พยาบาลไทย…โดย : เฉลิมพล พลมุข

ธรรมชาติหนึ่งของสิ่งมีชีวิตทั้งมนุษย์คนหรือสัตว์ต่างก็อยู่ในกฎเกณฑ์ของการเกิด ความแก่ชรา การตายรวมถึงการเจ็บไข้ป่วยไม่สบายด้วยเหตุต่างๆ สุขภาวะหรือสุขภาพร่างกายเมื่อผ่านวันเวลาของการใช้งานย่อมต้องประสบอุบัติเหตุทั้งน้อยและใหญ่ การเกิดโรคต่างๆ ทั้งภายในร่างกายและโรคที่เป็นเชื้อโรคมาจากเหตุภายนอกที่ทำให้เจ็บป่วยไข้ด้วยโรคต่างๆ อาชีพหนึ่งที่เราท่านจักต้องพึ่งพาก็คือแพทย์หมอพยาบาล

ฮิปโพคราตีส (Hippocrates 370-460 ปีก่อนคริสต์กาล) บิดาแห่งการแพทย์ตะวันตกหรือที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้กำเนิดวิชาการแพทย์ที่ได้นำวิธีการรักษาในรูปแบบใหม่ที่เป็นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เรขาคณิต ธรรมชาติวิทยา วิจิตรศิลป์รวมถึงหลักการของปรัชญาเข้ามารักษาการเจ็บป่วยไข้ขณะเดียวกันก็มิได้ปฏิเสธถึงวิธีการรักษาแบบดั้งเดิมของชนพื้นถิ่น หลังจากมีการรักษาความเจ็บป่วยของประชาชนได้ทุเลาหรือหายจากโรคก็ได้เปิดสถานพยาบาล (Clinic) และตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นที่เกาะคอส (Cos) เพื่อรักษาผู้ป่วยรวมถึงเป็นสถานที่เรียนวิชาการแพทย์สมัยใหม่ โดยเห็นถึงความเจ็บป่วยที่มาจากความบกพร่องของร่างกาย อาหาร อากาศและเชื้อโรคต่างๆ

สังคมไทยเราได้มีการแพทย์แผนโบราณมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ในสมัยนั้นได้มีการรักษาความเจ็บป่วยด้วยยาสมุนไพรพื้นบ้าน หรือสมุนไพรที่เป็นพืชท้องถิ่นที่ได้มีวิวัฒนาการมาจากอโรคยาศาลา ในความเชื่อของขอมเขมรซึ่งต่อมาก็ได้มีการจัดหมวดหมู่เป็นหมอกุมาร หมอยา หมอหลวงก็มีทั้งย่ามแดงและตะบองแดง ซึ่งมีกฎหมายของบ้านเมืองที่ได้ให้สิทธิและคุ้มครองหมอยาที่ใช้ตะบองแดงเพื่อชี้เก็บสมุนไพรจากต้นไม้ ใบไม้ รากไม้ ดอกผลเปลือกของไม้ได้ทุกแห่งหนของแผ่นดิน ต่อมาในสมัยพระนครศรีอยุธยาขณะเสียเมืองตำรายาส่วนใหญ่ได้ถูกเผาทำลายหรือสูญหายไปเป็นจำนวนมาก ตำรายารวมถึงวิธีการรักษาคนไข้ส่วนหนึ่งยังถูกเก็บไว้ในใบลาน ซึ่งคนไทยเรายุคปัจจุบันหลายคนก็มิอาจจะอ่านออกรวมถึงแปลความในความหมายดังกล่าวได้

การแพทย์แผนไทยได้ถูกฟื้นฟูอีกครั้งหนึ่งในยุคสมัยของรัชกาลที่ 1-3 โดยให้มีการรวบรวมองค์ความรู้ถึงการแพทย์แผนโบราณ การนวดที่ได้มีการบันทึกไว้ที่ศาลารายของวัดโพธิ์ท่าเตียน หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งมีตำรานวด รูปปั้นฤษีดัดตนในช่วงท่าทางต่างๆ ที่มากกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบเจ็ดท่าทางของการรักษาโรค ต่อมาในรัชกาลที่ 4 และ 5 พระองค์ท่านได้นำหลักการอายุรเวทของอินเดียและแพทย์ตะวันตกเข้ามารักษาคนไทยหรือคนสยามในขณะนั้น โดยผ่านมาทางมิชชันนารี มีการฉีดวัคซีน การผ่าตัด ครั้นมาถึงยุคสมัยของรัชกาลที่ 6 และ 7 ได้มีการออกกฎหมายควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ทำให้กระทบถึงการแพทย์แผนไทย หมอยาหรือหมอพื้นบ้านส่วนหนึ่งก็ได้เลิกประกอบอาชีพในการแพทย์พื้นบ้าน ต่อมารัฐบาลไทยในช่วงที่ต้องการให้บ้านเมืองได้มีการพัฒนาแบบองค์รวมก็ได้บรรจุการแพทย์พื้นบ้านไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ.2520-2524) เป็นต้นมา

Advertisement

เมืองไทยเราได้มีสถาบันการศึกษาที่ได้เปิดการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาและบัณฑิตศึกษา ที่มีการเรียนที่เรียกว่าโรงเรียนแพทย์อยู่ในระดับมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนอยู่ทั่วเมืองไทยเราในทุกภูมิภาค นอกจากนั้นก็มีคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี วิทยาลัยพยาบาลของกองทัพ มหาวิทยาลัยราชภัฏได้เปิดการเรียนการสอนเพื่อผลิตบุคลากรสาธารสุขเพื่อให้เพียงพอต่อการบริการสุขภาพของประชาชนในภาพรวม ในข้อเท็จจริงหนึ่งสภาพปัญหาของโรงพยาบาล บุคลากร การบริหารจัดการ การวิ่งเพื่อระดมทุนเพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ของศิลปินนักร้องปัญหาของคนไข้ที่ล้นโรงพยาบาล ปัญหาของคนไข้บางคนที่มิอาจจะทนต่อความเจ็บปวดแล้วไปทำร้ายต่อบุคลาการทางแพทย์ ยังคงมีปัญหาที่บางรัฐบาลดูเสมือนจะเพิกเฉยหรือให้ความสำคัญที่มิได้อยู่ในความสำคัญของปัญหาแรกๆ ของประเทศ อะไรสิ่งใดเกิดขึ้นในสังคมไทยเรา…

ข้อมูลหนึ่งจากกระทรวงสาธารณสุขเมื่อสองปีที่แล้วมา เมืองไทยเราได้มีการผลิตบุคลากรแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ทั่วประเทศ 21 แห่ง ปีละ 3,121 คน และบุคลากรที่เป็นพยาบาลปีละ 1.1 หมื่นคน มิอาจจะนับรวมถึงนักเทคนิคการแพทย์ในสาขาต่างๆ อีกปีละกว่า 2,000 คน รวมถึงข้อมูลที่ต้องการกำลังคนด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้นภายในปี พ.ศ.2569 หรืออีก 7 ปีข้างหน้าก็คือ ต้องมีแพทย์ทั่วประเทศในจำนวน 63,779 คน ต้องมีทันตแพทย์ 18,675 คน เภสัชกร 39,913 คน และต้องการอัตราพยาบาลในจำนวน 215, 565 คน (hiso.or.th)

การลาออกของพยาบาลวิชาชีพในจำนวนไม่น้อยกว่า 15 คน ของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า อำเภอเมืองจังหวัดนนทบุรี โดยเฉพาะแผนกอายุรกรรม หรือห้องผู้ป่วยวิกฤตที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ที่ต้องอดทนอยู่กับความเครียดต้องทำงานมากกว่าวันละ 16 ชั่วโมง หรือบางคนในหนึ่งเดือนแทบจะไม่มีวันหยุดหรืออยู่ในสภาพงานหนักเงินเดือนน้อยและชีวิตไม่มั่นคงด้วยเหตุของการที่ต้องรับผิดชอบในหน้าที่งานที่ต้องดูแลผู้ป่วยจำนวนมากและโอกาสในการบรรจุเป็นข้าราชการมีโอกาสน้อยนิดด้วยเงื่อนไขระเบียบปฏิบัติและข้อกฎหมายที่มีความสลับซับซ้อน รวมถึงยังมีพยาบาลวิชาชีพอีกจำนวนหนึ่งที่รอการตัดสินใจในการลาออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับค่าตอบแทนสูงกว่า…(PPTVHD36)

สภาพปัญหาภายในโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนต่างก็มีบริบทของการทำงานทั้งในระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและในระดับการบริหารจัดการที่มีความแตกต่างกันด้วยนัยสำคัญ โรงพยาบาลของรัฐหากมองในภาพรวมก็ยังมีในปัญหาของจำนวนบุคลากร อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยสามารถตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างทันเวลาต่ออาการของโรค โดยเฉพาะโรงพยาบาลในระดับอำเภอ ความพร้อมดังกล่าวยังถูกกล่าวขานมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันความเจ็บป่วยของประชาชนก็เกิดขึ้นได้ในทุกขณะเวลา งบประมาณของรัฐบาลส่วนหนึ่งถูกใช้ไปที่อาจจะสวนกับคุณภาพชีวิตของประชาชน

อาทิ งบของการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ อาวุธของกองทัพ การเสียค่าโง่ในโครงการที่รัฐอาจจะต้องจ่ายมหาศาลในอนาคต หรือการสร้างอาคาร โรงพยาบาล อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความต้องการช่วยชีวิตของผู้คน อะไรสิ่งใดที่เป็นความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในชาติ…

ในช่วงวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2562 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน โดยที่ประชุมมีมติอนุมัติเห็นชอบ อัตราข้าราชการตั้งใหม่ ตำแหน่งนายแพทย์ สป.สธ.ขอ 1,308 อัตรา ได้รับการอนุมัติโดยมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร 34,010,640 บาทต่อเดือน และตำแหน่งทันตแพทย์ ขอ 50 อัตราได้รับอนุมัติคิดเป็นค่าใช้จ่าย 1,354,000 บาทต่อเดือน ตำแหน่งดังกล่าวที่ได้อนุมัติเนื่องด้วยข้อกฎหมายในคู่สัญญากับกระทรวงสาธารณสุขสำหรับการบรรจุในตำแหน่งดังกล่าว…

การบริหารรัฐราชการในเมืองไทยเราตั้งแต่สังคมไทยเราได้ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้รัฐบาลมีเงินคงคลังเพื่อใช้ในประเทศไม่เพียงพอต้องไปกู้เงินจาก IMF ในรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย จึงมีมติคณะรัฐมนตรีถึงการจำกัดอัตรากำลังคนของภาครัฐลดลงในทุกกระทรวง กรม กอง หลังจากนั้นเป็นต้นมาการบรรจุของข้าราชการจึงมีตัวเลขที่ลดลงมาตามลำดับ รัฐบาลได้ใช้วิธีถึงการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐที่เรียกว่า พนักงานของรัฐ พนักงานราชการ มีสัญญาจ้าง ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ ระบบการประเมินในการทำงาน สภาพปัญหาที่ผ่านมาที่เราท่านได้พบเห็นเชิงประจักษ์หนึ่งในสังคมไทยเราก็คือ การประท้วง ฟ้องร้องต่อศาลทั้งเรื่องของธรรมาภิบาล สิทธิหน้าที่ความรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและอาญาอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลที่ท่านจักต้องรับคดีความไว้พิพากษาในจำนวนที่มีนัยสำคัญ

ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาไม่นานมานี้เราท่านได้พบข่าวหรือข้อมูลที่ถูกนำเสนอโดยสื่อต่างๆ ของสังคมไทยเรามาอย่างต่อเนื่องทั้งเรื่องของวัยรุ่นยกพวกเข้าไปตีกันในห้องฉุกเฉินหรือบริเวณที่ต้องทำการรักษาดูแลคนไข้ผู้ป่วย การฆ่าตัวตายของผู้ป่วยบางรายด้วยการกระโดดตึก บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในภาวะของความตึงเครียดทั้งระบบงานที่มีผู้ป่วยต้องขอเข้ารับบริการในจำนวนที่มาก ทั้งโรคทางกาย ทางใจ และทางจิตวิญญาณ ความสลับซับซ้อนของโรคในยุคของบริโภคนิยม วัตถุนิยม เงินนิยม ทุนนิยมและอำนาจนิยม

การย้ายสถานที่ทำงานหรือการลาออกของบุคลากรด้านพยาบาลในสังคมไทยเราเป็นสภาพปัญหาที่ต่อเนื่องมาในระยะเวลาที่ยาวนานมากกว่าสองทศวรรษ การขยายกิจการของโรงพยาบาลเอกชนทั้งในเมืองไทยเราและไปยังต่างประเทศยังอยู่ในตัวเลขที่สูงของทั้งตลาดหุ้นและการทำธุรกิจด้านการแพทย์ พยาบาล ข้อเท็จจริงในเวลานี้รัฐบาลไทยได้มีความพยายามที่จะจัดรัฐสวัสดิการขั้นพื้นฐานในระบบต่างๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในชาติ คำถามหนึ่งที่อาจจักมิได้รับคำตอบก็คือ การบริการด้านสุขภาพจากความป่วยเจ็บไข้ทั้งจากโรคขั้นพื้นฐานไปจนถึงโรคเรื้อรังที่อาจจะต้องใช้ระยะเวลายาวนานที่ต้องพักรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตดีแค่ไหนเพียงไร…

ข้อกฎหมายของ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ที่รัฐบาลได้อนุมัติแผน 3 เพื่อใช้บังคับให้มีการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.ให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่มีความพร้อมทั้งบุคลากรและงบประมาณที่สูงกว่า องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สภาพปัญหาที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ก็คือ การบริหารจัดการที่บุคลากรที่ปฏิบัติงานที่ตำแหน่ง ความชำนาญการพิเศษที่อาจจะสูงกว่า ผู้บริหารส่วนท้องถิ่นที่เป็นนักการเมืองส่วนหนึ่งมาจากผู้มีอิทธิพล อำนาจธุรกิจในท้องถิ่น การใช้งบประมาณของแผ่นดินไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หลักธรรมาภิบาล ความก้าวหน้ามั่นคงในบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะตำแหน่งหน้าที่ของพยาบาลที่จะก้าวไปสู่ระดับบริหารระดับสูง จะเป็นวาระสำคัญทั้งทางกฎหมายและหลักปฏิบัติด้วยหรือไม่

อาชีพของแพทย์ทุกสาขาที่เชี่ยวชาญ ทันตแพทย์ จิตแพทย์ รังสีแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขารวมถึงพยาบาลวิชาชีพ เป็นสาขาอาชีพหนึ่งที่ไม่ตกงานหรือมีงานรองรับเกือบหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นข้อเท็จจริงหนึ่งที่เราท่านรับรู้ได้ก็คือโรงพยาบาลที่เป็นของเอกชน ระบบการต้อนรับ บริเวณสถานที่ บรรยากาศ การบริการ ระยะเวลาที่รวดเร็วทันการต่อโรค มิอาจจักรวมถึงค่าใช้จ่ายที่มีจำนวนที่มากแตกต่างจากของรัฐถึงการฟ้องร้องเรียกร้องโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งที่มีการคิดค่ายา ค่ารักษาพยาบาลสูงเกินจริง อาทิ ยาบางชนิดมีส่วนต่างราคาซื้อและขายสูงถึง 29.33-8,766.79% และมีกำไรตั้งแต่ 47.73-16,566.67% เช่น ยาพาราเซตามอล เม็ดละ 2-5 บาท แต่ขายเม็ดละ 200 บาท หรือยามะเร็งบางชนิด 1 โดส ราคา 2 แสนบาทแต่คิดเป็นราคา 8 แสนบาท หรืออาจจะคิดค่าราคารวมอื่นๆ ทั้งค่าแอร์ ค่าเก็บสต๊อกและค่าลงทุนบริหารจัดการ…

อนาคตทิศทางอาชีพของพยาบาลไทยจักเป็นเช่นไร เราท่านต้องมองไปยังรัฐบาลใหม่จากเก่าที่เราท่านมีนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ที่ชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ดูเสมือนว่าจักได้อยู่ในอำนาจการบริหารประเทศสมัยที่สองอีกหนึ่งวาระที่รัฐนาวาลำนี้จะมีทั้งปัญหาและอุปสรรคมาจากลูกเรือบางคนที่ไม่พายยังเอาเท้าราน้ำ นักการเมืองบางคนกระทำตนเป็นงูเห่า การต่อรองถึงกระทรวงตำแหน่งรัฐมนตรี ส.ส.ที่อยู่ฝ่ายค้านบางคนที่ดูเสมือนว่าจะเขย่าเรือมิให้ไปถึงฝั่งหรืออาจจะจมน้ำทั้งลำก่อนถึงเป้าหมาย อาชีพหมอหรือพยาบาลคงจะมิอาจจะไปทำหน้าที่ช่วยชีวิตเขาเหล่านั้นมิให้จมน้ำไปท่ามกลางภาวะของประชาธิปไตยในการเมืองไทย…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image