พลังงานสั่งปตท.-กฟผ.รับมือปิดซ่อมแหล่งก๊าซเจดีเอ.เอ-18

พลังงานสั่งปตท.-กฟผ.รับมือปิดซ่อมแหล่งก๊าซธรรมชาติพื้นที่พัฒนาร่วมไทย–มาเลเซีย (เจดีเอ.เอ-18)

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 7-21 กรกฎาคม 2562 แหล่งก๊าซธรรมชาติพื้นที่พัฒนาร่วมไทย– มาเลเซีย (เจดีเอ เอ-18) จะมีการหยุดซ่อมบำรุงเพื่อปรับปรุงและซ่อมบำรุงอุปกรณ์ผลิตและส่งก๊าซธรรมชาติ รวม 14 วัน ส่งผลให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติหายไปจากระบบประมาณ 440 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ก๊าซธรรมชาติทั้งในด้านเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าและการผลิตก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) กระทรวงพลังงานจึงประสานความร่วมมือหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วางมาตรการรับมือทั้งด้านความพร้อมในการผลิตไฟฟ้า และบริหารจัดการก๊าซเอ็นจีวี เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้ไฟฟ้าและการใช้ก๊าซเอ็นจีวีในพื้นที่ภาคใต้

นายสมภพกล่าวว่า มาตรการรองรับด้านการผลิตไฟฟ้าทาง กฟผ. ประกอบด้วย ปรับระบบการใช้เชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 1 และ 2 ให้มีความพร้อมเดินเครื่องด้วยเชื้อเพลิงสำรอง ได้แก่ น้ำมันดีเซล ช่วงที่ไม่มีก๊าซธรรมชาติจ่ายให้โรงไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง และให้โรงไฟฟ้าภาคใต้ทุกโรง ได้แก่ โรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้ากระบี่ เขื่อนรัชชประภา เขื่อนบางลาง และโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก(เอสพีพี) พร้อมเดินเครื่อง และงดการหยุดซ่อมบำรุงทุกกรณีในช่วงที่แหล่ง เจดีเอ เอ-18 หยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ และประสานการไฟฟ้ามาเลเซียเพื่อซื้อไฟฟ้าในกรณีฉุกเฉิน

นายสมภพกล่าวว่า นอกจากนี้ยังสำรองน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาให้เพียงพอต่อการใช้งานช่วงหยุดจ่ายก๊าซฯ โดยกำหนดน้ำมันดีเซลที่โรงไฟฟ้าจะนะ สำรองขั้นต่ำ 18.6 ล้านลิตร น้ำมันเตาที่โรงไฟฟ้ากระบี่ สำรองขั้นต่ำ 10 ล้านลิตร และประสาน ปตท. เตรียมพร้อมจัดส่งน้ำมันเพิ่มเติมต่อเนื่องตลอดการซ่อมบำรุง รวมทั้งเตรียมความพร้อมระบบสายส่งไฟฟ้าจากภาคกลางที่จ่ายไฟลงมาภาคใต้ให้พร้อมใช้งาน100% และงดการทำงานบำรุงรักษา และเตรียมทีมงานพร้อมเข้าแก้ไขสถานการณ์ทันทีกรณีมีเหตุฉุกเฉิน

Advertisement

นายสมภพกล่าวว่า สำหรับมาตรการรองรับด้านก๊าซเอ็นจีวี ปตท.จะมีการบรรจุก๊าซเอ็นจีวีจัดเก็บใส่รถขนส่งก๊าซฯ เพื่อสำรองไว้ก่อนการหยุดผลิต และวางแผนจัดสรรก๊าซฯ จากพื้นที่ส่วนกลางขนส่งลงมายังพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการประชาชนครอบคลุมสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวีใน 4 จังหวัด จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี 4 แห่ง จังหวัด นครศรีธรรมราช 3 แห่ง จังหวัดสงขลา 4 แห่ง และจังหวัดปัตตานี 1 แห่ง ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการใช้อยู่ที่ 90 ตันต่อวัน และขอความร่วมมือทุกภาคส่วนในพื้นที่ภาคใต้ร่วมประหยัดพลังงานในช่วงเวลา 18.00-21.30 น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image