สติของสังคมไทย โดย : ธนภณ สมหวัง

ภาพเด่นชัดประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จนกำลังกลายเป็นเหตุการณ์ปกติ ผ่านสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์ ก็คือ พฤติกรรมการใช้ความรุนแรงทั้งทางกาย ทางวาจา ตลอดจนการใช้อารมณ์กับเหตุการณ์ต่างๆ จนน่าเป็นห่วงว่า สังคมไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์แบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นั่นคือ วิกฤตการณ์แห่งความขาดสติ

ในความเป็นจริง สังคมไทยเป็นสังคมที่มีรากฐานสำคัญมาจากพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเองก็ได้มีบทบาทสำคัญต่อการหล่อหลอมจิตใจของคนไทย จนกลายเป็นวัฒนธรรมไทย ทำให้คนไทยมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวที่แตกต่างไปจากคนชาติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นคนมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อช่วยเหลือคนอื่น ความเป็นคนใจเย็น หรือสยามเมืองยิ้ม เป็นต้น

ลักษณะนิสัยเช่นนี้ของคนไทย เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางและยาวนาน ดังปรากฏในบันทึกของชาวต่างชาติหลายๆ คนที่ได้มาสัมผัสคนไทย ดังสังฆราชปาลเลกัวซ์ที่เข้ามาในเมืองไทยเมื่อเกือบ 200 ปีที่แล้วก็ได้บันทึกไว้ว่า “ชาวประชาชาตินี้มีที่น่าสังเกตตรงอัธยาศรัยอันอ่อนโยนและมีมนุษยธรรม ในพระนครซึ่งมีพลเมืองค่อนข้างคับคั่ง ไม่ค่อยปรากฏว่ามีการทะเลาะวิวาทกันอย่างรุนแรง ส่วนฆาตกรรมนั้นเห็นกันว่าเป็นกรณีพิเศษมากทีเดียว บางทีตลอดทั้งปีไม่มีการฆ่ากันตายเลย”

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ศาสตราจารย์แม็กซ์เวล ที่ได้เดินทางมาเมืองไทย ได้เขียนถึงสังคมไทยที่เป็นสังคมที่มีความสงบ ร่มเย็นไว้ว่า “ชาวสยามเป็นชนชาติที่ดูมีความสุข พอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ และมีอุปนิสัยที่เรียบง่าย รู้จักประมาณตน และไม่มีความต้องการสิ่งใดๆ เกินฐานะ”

Advertisement

ในปลายรัชสมัย รัชกาลที่ 7 ศาสตราจารย์ซิมเมอร์แมน ได้เดินทางมาสำรวจและศึกษาสังคมไทย ก็ได้เขียนถึงสภาพของสังคมไทยไว้ว่า “มาตรฐานแห่งการครองชีพของพลเมืองในประเทศสยามสูงกว่าของพลเมืองในบางประเทศทางตะวันออกและในประเทศร้อนอื่นๆ ถ้าจะพิจารณาฐานะในทางเศรษฐกิจและน้ำใจของพลเมืองในบางประเทศเทียบกับพลเมืองในประเทศสยามแล้ว จะเห็นได้ว่า ชาวสยามมีภาษีดีกว่า… พลเมืองของประเทศสยามมีนิสัยใจคอดีและไม่มีความโลภในการสะสมโภคทรัพย์ไว้เป็นมาตรฐานแห่งการครองชีวิต การละทิ้งเด็ก, การขายเด็ก, การสมรสในเยาว์วัยและความประพฤติชั่วร้ายต่างๆ ซึ่งอนารยชนชอบประพฤติกันไม่ปรากฏในหมู่คนไทยเลย”

ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยดังที่ชาวต่างชาติได้พบและกล่าวถึงนี้ แสดงให้เห็นว่า คนไทยแต่เดิมมีความสุขสงบร่มเย็น มีน้ำใจไมตรีที่งดงาม ไม่ประพฤติเสียหายร้ายแรง จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่สังคมในวงกว้าง

เมื่อมองถึงพัฒนาการของสังคมไทย ก็อาจวิเคราะห์ได้ว่า มีปัจจัยหลายประการที่เกื้อกูลและส่งเสริมให้คนไทยมีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัวดังข้อสังเกตข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิหลังทางสังคมไทยที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางวัตถุเป็นพื้นฐานมาแต่เดิม ทั้งอาหารการกินและทรัพยากรที่มีเพียงพอต่อการดำรงชีพ ดังคำกล่าวว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ภาวะดังกล่าวจึงไม่เป็นเหตุบีบคั้นให้ต้องระวังระแวงแย่งชิงกันมาก แต่สามารถเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กัน และแสดงความมีน้ำใจที่ดีงามต่อกันได้

Advertisement

นอกจากนี้ แล้ว ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งก็คือ การที่คนไทยมีสติเมื่อเผชิญหน้ากับสิ่งใดๆ ก็ตาม มีความหนักแน่นในบุญกุศลตามที่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาได้พร่ำสอนให้ตระหนักรู้ธรรมชาติของชีวิตและการอยู่ร่วมกันในสังคม วัฒนธรรมไทยที่มีพระพุทธศาสนาเป็นฐาน จึงมีส่วนสำคัญต่อการหล่อหลอมสภาพจิตใจของคนไทยให้ตระหนักรู้ในสถานะและความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย พอเพียงกับภาวะของตนเอง อยู่ร่วมกับธรรมชาติ เพื่อนมนุษย์ และสรรพสัตว์อย่างมีความสุข

คุณลักษณะดีงามเหล่านี้เริ่มสูญหายไป พร้อมๆ ไปกับการเสื่อมถอยของคุณค่าทางพระพุทธศาสนาที่เคยมีต่อคนไทย กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้คนในสังคมเมื่อมีเรื่องราวอะไรมากระทบตัวเองแล้ว ก็จะแสดงออกถึงความเร่าร้อนทางอารมณ์ โดยแสดงออกทั้งทางพฤติกรรมและทางวาจา ไม่มีการยับยั้งชั่งใจหรือไม่ใช้สติปัญญาในการรับรู้เรื่องราวนั้นๆ จนหลายกรณีนำไปสู่ความรุนแรง

ภาวะเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ว่า สภาพสังคมไทยที่กำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ได้ส่งผลกระทบอย่างรวดเร็วและรุนแรง จนไม่สามารถตั้งสติพิจารณาเรื่องราวนั้นๆ ได้ทัน พฤติกรรมความรุนแรงต่างๆ ที่พบทางสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดีย จึงสะท้อนให้เห็นสภาพจิตใจของผู้คนในปัจจุบันที่อยู่ในภาวะขาดสติ ขาดการไตร่ตรองและยับยั้งต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่มากระทบตัวเอง เลือกที่จะตอบโต้สิ่งเหล่านั้น ด้วยอารมณ์มากกว่าการใช้สติปัญญา

การมีสติในการเข้าไปรับรู้อารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบ หรือความระมัดระวังและตื่นตัวต่อหน้าที่ มีความพร้อมอยู่เสมอในอาการที่คอยรับรู้ต่อสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง รวมทั้งตระหนักรู้ว่า ควรปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ อย่างไร นับเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการเผชิญหน้ากับปัญหาที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับมนุษย์เรา สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้เปรียบเทียบการทำหน้าที่ของสติว่า เปรียบเหมือนกับนายประตู ที่คอยระวังเฝ้าดูคนเข้าออกอยู่เสมอ และคอยกำกับการโดยปล่อยคนที่ควรเข้าออกให้เข้าออกได้ และคอยกันห้ามคนที่ไม่ควรเข้าไม่ให้เข้าไป คนที่ไม่ควรออกไม่ให้ออกไป

ลักษณะของการมีสตินั้น จึงมีลักษณะของการไม่ปล่อยใจให้เลื่อนลอย หรือไม่ล่อยให้ความนึกคิดฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ แต่เป็นประตูที่คอยเฝ้าระวังจับตาดูอารมณ์ที่ผ่านมาแต่ละอย่างอย่างใกล้ชิด รวมทั้งควบคุมตรวจตรากระแสการรับรู้ ความนึกคิด และพฤติกรรมทุกอย่างให้อยู่ในแนวทางที่ต้องการ คอยกำกับจิตไว้กับอารมณ์ที่ต้องการ เพื่อพิจารณาจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป

ในปัจจุบันที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ อย่างรวดเร็วและรุนแรงในทุกระดับนั้น ความมีสติในการเข้าไปต้อนรับและตรวจตราปัญหาที่เข้ามาเกี่ยวข้อง นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การพิจารณาปัญหาต่างๆ ได้อย่างแจ่มชัด ไม่นำไปสู่การใช้อารมณ์ หากแต่เป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขและพิจารณาปัญหานั้นๆ อย่างถ่องแท้ ตรงไปตรงมา ความมีสติจึงมิใช่เครื่องชี้วัดถึงความพัฒนาหรือก้าวหน้าของบุคคลเท่านั้น หากแต่เป็นเครื่องชี้วัดถึงคุณภาพของสังคมนั้นๆ ด้วย ทั้งนี้ เพราะสติต้องนำมาใช้ในทุกกรณี คนไทยและสังคมไทยจะก้าวหน้าต่อไป จึงต้องเป็นสังคมที่อุดมด้วยสติ

ธนภณ สมหวัง
สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยศรีปทุม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image