วสท.เผย เครนก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นมือ 2 ไม่มีกำหนดอายุใช้งาน

นายเอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเผยว่า จากกรณีเครนก่อสร้างในไซต์ก่อสร้างต่อเติมของโรงแรมย่านถนนเจริญกรุง ตกลงมาบริเวณหลังคาที่คลุมสนามบาสเกตบอลของโรงเรียนอัสสัมชันคอนแวนต์ ถนนเจริญกรุง ซอยเจริญกรุง 40 จนทำให้นักเรียนบาดเจ็บ 10 ราย ในจำนวนนี้อาการสาหัส 1 ราย วันนี้ (20 มิถุนายน 2562) วสท.และคณะอนุกรรมการวิศวกรรมยกหิ้วและปั้นจั่นไทย ได้เข้าตรวจสอบภายในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้นยังไม่สามารถประเมินความเสียหายเป็นตัวเลขได้ โดยในขณะนี้ประเทศไทยมีการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการก่อสร้างอาคารสูง ที่อยู่อาศัย ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ที่มีการนำเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ อาทิ ปั้นจั่นหรือเครน มาใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงและอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคธุรกิจการก่อสร้างอาคารสูง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการให้เช่าและตัวแทนจำหน่ายปั้นจั่นกว่า 200 ราย และมีการใช้งานเครนรวมทั่วประเทศกว่า 1,500 เครื่อง ซึ่งผู้ประกอบการมักนิยมเช่าใช้งานมากกว่าซื้อขาด เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า ส่วนการซื้อขาดมักจะพบในผู้ประกอบการที่มีขนาดใหญ่เท่านั้น
 
“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพบว่า มีการเกิดอุบัติเหตุจากเครนไปแล้วกว่า 20 ครั้ง ทำให้สร้างผลกระทบในด้านความปลอดภัยของประชาชนและผู้สัญจร รวมทั้งเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งอุบัติเหตุดังกล่าวยังคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นตามปริมาณกิจกรรมของการก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่น คอนโดมิเนียม รวมไปถึงโครงการขนาดใหญ่รูปแบบต่างๆ ทำให้ทุกฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับและหลักความปลอดภัย เช่น ตามข้อบัญญัติกรุงเทพฯห้ามส่วนหนึ่งส่วนใดของเครนออกนอกพื้นที่ก่อสร้าง ต้องมีการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตั้งเครน และควรให้มีการแจ้งเพื่อติดตั้งเครน ซึ่งต้องมีผู้รับผิดชอบความปลอดภัยในการลงนามกำกับ และผู้ดำเนินการก่อสร้างหรือเจ้าของอาคารต้องทำประกันภัยบุคคลที่ 3 ด้วย”นายเอนกกล่าว
นายเอนก กล่าวว่า ขณะนี้มีกฎหมายในการควบคุมงานในลักษณะนี้แล้ว แต่ยังไม่ชัดเจน ทำให้มีการเสนอให้แก้ไขร่างกฎหมายเพื่อให้ครอบคลุมในทุกมิติยิ่งขึ้น ซึ่งได้เสนอร่างกฎหมายไปแล้ว ตอนนี้น่าจะอยู่ในการพิจารณาของกระทรวงมหาดไทย
ด้านนายหฤษฏ์ ศรีนุกูล คณะอนุกรรมการยกหิ้วและปั้นจั่นไทย กล่าวว่า เครนที่ใช้ในการก่อสร้างมีหลายรูปแบบและเหมาะกับการใช้งานที่แตกต่างกันไป ซึ่งมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 10 ล้านบาท จนถึง 20 ล้านบาท ตามมาตรฐานและขนาดของเครน โดยในขณะนี้พบว่าเครนที่ใช้ในการก่อสร้างของไทยเป็นเครนที่มีการใช้งานมาแล้วและเชื่อว่าเกินครึ่งเป็นเครนมือ 2 เนื่องจากมีราคาสูงผู้ประกอบการจึงนิยมเช่าใช้งานแทนการซื้อขาด ซึ่งกฎหมายของไทยยังไม่มีการกำหนดอายุการใช้งานของเครน แต่ต่างประเทศมีการกำหนดแล้ว อาทิ สหรัฐฯ กำหนดให้ใช้งานได้ 25 ปี สิงคโปร์ 15 ปี ซึ่งหากเกินแล้วสามารถยื่นให้ตรวจสอบเพื่อขอต่ออายุในการใช้งานเครนต่อได้ ส่วนประเทศไทยไม่ได้มีข้อห้ามในส่วนนี้ แต่หากจะนำเครนมาใช้ในงานก่อสร้างโครงการต่างๆ ได้มีการกำหนดให้ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ให้เข้ามาตรวจสอบสภาพเครนตั้งแต่ก่อนติดตั้ง และหลังติดตั้งแล้วเสร็จ รวมทั้งต้องมีการตรวจสอบเครนที่ใช้งานในพื้นที่ก่อสร้างทุก 3 เดือน
“ประเมินเบื้องต้นพบว่าเครนที่เสียหายน่าจะมีมูลค่าประมาณ 2 ล้านบาท เนื่องจากขนาดไม่ใหญ่มากนัก และสาเหตุที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นน่าจะมาจากตัวบุคคลและใช้งานผิดวิธีมากกว่า เพราะสามารถตรวจสอบจากภาพรวมของเครนที่บ่งบอกการใช้งานได้ โดยปกติแล้วบุคลากรที่จะเข้ามาขับเครนจะต้องมีการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งจะต้องมีความรู้ในการใช้งานในระดับหนึ่ง รวมทั้งต้องสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตในการขับเครนด้วย แต่ก็พบว่ามีการขับเครนทั้งที่ไม่มีใบอนุญาต ซึ่งระยะหลังในพื้นที่กรุงเทพฯเริ่มดีขึ้น แต่ตามต่างจังหวัดยังพบเจอผู้ฝ่าฝืนอยู่ ก็อยากให้บุคคลที่เข้ามาทำงานด้านนี้มีความรับผิดชอบและทำงานอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียขึ้น พร้อมทั้งต้องมัการตรวจสอบสภาพเครื่องจักรทุกเดือน เพื่อให้พร้อมในการใช้งานจริงๆ เพราะเข้าใจว่าหากมีการกำหนดอายุการใช้งานเครน ก็จะกระทบต่อผู้ประกอบการที่จะต้องซื้อเครนใหม่ เนื่องจากมีราคาสูง”นายหฤษฏ์กล่าว

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image