับทางออกปากทะเลมีน้ำจืดสลับน้ำกร่อย แต่มีบางครั้งน้ำทะเลหนุนน้ำเค็มขึ้นมาถึง การมีบ้านอยู่ริมน้ำนั้นทำให้ได้เห็นคนหาปลา วิธีการหาแบบต่างๆ และปลาแปลกๆ อยู่บ่อยครั้ง

ปลาแถบนี้ ที่เป็นประเภทปลาตัวใหญ่ที่คือ ปลากะพงขาว ปลากระสูบ ปลากดคัง ปลากดเหลือง และปลาค้าวขาว สำหรับปลากะพงขาวตัวใหญ่สุดที่เคยเห็นเขาตกกันได้ก็ยาวร่วมๆ ครึ่งเมตรถึงแปดสิบเซนติเมตร ปลาตัวขนาดนี้เวลาติดเบ็ดแล้วลากเรือพร้อมคนตกปลาไปได้ไกล ผู้เขียนเห็นเป็นประจำในแม่น้ำย่านปากคลองบางครก เพชรบุรี และเลยไปจนถึงปากอ่าวที่ติดกับอ่าวไทย แต่สำหรับปลากดคังและปลาค้าวขาวนั้นหายากมาก ต้องถอยร่นเข้ามาในที่น้ำจืดมากกว่านั้น และนานๆ จะพบเจอสักที แต่เวลาน้ำเหนือไหลหลากมีชาวบ้านจับปลากดคังได้เหมือนกัน

ผู้เขียนเคยซื้อปลากะพงขาวตัวละสองกิโลไว้ได้จากคนตกปลาที่เห็นว่าเขาตกได้บริเวณท่าน้ำใกล้บ้าน ส่วนปลาตัวใหญ่เกินไปกว่านี้จะไม่ซื้อ เพราะปลากะพงขาวและปลาชนิดใดๆ ก็ตามมีหลักการอยู่ว่า เนื้อจะดีที่สุดในเวลาที่ปลาโตในวัยก่อนจะผสมพันธุ์ครั้งแรก เมื่อผ่านการผสมพันธุ์ครั้งแรกแล้วปลายังโตขยายขนาดต่อไปอีกได้ แต่เนื้อจะไม่อร่อยแล้ว ปลากดคัง ปลากดเหลือง ปลากะพงก็เป็นในลักษณะนี้ แต่ข้อความรู้นี้ใช้กับปลาที่จับได้จากแม่น้ำธรรมชาติอย่างเดียว ปลาเลี้ยงในบ่อไม่ใช้เกณฑ์นี้

ครั้งหนึ่งมีเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าแหล่งน้ำยังมีความสมบูรณ์ คือ ในราวช่วงบ่ายของหน้าฝนวันหนึ่งหลายปีมาแล้ว แต่ก็ไม่หลายปีนัก (แต่ก็บอกปีไม่ได้เดี๋ยวมีคนเดือดร้อน) แม่น้ำเพชรมี “ปลาเมา”

Advertisement

“ปลาเมา” คือ อะไร ปลาเมาคือกรณีที่ “ปลาเมาน้ำ” น้ำในแม่น้ำในขณะนั้นอาจจะมีสิ่งแปลกปลอมเจือปนลงไปหลังจากที่ฝนตกใหญ่ครั้งแรกในหน้าฝนก็มักจะเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ เพราะฝนได้ซะล้างสิ่งสกปรกที่อยู่ในท่อระบายน้ำ ในเขตชุมชนและที่ต่างๆ ในเขตเมือง ที่หมักหมมมาตลอดช่วงฤดูร้อนหลายเดือนเมื่อฝนตกใหญ่ครั้งแรกจึงชะล้างสิ่งต่างๆ ลงไปในแม่น้ำ ทำให้น้ำมีสิ่งเจือปนจนทำให้ปลาเมาน้ำ และมิใช่แค่ปลา กุ้ง แม่น้ำที่อยู่ในท้องน้ำก็เมาด้วย อาการเมานั้น ก็คือ ปลาและกุ้งจะลอยตัวเหนือผิวน้ำ บ้างก็มาออกันอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ บางส่วนก็ลอยตัวแล้วกระแสน้ำพัดพาไป (ถ้าปลาน้ำจืดเหล่านี้ถูกน้ำพัดพาไปออกทะเล ปลาเหล่านี้จะหนีน้ำทะเลว่ายทวนน้ำกลับมาหาน้ำจืดไม่ทัน ก็อาจจะกลับบ้านเก่า ถ้าองค์กรอะไร ที่จะช่วยปลาเมาก็คือต้องจับตัวปลาไว้ในกระชังให้อยู่ตรงน้ำจืดอยู่นิ่งๆ มิให้ลอยออกทะเลหรือลอยไปตรงน้ำกร่อย รอจนกว่าน้ำดีจะไหลมาแทนที่และเมื่อปลาหายเมาจึงปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำ)

เมื่อปลาเมาชาวบ้านแถวนั้นจะพายเรือหรือทอดแหจับปลาและกุ้งได้อย่างง่ายดาย ปลาที่จับได้นั้นก็มีปลาแปลกๆ ที่ไม่ค่อยเคยได้เห็นในตอนปกติ ที่แปลกนั้นเป็นทั้งชนิดแปลกที่ไม่เคยเห็น และแปลกเพราะเป็นปลาชนิดเคยเห็นแต่มีขนาดใหญ่ผิดปกติ เช่น ปลาจรกา คือปลาตัวสีดำ อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียนแต่ใหญ่กว่าเป็นปลาที่เวลาปกติไม่ค่อยมีใครจับได้เพราะมีน้อย และอยู่ในช่วงคุ้งน้ำที่มีน้ำลึก แต่พอเวลา “ปลาเมา” นั้นผู้เขียนเห็นมีคนจับได้ ตัวขนาดยาวสองฟุต สีดำสวยเหลือบๆ น้ำเงินและแดงส้มแซมๆ ที่เกล็ดน้อยๆ ปลาตะเพียนธรรมดาแต่ตัวใหญ่ 2 กิโล ปลากระสูบ 3 กิโล ก็ได้เห็นในวันนั้น ปลาหมอช้างเหยียบ (ปลาตะกรับ) ที่ว่าหายากก็เจอ ตัวใหญ่ราวหนึ่งกิโล เรียกว่าทำลายขีดจำกัดในขนาด (ความใหญ่ของปลาที่โตเต็มที่) ที่ทางวิชาการเคยบันทึกไว้กุ้งก้ามกรามตัวใหญ่ครึ่งกิโล ไม่เห็นบ่อยนัก

และยังมีปลาประหลาดๆ อีกหลายชนิดที่ไม่เคยเห็น เช่น ปลาตะเพียนขาวชนิดหนึ่งที่เรียกว่าปลาสี่มุม (เรียกเอง) ปกติปลาตะเพียนขาวที่เราพบเห็นทั่วไปจะมีลำตัวยาวเล็กน้อยเป็นแบบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน แต่ปลาสี่มุมนี้ ตัวแทบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสเป๊ะเลย น่าแปลกมากแต่ก็เห็นมาจริงๆ อาจจะเกิดจากการกลายพันธุ์ก็เป็นได้ ซึ่งเป็นข้อสังเกตอย่างหนึ่ง ในแม่น้ำแต่ละสายมีการกลายพันธุ์ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะแม่น้ำโบราณและมีสายน้ำยาว

Advertisement

ในแม่น้ำตอนนั้น สัตว์น้ำอะไรที่ว่าใหญ่และแปลกประหลาดที่เคยซ่อนตัวอยู่ในท้องน้ำ คุ้งน้ำก็เปิดเผยตัวตนขึ้นมาทั้งนั้น ตื่นตามาก แต่ก็เป็นในช่วงสั้นๆ ไม่เกิน 2 ชั่วโมง ปลาก็จะหายเมาเพราะแม่น้ำเพชรนั้นมีน้ำใหม่มาเติมเสมอจากน้ำที่ไหลมาจากเขื่อนเพชร และทางต้นน้ำที่เขื่อนแก่งกระจานอยู่ตลอดเวลา

เวลาปลาเมา ซึ่งเคยเกิดขึ้นหลายครั้ง ผู้เขียนมักจะคอยสำรวจดูอยู่เสมอว่า มีใครได้ปลาแปลกๆ บ้าง เพื่อที่จะไปขอซื้อมาเลี้ยง และคิดว่าอีกหลายๆ คนก็คงทำแบบนี้

และใครจะคิดว่าในแม่น้ำแถวบ้านเรานั้นจะมีปลาคาร์ฟตัวโตๆ อยู่ด้วย ซึ่งก็ปรากฏว่ามีจริง เคยมีคนทอดแหได้มา ปลาคาร์ฟตัวออกลายแดงส้มๆ สลับขาวขนาดใหญ่ สวยทีเดียว ไม่น่าเชื่อว่าปลาคาร์ฟก็มีในแม่น้ำเพชรบุรี และสีสันยังสวยงามเหมือนที่ขายกันตามร้าน

ความจริงปลาคาร์ฟก็คือปลาไนชนิดหนึ่ง ปลาไนก็ตระกูลเดียวกับปลาตะเพียน ซึ่งเป็นปลาคลาสสิกในแหล่งน้ำทั่วไป ในแม่น้ำดานูบก็มี เป็นปลาไนหรือปลาคาร์ปพันธุ์ยุโรป (แม่น้ำดานูบไหลผ่านหลายประเทศในยุโรป คงเหมือนแม่น้ำโขงนั่นเอง) และยังพบปลาคาร์ฟในทะเลสาบในรัฐวิกตอเรีย ออสเตรเลีย ส่วนปลาในที่คนไทยเราเข้าใจและคุ้นเคยนั้น ก็คือ ปลาคาร์ฟชนิดธรรมดาดั้งเดิมที่ยังไม่ได้ปรับปรุงพันธุ์นั่นเอง ในแหล่งน้ำบ้านเราเลี้ยงปลาไนได้อยู่แล้ว มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ปลาไนและปลาคาร์ฟนั้นเลี้ยงในแม่น้ำเพชรได้แน่เพราะแม่น้ำเพชรบุรีไม่เหมือนแม่น้ำอื่น ตรงที่ในแม่น้ำสายเดียวกันนั้น มีส่วนที่แตกต่างหลากหลาย บางที่เป็นคุ้งน้ำ บางที่น้ำตื้นแต่มีล่องน้ำบางส่วนลึก บางที่แคบหน่อยแต่ลึกมาก (ที่แคบแต่ลึกน้ำไหลช้า ส่วนที่ตื้นและกว้างน้ำไหลเร็วๆ บางที่น้ำใสมากมีหินที่ท้องน้ำ บางที่น้ำขุ่นมีเลนใต้ท้องน้ำ บางที่ตื้นและมีพืชน้ำประเภทสาหร่ายจำนวนมากเพราะแสงแดดส่องถึงพื้นท้องคลอง มองเห็นตัวปลาว่ายแทรกอยู่ตามพืชน้ำได้ด้วย โดยเฉพาะตรงหน้าจวนผู้ว่าน้ำใสมาก มองเห็นตัวปลาได้เลย และแม่น้ำสายนี้มีคลองสาขาที่เชื่อมติดต่อกันมาก รับน้ำจากแหล่งน้ำอื่นอีก จึงเป็นที่สำหรับให้ปลาแต่ละชนิดที่มีนิสัยและความชอบต่างกันเลือกอาศัยอยู่ตามแต่ละที่ที่เหมาะสมกับปลาชนิดนั้นๆ จึงเป็นแหล่งน้ำที่ปลาหลายหลากชนิดอาศัยอยู่ได้ นี่เป็นข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่ง และหากสายน้ำเส้นเดียวกันนี้มีความหลากหลายก็อาจจะนำปลาตะพัดสายพันธุ์ยะลาหรืออินโดมาปล่อยให้ขยายพันธุ์ได้ เพราะเคยปรากฏจากบันทึกฝรั่งว่าจันทบุรี ตราดมีปลาตะพัด เพชรบุรีอยู่แนวเส้นรุ้งใกล้ๆ กันก็น่าจะนำปลาตะพัดมาปล่อยให้ขยายพันธุ์ได้

เพราะหากเชื่อว่าแหล่งน้ำมีความหลากหลายของพันธุ์ปลา ปลาแปลกๆ เกือบร้อยชนิดอยู่ได้ ก็อาจขยายพันธุ์ปลาตะพัดธรรมชาติในแหล่งน้ำนี้ได้

หลักฐานต่างๆ แสดงว่าในแหล่งน้ำของเรานั้นสามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาต่างประเทศประเภทตระกูลปลาตะเพียนได้ ถ้ามีการปล่อยปลาคาร์ฟลงไปในแม่น้ำแล้วสามารถเจริญเติบโตได้จริง เวลาคนหาปลาจับปลาคาร์ฟได้ หากว่าบังเอิญปลาตัวนั้นได้ลักษณะดีอย่างที่สามารถประกวดได้แล้ว ได้อย่าง เบคโกะ อุตซุริ ตันโจ โคฮากุ สักตัว ชาวบ้านคนนั้นถือว่าได้โชคใหญ่เลยทีเดียว เพราะปลาสวยงามที่มีราคาแพง หากมีมากๆ ขยายพันธุ์ออกไปเหมือนปลาประจำถิ่น ถ้าคิดในทางคณิตศาสตร์ และความแปรผันที่อาจเกิดขึ้น ก็มีโอกาสที่จะพบปลาที่มีสีสันตรงตามตำราได้ มิใช่เรื่องแปลกเพราะปลาธรรมชาติที่เกิดเป็นปลาสีทองขึ้นมาเองจากการกลายพันธุ์ก็มีมาแล้ว ทีนี้ต่อไปคนก็จะหาปลาคาร์ฟกัน แทนการซื้อลอตเตอรี่ สนุกตื่นเต้นดีและได้ประโยชน์กันไปอีกแบบหนึ่ง

และหากใครอ่านบทความนี้แล้วเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำประโยชน์แก่สังคมก็อาจจะหาพันธุ์ปลาคาร์ฟไปแจกชาวบ้านเลี้ยงก็ได้ สำหรับพันธุ์ปลานั้น ปลาที่แข็งแรงส่วนมากจะต้องเป็นปลาจากญี่ปุ่น หากโตเต็มที่แล้วจะยาวประมาณหนึ่งเมตร และอายุยืนมากถ้าเลี้ยงอย่างถูกวิธี เคยมีบันทึกว่า บางตัวมีอายุยืนถึงร้อยปี ส่วนลูกปลาที่เกิดในประเทศไทยนั้น หากจะเลี้ยงก็เลี้ยงได้ แต่โตเต็มที่ยาวแค่ประมาณเจ็ดสิบเซนติเมตร และสีสันปลานอกจะสวยสดกว่า เรื่องสีนี้ปลาที่เกิดในไทยสีจะจืดลดลงไปนิดหนึ่ง แต่ลักษณะดีอื่นๆ ยังคงมีอยู่ หากลงทุนเลี้ยงลูกปลานอกเลยแม้ว่าจะซื้อมาตัวละสองพันบาทแต่เลี้ยงจนโตแล้วตัวละเป็นหมื่นถึงแสน ก็น่าสนใจมิใช่หรือ และในตลาดค้าปลาจริงๆ แม้จะเป็นปลาที่สวยเหมือนกัน แต่หากเป็นลูกปลาที่มาจากนอกแล้วราคาต่างกันสิบเท่า หากเลี้ยงจนโตจำนวนเท่าของราคายิ่งห่างไปอีก เคยมีปลานอกตัวยาวหนึ่งเมตรราคาหลักล้านก็เคยมีปรากฏมาแล้ว แต่ลักษณะนั้นก็ต้องเข้าตามตำราด้วย ตำราดูปลาคาร์ฟที่เขากำหนดกันนั้น ก็เหมือนกับตำราดูพระเบญจภาคีของเรา คือ ละเอียดลออมาก แบ่งเป็นประเภทต่างๆ เคร่งครัด ยิ่งละเอียดซับซ้อนเท่าไร ก็สร้างมูลค่าได้มากเท่านั้น

ลักษณะแบบนี้น่าจะเกิดแก่ “ปลากัด” บ้านเราบ้าง ความจริงปลากัดลูกทุ่งเมื่อสามสิบปีที่แล้วราว พ.ศ.2525 เพื่อนผู้เขียน และตัวผู้เขียนเองยังเคยจับได้ในท้องทุ่งในจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นหนองน้ำใกล้สวนมะพร้าว เขตอำเภอเมือง แถวตำบลบ้านขลู่ ทุ่งเฟื้อ มีปลากัดที่เรียกว่าปลากัดลูกทุ่ง หางใบโพธิ์ (คนโบราณชอบเล่นลักษณะแบบนี้) เกล็ดเป็นเหลือบพราวได้ถึงหกสี แบบสีรุ้ง สีเปลี่ยนได้ตามอารมณ์ของปลา สวยงามมาก และนับว่าเป็นปลากัดลูกทุ่งของแท้ ตัวยาวเพรียวไม่ใช่ตัวป้อม ตรงหน้าปลายังมีสีเหลือบพรายเลย ต่อมาได้ทราบว่าสูญไปแล้วจากท้องที่ และเร็วๆ นี้ได้พบว่ามีคนอนุรักษ์พันธุ์เอาไว้ได้ ประกาศขายในราคาแพงมาก ผู้เขียนดูแล้วคล้ายกับที่เคยเห็นเมื่อราวสามสิบปีก่อน แต่ไม่เหมือนเสียทีเดียว นับว่าปลากัดนี้ เข้าใกล้ปลาคาร์ฟเข้าไปทุกทีแล้ว เราน่าจะหาปลากัดพันธุ์ดีๆ ปล่อยลงไปในแหล่งน้ำท้องถิ่นบ้าง เพื่อให้ออกลูกออกหลาน และเป็นหนทางทำมาหากินแก่เกษตรกรต่อไป และผู้รู้ก็เขียนตำราเบญจภาคีปลากัดดีๆ สักเล่มให้เด็กๆ ได้มีแนวทางกัน

การที่ปลาเมาในวันนั้นมีข้อสังเกตหลายอย่าง สำหรับนักวิชาการแล้ว ถือว่าได้ประโยชน์ในแง่หนึ่ง คือ ได้รู้ว่าแหล่งน้ำท้องถิ่นเราเลี้ยงปลาอะไรได้บ้าง ปลาท้องคลองมีอะไรบ้าง ตัวใหญ่ได้มากที่สุดแค่ไหน และมีการกลายพันธุ์หรือพัฒนาพันธุ์ไปบ้างหรือไม่ อย่างไร และถ้าว่ากันจริงๆ แล้ว ยังมีปลาอีกหลายชนิดที่จะกลายเป็นปลาสวยงามได้ เพียงแต่นักเลี้ยงปลาทั้งหลายยังไม่รู้

ปลากดเหลือง ก็เป็นปลาที่สวยงามเวลาว่ายน้ำ แข็งแรง สง่างาม เหมือนม้าสีเหลืองทอง ที่วิ่งอยู่ในท้องน้ำเลยทีเดียว ถ้ารู้คงจะเลี้ยงกันใหญ่ ซึ่งก็ไม่แน่ว่าปลากดเหลืองจะเดือดร้อนกว่าเก่าหรือเปล่า

มีปัญหาข้อหนึ่ง หากจะมีผู้คัดค้านว่า การปล่อยปลาคาร์ฟและปลาสวยงามลงในแหล่งน้ำธรรมชาติอาจจะทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไปนั้น ผู้เขียนขอตอบว่า สำหรับปลาคาร์ฟนั้น ต้นตระกูล คือ ปลาไน และปลาตะเพียน อยู่อาศัยในท้องน้ำนี้มานาน ปลาคาร์ฟเองก็เคยมีการนำเข้ามาก่อน พ.ศ.2500 เล่นกันมาตั้งนานแล้ว แต่คนเล่นจริงจังมีน้อยคน ส่วนปลากดคัง ปลากดเหลืองนั้นอยู่มานานกว่านั้นอีกแทบจะเป็นปลาจากยุคโบราณ แบบเดียวกับปลาปึกในแม่น้ำโขง เป็นปลาท้องคลองและท้องถิ่นโดยแท้ ส่วนปลากัดไทยนั้นอยู่มาตั้งแต่สมัยโบราณที่เขายังนิยมนำมากัดกัน ตั้งแต่ยุคสุโขทัย คู่กันมากับการตีไก่

สำหรับปลากัดไทยพันธุ์ลูกทุ่งของเพชรบุรีนั้น ถ้าท่านได้เห็นของแท้ที่เกิดในธรรมชาติคือตามท้องทุ่งแล้วจะขนลุก ว่ามีอะไรสวยงามและเกรี้ยวกราดได้ขนาดนี้ เป็นความสวยงามที่ไม่หยดย้อย แต่สวยอย่างดิบเถื่อน สีสวยเหลือบเขียววาวๆ ธรรมชาติไม่หวือหวามาก ยลตาดีจริงๆ

กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image