วิกฤตศรัทธา โดย : ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

อันประเด็นปัญหาร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่ประเทศจีน แม้ “แคร์รี่ หล่ำ” ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกงได้ออกมาขอโทษประชาชนแล้วก็ตาม แต่คนฮ่องกงเห็นว่า ยังมิใช่เป็นการสนองต่อวัตถุประสงค์ การชุมนุมประท้วงที่หน้ารัฐสภาจึงยังดำรงอยู่

(หมายเหตุ: บทความเขียนวันที่ 21 มิถุนายน)

การปกครองระบอบประชาธิปไตย ในกรณีที่รัฐบาลบริหารผิดพลาด เกิดวิกฤตศรัทธา

หัวหน้ารัฐบาลแสดงสปิริตลาออก หรือยุบสภาเลือกตั้งใหม่ หรือปรับคณะรัฐมนตรี

Advertisement

“เทเรซ่า เมย์” อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เป็นตัวอย่างที่ดีของนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เมื่อประเด็น “Brexit” ล้มเหลวก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง

แต่ฮ่องกงมีระบอบการเมือง “ผ่าเหล่าผ่ากอ” กล่าวคือ ผู้ว่าฯมี 2 สถานภาพ โดยต้องรับผิดชอบต่อทั้งรัฐบาลฮ่องกงและปักกิ่ง จึงมีปัญหา “คาบลูกคาบดอก”

จากสภาพการณ์การเมืองปัจจุบัน การปรับคณะผู้บริหาร หรือทำการปฏิรูประบบการประชุมอันเกี่ยวแก่การบริหารนั้น น่าจะเป็นทางออกที่ดีและมีโอกาศเป็นไปได้

หลังจากการชุมนุมประท้วง “แคร์รี่ หล่ำ” ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน โดยมีสาระสำคัญว่า “หลังจากที่รัฐบาลประกาศชะลอการยื่นร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นการชั่วคราว ก็ยุติการทำงานด้านนิติบัญญัติทันที ทั้งนี้ มิได้กำหนดตารางเวลา แต่ก่อนการยุติความขัดแย้ง จะไม่มีการนำร่างกฎหมายมาดำเนินต่อไปเป็นอันขาด ภายในระยะ 3 ปีข้างหน้า แม้การบริหารจะต้องประสบปัญหา แต่รัฐบาลก็จะพยายามเรียกศรัทธาคืนมา”

จากถ้อยคำให้สัมภาษณ์ของ “แคร์รี่ หล่ำ” ชัดเจนยิ่งว่า “ไม่ลาออกจากตำแหน่ง”

“ไฟแนนเชียลไทม์” และสื่อต่างประเทศมีความเห็นตรงกันว่า ประเด็นร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่ประเทศจีนได้ลุกลามกลายเป็นวิกฤตศรัทธาของรัฐบาลไปโดยพลัน และไม่เชื่อถ้อยแถลงของ “แคร์รี่ หล่ำ” เพราะยังมีความกังวลว่า ในอนาคตอาจนำเอาร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมายื่นให้รัฐสภาพิจารณาอีก ฉะนั้น จึงขอให้รัฐบาลพูดให้ชัดเจนว่า “ถอนร่าง” แน่นอน

สื่อต่างประเทศได้อ้างอิงถึงความประสงค์ของคนฮ่องกงว่า “ถอนร่าง” เพียงคำเดียวที่ชาวฮ่องกงปรารถนาจะได้ยิน เพราะว่าวันนี้รัฐบาลฮ่องกงขาดความเชื่อถือโดยสิ้นเชิง

รัฐบาลเขตปกครองพิเศษฮ่องกงกำลังเผชิญกับปัญหา “วิกฤตศรัทธา” อันเกิดจากปฐมเหตุของโครงสร้างการบริหาร มีความจำเป็นต้องอาศัยระบบการเมืองทำการปฏิรูป

นอกจากนี้ ฮ่องกงยังมีราชการงานเมืองอีกเป็นจำนวนมากที่จะต้องจัดการ การที่จะให้รัฐบาลอยู่ในสภาพ “กึ่งอัมพาต” นั้น ไม่อยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้

รัฐบาลประชาธิปไตยตะวันตก หากบริหารราชการผิดพลาด ตกอยู่ในภาวะวิกฤตศรัทธา และเป็นประเทศที่ใช้ระบอบรัฐสภา สามารถจัดการให้มีการเลือกตั้งก่อนกำหนดได้ หรือทำการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคการเมือง หรือจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ตามสมควรแก่เหตุ

ส่วนประเทศที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข การปรับคณะรัฐมนตรีก็เป็นเรื่องที่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ อาทิ เมื่อปีที่แล้ว ประเทศฝรั่งเศสได้เกิดมีการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “เสื้อกั๊กเหลือง” ประธานาธิบดีได้ออกมาขอโทษประชาชน และทำการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ เป็นต้น

ส่วนฮ่องกง เนื่องจากเป็นการปกครองที่มีประชาธิปไตยไม่เต็มใบ อีกประการ 1 ก็มิใช่การบริหารด้วยพรรคการเมือง การจัดการเลือกตั้งก่อนหรือเปลี่ยนหัวหน้าพรรคคือคนละเรื่องกัน

ไม่ว่าการแต่งตั้ง ปลดออกหรือลาออกจากตำแหน่ง อำนาจขึ้นอยู่กับรัฐบาลกลางปักกิ่งโดยตรง เช่น เมื่อปี 2005 “ต่ง เจี้ยนหัว” ผู้ว่าฯคนแรกของเขตปกครองพิเศษฮ่องกงได้อ้างว่าเกิดอาการ “เจ็บเท้า” ลาออกจากตำแหน่ง ก็ต้องให้ปักกิ่งอนุมัติ

การเดินขบวนชุมนุมประท้วงเริ่มขึ้นวันแรกคือ 12 มิถุนายน วิกฤตศรัทธาผ่านมา 10 วัน สถานการณ์การเมืองฮ่องกงได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ แม้ว่า “แคร์รี่ หล่ำ” จะใช้วาทกรรมอย่างใดพูดคุยกับคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ก็ดูเหมือนว่าไม่ประสบความสำเร็จ

ก็เพราะร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนงานเดียว ไม่ว่าความเชื่อถือของรัฐบาล ไม่ว่าความเชื่อถือของ “แคร์รี่ หล่ำ” ล้วนเปรียบเสมือน “ดุลการค้าขาดดุล” ถึงขั้นล้มละลาย

“We connect” กลายเป็น “Disconnect” แม้ว่าทางการจะพยายามปรับความเข้าใจกับคนรุ่นหนุ่มและประชาชนทั่วไป แต่ก็ดูไร้ผล หากไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา “ร่างกฎหมาย” ก็คงยากที่จะได้รับความเชื่อถือและ “Reconnect”

เป็นประเด็นที่ผู้บริหารจะต้องทำการบ้านอย่างหนักและดำเนินการแก้ไขโดยพลัน

หลายเดือนที่ผ่านมา ประชาชนไม่พอใจกับการบริหารงานของข้าราชการระดับสูงส่วนหนึ่งที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐบาลจึงต้องพิจารณาว่าควรทำการปรับเปลี่ยนหน้าที่อย่างไรหรือไม่ กรณีเสมือนเป็นการ “ถ่ายเลือด” ซึ่งอยู่ในอำนาจของผู้ว่าฯที่ดำเนินการได้อยู่แล้ว อย่างน้อยที่สุดก็คงทำให้บรรยากาศที่ขมุกขมัวได้ทุเลาลงไปได้บ้าง ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่ก็มิได้หมายความว่าเป็น “ช่องทาง” ที่รัฐบาลจะผ่านพ้นวิกฤตไปได้แน่นอน

เพราะว่ามิใช่ “ยาสารพัดนึก”

ความขัดแย้งร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน เป็นที่ประจักษ์ว่ารัฐบาลกับประชาชนเกิดความแตกแยกยากแก่การเยียวยา เพราะขัดต่ออารมณ์และทัศนคติของคนฮ่องกง ถึงขั้น “Disconnect”

“แคร์รี่ หล่ำ” ผู้ว่าฯ ได้ให้คำมั่นว่าจะรีบดำเนินการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ตลอดจนองค์กรและกลุ่มชนทุกสาขาอาชีพ โดยจัดให้มีการเจริญไมตรีอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะกับคนรุ่นหนุ่มสาว รัฐจะจัดให้มีการสนทนากันโดยตรง เพื่อกระชับไมตรี

งานเฉพาะกิจ “Reconnect” จำเป็นจะต้องฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อจะได้ข้อมูลที่หลากหลาย มาทำการปรับปรุงแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพื่อมิให้ย่ำรอยประวัติศาสตร์

ถ้ารัฐบาลมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหา การเรียก “ศรัทธา” คืน ก็มิใช่จะเป็นไปไม่ได้

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image