รัฐอันธพาล โดย : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ในการศึกษาเรื่องเผด็จการนั้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ การแยกแยะประสิทธิภาพของรัฐกับกระบวนการใช้อำนาจของรัฐ

อธิบายง่ายๆ ว่ารัฐเผด็จการนั้นแม้ว่าจะมีลักษณะของการใช้อำนาจโดยไม่ได้มาจากการปรึกษาหารือกับประชาชน และมาจากการเลือกอย่างยินยอมพร้อมใจของประชาชน

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า รัฐเผด็จการนั้นจะไม่มีประสิทธิภาพในการปกครอง และไม่ได้แปลว่ารัฐเผด็จการนั้นจะไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารเศรษฐกิจและสังคมเสมอไป

อีกประการหนึ่งที่ควรอภิปรายก็คือ โดยทั่วไปแล้วเมื่อเราพูดถึงรัฐเผด็จการนั้น เรามักจะมีความเข้าใจร่วมกันว่า รัฐเผด็จการนั้นเป็นรัฐที่มีการรวมศูนย์อำนาจ มีระบบระเบียบการใช้อำนาจ มีองค์กรการทำงานที่สั่งการจากบนลงล่าง มีคณะทำงานในการตัดสินใจที่เป็นระบบ

Advertisement

ความน่ากลัวของรัฐเผด็จการจึงอยู่ที่ความเป็นระบบและความลุ่มลึกของมัน

ตัวอย่างอย่างนวนิยายเช่น 1984 ซึ่งได้ชี้ให้เห็นชัดว่าระบบเผด็จการทีมีความลุ่มลึก สลับซับซ้อนในการควบคุม สอดส่องและแทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวัน ผ่านตำรวจลับ และในวิถีคิดของผู้คน ผ่านกลไลทางอุดมการณ์

ในแง่นี้ รัฐเผด็จการนั้นจึงเป็นรัฐที่ทรงประสิทธิภาพ อย่างน้อยในเรื่องของการควบคุมและใช้อำนาจในการปกครอง ส่วนรัฐเผด็จการนั้นจะมีฝีมือในการบริหารเศรษฐกิจหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องพิสูจน์กันไป

Advertisement

ในอีกมิติหนึ่ง รัฐบางรัฐนั้นแม้ว่าจะใช้อำนาจเผด็จการ แต่ก็ไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐเผด็จการ

แต่เป็นรัฐอันธพาลมากกว่า

รัฐอันธพาล ไม่เหมือนกับรัฐเผด็จการ เพราะปกครองได้ด้วยความไร้ประสิทธิภาพจากการรวมศูนย์อำนาจ

รัฐอันธพาล ไม่มีศูนย์กลางอำนาจที่ทรงพลัง และขาดความสามารถในการควบคุมพื้นที่อย่างเบ็ดเสร็จ

อำนาจในการปกครองถูกถ่ายโอนจากความกระจัดกระจายของอำนาจรัฐลงไปยังหน่วยงานต่างๆ ในระดับพื้นที่ และพื้นถนน (แปลตรงๆ จากคำว่า street-level) ผ่านการใช้ดุลพินิจของข้าราชการในท้องที่

รัฐอันธพาลเป็นเรื่องของการใช้อำนาจจากหน่วยย่อย หรือเซลล์ย่อยๆ ที่ไร้การเชื่อมโยงกันในแบบลำดับชั้นที่แข็งแกร่งและสั่งการจากบนลงล่าง

แต่เป็นการทำงานร่วมกันของเครือข่ายที่กระจัดกระจาย และเชื่อมโยงกันอย่างหลวมๆ ผ่านระบบนายลูกน้องแบบแบ่งพื้นที่กันในการดูแล และ “ด้นสด” หรือใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ในการปกครอง

พูดง่ายๆ ว่า ถ้าจะเข้าใจรัฐเผด็จการนั้น เราต้องเข้าใจศูนย์กลาง และหัว (หัวหน้า)

แต่ถ้าอยากจะเข้าใจรัฐอันธพาลนั้นต้องเข้าใจ “หาง” หรือลูกสมุน/บริวารว่าจะสร้างสรรค์การใช้อำนาจในการปกครองในพื้นที่นั้นอย่างไร

ตัวอย่างเช่น การที่ไม่ได้มีคำสั่งจากส่วนกลางในการเข้าไปตรวจค้นพื้นที่ หรือกิจกรรมที่อาจจะถูกมองว่าอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อความมั่นคง แต่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่นั้นก็เข้าไปจัดการเสียเอง เพราะกลัวไม่มีอะไรจะรายงานนาย

หรือกลัวว่าตัวเองอาจจะเดือดร้อนถ้าเกิดเรื่องขึ้นมา หรือนายถามขึ้นมาแล้วไม่รู้

ก็เลยอาจจะทำไปโดยไม่ได้ขอคำสั่งจากส่วนกลาง และส่วนกลางก็ขาดระบบในการสอดส่องดูแลในพื้นที่นั้นๆ เสียเอง

เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่เกิดบ่อยในรัฐอันธพาล หรือเป็นรัฐที่เปิดให้อำนาจอันธพาลนั้นทำงานได้อย่างกระจายตัว และใครอยากจะรอดหรือได้ประโยชน์จากระบบนี้ก็เพียงแค่สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับอันธพาลในพื้นที่

หรือบางทีก็รอดูว่าอันธพาลแต่ละกลุ่มเขาจะจัดสรรประโยชน์ในพื้นที่นั้นได้อย่างไร แล้วก็ค่อยไปเจรจาต่อรองถูก

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างรัฐเผด็จการที่อำนาจรวมศูนย์และเป็นระบบระเบียบ กับรัฐอันธพาลที่อำนาจกระจายตัวลงในพื้นที่นั้นไม่ได้หมายความว่ารัฐอำนาจรัฐอันธพาลนั้นเป็นความล้มเหลวของรัฐเผด็จการเสมอไป

อาจมีความเป็นไปได้ว่า รัฐอันธพาลนั้นเป็นได้ทั้ง ผลที่ไม่ได้ตั้งใจของรัฐเผด็จการ (คือ รัฐเผด็จการนั้นมือไม่ถึง ห่วยแตก หรือไม่ได้ตั้งใจให้มันเกิดขึ้น)

หรืออาจเป็นไปได้ว่า รัฐอันธพาลนั้นเป็นยุทธวิธีหนึ่งของรัฐเผด็จการบางแบบที่จะปฏิบัติการและดำรงอยู่ในพื้นที่นั้นได้

แต่สิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างแน่นอน ก็คือรัฐอันธพาลนั้นแม้อาจจะอยู่ในอำนาจได้ และควบคุมพื้นที่ได้ แต่ไม่ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของศูนย์กลางอำนาจนั้นเป็นที่ยอมรับ แถมยังทำให้ความชอบธรรมในการใช้อำนาจของผู้ครองอำนาจที่ศูนย์กลางเสียหายไปเรื่อยๆ

ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าดราม่าพานไหว้ครูจบไป ถ้ามีคำสั่งให้ไปสอดส่องดูแล งานกีฬาสี โดยออกเป็นคำสั่งจากส่วนกลาง ภาพลักษณ์ศูนย์กลางอำนาจก็จะเสียไป และถ้าแต่ละพื้นที่ใช้อำนาจอันธพาลในการเข้าไปห้ามปราบ ขอความร่วมมือ และห้ามปราม ภาพลักษณ์ของรัฐอันธพาล และศูนย์กลางอำนาจรัฐก็เสียไปอยู่ดี ทั้งเสียต่อกลุ่มที่ไม่พอใจอำนาจรัฐ และเสียไปกับกองเชียร์ของรัฐเผด็จการ รัฐอันธพาล ที่ย่อมปั่นป่วนใจว่าคุมสถานการณ์ไม่อยู่ แต่จำต้องอยู่ไปกับความกระด้างกระเดื่องในลักษณะนี้

แม้ว่าจะอยู่ในอำนาจต่อไปได้ แต่การกดบังคับนั้นก็ทำได้ไม่มาก และการสูญเสียแนวร่วมก็ย่อมมากขึ้นในระยะยาว

นอกจากนี้แล้ว ส่วนสำคัญในเรื่องของการวิเคราะห์รัฐจึงควรมีความระมัดระวังสักนิด ที่จะไม่ทำให้เรารู้สึกว่า ยิ่งวิเคราะห์รัฐ โดยเฉพาะการใช้อำนาจรัฐมากขึ้นหรือลึกซึ้งไปเท่าไหร่ จะต้องหมายถึงว่ารัฐนั้นทรงพลานุภาพและอำนาจในการครอบงำสังคม จนมองไม่เห็นถึงความเป็นไปได้ในการต่อสู้กับรัฐเผด็จการและรัฐอันธพาลเหล่าน้้น

ส่วนสำคัญที่รัฐอันธพาลนั้นอยู่ได้ ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่า สังคมนั้นมีความเข้มแข็ง ในระดับที่รัฐเผด็จการนั้นไม่สามารถแทรกตัวลงไปในพื้นที่โดยไม่เกิดแรงปะทะกับพื้นที่

หรืออาจเป็นไปได้ว่า ความเข้มแข็งของสังคมนั้นไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในเงื่อนไขของการปะทะ ต่อต้านที่เปิดเผย

แต่การต่อต้าน และแข็งขืนในสังคมอาจมีลักษณะที่สลับซับซ้อน เช่น การไม่ทำตาม การไม่เห็นเป็นสาระสำคัญ การล้อเลียน การนินทา หรือการจับเอาอำนาจและคำสั่งของศูนย์กลางไปแปลงรูปเปลี่ยนร่างเป็นสิ่งอื่นๆ เพื่อให้สาระสำคัญที่รัฐเผด็จการต้องการส่งลงไปในพื้นที่นั้นไม่ทำงานแบบที่รัฐเผด็จการต้องการ

เคยมีการอธิบายว่า มวลชนนั้นบางครั้งอาจทำตัวเสมือนพื้นที่ (ไม่ใช่รากหญ้า) ที่รองรับการกดกระแทก หรือมวลไฟฟ้าพลังมหาศาล ให้มลายหายไปได้โดยไม่เกิดการปะทะ

และบางครั้งทำให้เกิดความหงุดหงิดของผู้ใช้อำนาจจากศูนย์กลางว่า ทำไมถึงไม่มีการตอบสนองจากในพื้นที่ในแบบที่วัดค่าอะไรได้ หรือบ่อยครั้งเกิดอาการเซอร์ไพรส์กันไปได้ว่า คนบางกลุ่ม บางพื้นที่นั้นทำไมจึงเกิดการปะทุหรือแสดงออกเรื่องการต่อต้านโดยไม่มีสัญญาณใดๆ

ในเงื่อนไขเหล่านี้ รัฐอันธพาลอาจจะเป็นเงื่อนไขที่จงใจที่ศูนย์กลางอำนาจจำต้องเปิดโอกาสให้เครือข่าย หรือสาขาของตนในพื้นที่จำต้องมีอิสระในการใช้อำนาจโดยปราศจากระบบระเบียบ หรือการสั่งการอย่างเป็นเหตุผลและเอกสารจากศูนย์กลาง เพราะว่าการจัดการกับพื้นที่ในแบบรัฐเผด็จการนั้นเป็นไปไม่ได้

และนี่คือเงื่อนไขที่เรายังไม่ค่อยได้ศึกษามากนักในเรื่องปฏิบัติการของรัฐไทยในพื้นที่จริง ด้วยว่าส่วนใหญ่เรายังวิเคราะห์วิจัยกันแต่เรื่องของศูนย์กลางอุดมการณ์และการเมืองในระดับศูนย์กลางอำนาจรัฐ แต่เราไม่ได้ลงพื้นที่ไปเข้าใจการกระจายตัวของอำนาจรัฐ และการสลายอำนาจรัฐ-หลบหลีกอำนาจรัฐในพื้นที่ หรือการเปิดเผยตัวของการต่อต้านขัดขืนในระดับจุลภาคของแต่ละพื้นที่

เราอาจจะพบอะไรอีกมากมายที่ยังไม่เห็นจากสายตาของเผด็จการและอันธพาลครับ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
([email protected])

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image