“กสทช.” ปลื้ม จัดสรรคลื่น 700 MHz “3 ค่าย” ขอเอี่ยว โกยเงินเข้ารัฐ กว่า 5.6หมื่นล. (มีคลิป)

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2562 ที่สำนักงาน กสทช.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เปิดรับคำขอใบอนุญาตและจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ โดยในเวลา 08.30-12.00 น. เปิดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตยื่นคำขอและเอกสารประกอบคำขอรับใบอนุญาต จากนั้นตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารหลักฐานและคุณสมบัติเรียบร้อยแล้ว สำนักงาน กสทช. จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้ารับการจัดสรรคลื่นความถี่

โดยในเวลา 09.39 น. บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือทียูซี ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นำโดยนายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ เข้ายื่นคำขอใบอนุญาตและจัดสรรคลื่นความถี่เป็นรายแรก

ถัดมา เวลา 09.59 น. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือเอดับบลิวเอ็น ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส นำโดย นายสุเทพ เตมานุวัตร์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ และเวลา 11.00 น. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือดีทีเอ็น ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค นำโดยนายนฤพนธ์ รัตสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ เข้ายื่นคำขอใบอนุญาตและจัดสรรคลื่นความถี่ ตามลำดับ

Advertisement

ส่วนช่วงเวลา 13.00 น. เป็นต้นไป เป็นการเข้ารับการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 เม​กะ​เฮิรตซ์ ​โดยผู้ขอรับใบอนุญาตจะทำการเลือกชุดคลื่นความถี่ที่ต้องการ พร้อมเสนอผลประโยชน์ส่วนเพิ่ม (ถ้ามี) เมื่อดำเนินการเรียบร้อย สำนักงาน กสทช. จะประกาศผลการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งการดำเนินการทุกขั้นตอนในการจัดสรรคลื่นความถี่ครั้งนี้ จะมีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เข้าร่วมสังเกตการณ์ เพื่อความโปร่งใส

Advertisement

สำหรับ เอไอเอส นำโดยนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, นายฮุย เว็ง ซอง กรรมการผู้อำนวยการ, นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร, นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป, นายธีร์ สีอัมพรโรจน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน และนายสุเทพ เตมานุวัตร์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เป็นต้น

ส่วน ทรู นำโดยนายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร, นายกิตติณัฐ ทีคะวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม), นายสฤษดิ์ จิณสิทธิ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มด้านปฎิบัติการ, นายวิลเลี่ยม แฮริส หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม), นางสาวยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม), นายวาที เปาทอง หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกฎหมาย (ร่วม), นายคนึงเดช ไตรรัตนอุปถัมภ์ ผู้อำนวยการ ด้านเทคนิค-คุณภาพโครงข่าย และนายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)​ เป็นต้น

ขณะที่ ดีแทค นำโดย นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ, นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี, นายเลิศรัตน์ รตะนานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายประสานงานภาครัฐ, นายรวีพันธ์ พิทักษ์ชาติวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานกฎหมาย, นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ และนางสาวจันทนี ตันตสุรฤกษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เป็นต้น

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดรับคำขอใบอนุญาตและจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิรตซ์ รวม 30 เมกะเฮิรตซ์ ราคาใบอนุญาตละ 17,584 ล้านบาท แบ่งการชำระเป็น 10 ปี อายุใบอนุญาต 15 ปี โดยจะเริ่มชำระค่าใบอนุญาตงวดแรกวันที่ 15 ตุลาคม 2563

สำหรับชุดคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ครั้งนี้ ไม่มีผู้ขอรับใบอนุญาตเลือกชุดคลื่นความถี่ซ้ำกัน โดยชุดที่ 1 ช่วงความถี่วิทยุ 703-713 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับ 758-768 เมกะเฮิรตซ์ น. บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือทียูซี เป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับการจัดสรร

ขณะที่ ชุดที่ 2 ช่วงความถี่วิทยุ 713-723 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับ 768-778 เมกะเฮิรตซ์ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือดีทีเอ็น เป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับการจัดสรร และชุดที่ 3 ช่วงความถี่วิทยุ 723-733 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับ 778-788 เมกะเฮิรตซ์ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือเอดับบลิวเอ็น เป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับการจัดสรร ซึ่งรวมค่าใบอนุญาตทั้งสิ้น 52,752 ล้านบาท และมีรายได้จากการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็นเงิน 56,444.64 ล้านบาท

“รายได้ที่เกิดขึ้นจากการจัดสรรคลื่นความถี่ครั้งนี้ จะนำไปช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เป็นเงินประมาณ 36,000 ล้านบาท ทำให้รัฐมีรายได้ที่เกิดจากการจัดสรรคลื่นความถี่นี้ ประมาณ 16,000 ล้านบาท และการจัดสรรคลื่นความถี่ครั้งต่อไป กสทช. มีแผนจัดสรรแบบหลายคลื่นความถี่พร้อมกัน (มัลติแบรนด์) โดยจะนำคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ออกจัดสรรคู่กับคลื่นความถี่ย่าน 26-28 กิกะเฮิรตซ์ ในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปี 2563 เพื่อรองรับ 5G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” นายฐากร กล่าว

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เปิดเผยว่า การตัดสินใจเข้าร่วมการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เอไอเอสมีการพิจารณาอย่างละเอียด ทั้งเพื่อรองรับการใช้งานของลูกค้าในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงราคาค่าใบอนุญาตด้วย โดยคณะที่ปรึกษาได้ทำการศึกษา แล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) เพื่ออนุมัติเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา

“เลือกคลื่นความถี่ชุดที่ 3 เพราะมีความเหมาะสม สามารถขยายเพิ่มเติมได้ในอนาคต รวมทั้ง จากการศึกษาแล้วพบว่า เกิดปัญหาสัญญาณรบกวนจากการใช้คลื่นความถี่เกิดขึ้นได้น้อย” นายสมชัย กล่าว

นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ กว่าจะพร้อมใช้งานคงต้องอาศัยเวลาอีกสักระยะ แต่การที่ กสทช. นำออกมาจัดสรรเร็วขึ้น เพื่อนำรายได้ไปช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ซึ่งทรูก็มีความยินดี จึงได้มีการเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

“มองว่า คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ทั้ง 3 ชุด ไม่แตกต่างกัน แต่การเลือกคลื่นความถี่ชุดที่ 1 นี้ เพราะคำนึงถึงการประมูลครั้งต่อไปที่จะขยายคลื่นความถี่เพิ่มเติมในอนาคต” นายวิเชาวน์ กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า กรณีการบีบอัดสัญญาณในกิจการทีวีดิจิทัล เพื่อเตรียมพร้อมให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ใช้คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ นั้น กสทช. ต้องให้ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล (มักซ์) ทั้ง 4 ราย 5 ช่อง ได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) รายละ 1 มักซ์ และสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก จำนวน 2 มักซ์ ขยับช่องสัญญาณ โดยจะเร่งรัดให้เสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2563

“ผู้ให้บริการมักซ์ จะต้องเสนอแผนการขยับช่องสัญญาณให้ กสทช. ภายในเดือนสิงหาคม 2562 จากนั้น กสทช. จะนำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ประมาณ 400 ล้านบาท มาสนับสนุนก่อน จากนั้นจึงนำเงินจากการประมูลคลื่นความถี่มาคืน ตามประกาศมาตรา 44 เพื่อให้ผู้ให้บริการมักซ์ นำไปบีบอัดช่องสัญญาณใหม่ เพื่อให้เสร็จทันตามกำหนด” นายฐากร กล่าว

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จะได้รับเงื่อนไขตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 ในการขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ งวดสุดท้ายออกไป 6 งวด (6 ปี) รวมระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาต 10 งวด (10 ปี) จากเดิม 4 งวด (4 ปี)

โดยเอไอเอส จะชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ปี 2563 เป็นเงิน 23,269.29 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ขณะที่ ปี 2564-2568 จะชำระค่าใบอนุญาต ปีละ 8,094.98 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่วน ทรู จะชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ปี 2563 เป็นเงิน 23,613.83 ล้านบาท ขณะที่ ปี 2564-2568 จะชำระค่าใบอนุญาต 8,163.89 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และดีแทค จะชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ปี 2563 เป็นเงิน 7,917.14 ล้านบาท ขณะที่ ปี 2564-2570 จะชำระค่าใบอนุญาต ปีละ 4,072.85 ล้านบาท

 

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image