กสอ. ปั้นเกษตรกรเป็นนักรบพันธุ์ใหม่ปลูกกัญชาใช้ศูนย์ไอทีซีแหล่งผลิตสารสกัดขายตรงรพ.

นายจารุพันธุ์ จารโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ในฐานะรองประธานคณะทำงานขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ กลุ่มกัญชาและสมุนไพร เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนพัฒนากลุ่มกัญชา ว่า เตรียมพัฒนาศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม หรือศูนย์ไอทีซี ที่อยู่ในศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคต่างๆ ของกสอ.ให้มีเครื่องมือ อุปกรณ์ในการทำสารสกัดกัญชา เพื่อให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเข้ามาใช้อุปกรณ์ ผลิตสารสกัดกัญชาอย่างถูกกฎหมาย ขายตรงให้กับโรงพยาบาล รวมทั้งจะให้ความรู้หลายๆด้าน อาทิ การทำตลาด การสกัด การทำระบบ การขนย้ายให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกร เป็นนักธุรกิจพันธุ์ใหม่ รองรับนโยบายการทำสกัดสารกัญชา ใช้ทางการแพทย์ที่ถูกกฎหมาย

“นโยบายเรื่องกัญชา พี่น้องเกษตรกรต้องได้ประโยชน์กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เร่งปรับศูนย์ภาค เบื้องต้นนำร่อง 3 แห่ง คือ ศูนย์ไอทีซี ภาค 1 จ.เชียงใหม่ , ศูนย์ไอทีซี ภาค 4 จ.อุดรธานี และศูนย์ไอทีซี ภาค 10 จ.สุราษฎร์ธานี ให้เตรียมเครื่องมือรองรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องเข้ามาใช้ศูนย์ ลักษณะเป็นโรงงานโออีเอ็ม ผลิตขายตรงให้กับโรงพยาบาล เบื้องต้นมีโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โรงพยาบาลท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานีสนใจ รวมทั้งสถาบันโรคผิวหนัง และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สนใจด้วยเช่นกัน เพราะมีผลวิจัยระบุว่า ถ้าใช้สารสกัดน้ำมันกัญชาอย่างถูกต้องจะดีขึ้นได้”นายจารุพันธุ์กล่าว

นายจารุพันธุ์ กล่าวว่า นอกจากนี้จะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานให้ถูกกฎหมาย อาทิ การขนย้ายวัตถุดิบสดกัญชาจากกลุ่มเกษตรกร การส่งโรงงานไปแปรรูป การทำสารสกัดกัญชาทำ รวมทั้งจะหารือร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติอทำความเข้าใจการปลูกกัญชาให้ได้ประสิทธิภาพ และเป็นไปตามกฎหมาย โดยที่ผ่านมาได้สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ(องค์การมหาชน) หรือเบโด้ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้คัดเลือกสายพันธุ์กัญชาที่เหมาะสมมาให้เกษตรกรเพาะปลูก รวมถึงกระบวนการเพาะปลูกต้องทำอย่างไร เช่น ลักษณะเดียวกับนาแปลงใหญ่, สมาร์ทฟาร์มเมอร์ โดยต้องจำกัดการเพาะปลูกตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้

“ตอนนี้ได้เตรียมทุกอย่างไว้หมดแล้ว เพื่อรองรับหากกฎหมายผ่าน จะดำเนินการได้ทันทีตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้ โดยแผนใหญ่ที่เป็นรูปธรรมทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ จะลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ร่วมกันกับทุกภาคส่วน จะขยายผลน้ำมันสกัดกัญชา ทั้งเรื่องใช้ทางการทางการแพทย์ รวมทั้งให้กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นำไปใช้ในอาหารเสริม พัฒนาเวชสำอางต่างๆ ที่กฎหมายอนุญาต”นายจารุพันธุ์กล่าว

Advertisement

ด้านนายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้เข้ารับบริการศูนย์ไอทีซี 4.0 เพื่อพัฒนาสินค้าจำนวนมากกว่า 15,000 ราย ส่งผลให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 2,500 ล้านบาท และภายในปี 2564 กสอ.ตั้งเป้าผู้ใช้บริการกว่า 50,000 ราย คาดว่า ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 50,000 ล้านบาท โดยขณะนี้ศูนย์ไอทีซี 4.0 มีให้บริการจำนวน 105 แห่งทั่วประเทศ เช่น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด 76 แห่ง ศูนย์ภาคของกสอ. ในส่วนภูมิภาค 12 แห่ง เครือข่ายที่ให้บริการเฉพาะทาง เช่น ไอทีซี- เอสเอ็มอีของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย13 แห่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image