ไข้เลือดออกระบาด! แนะปชช.กางมุ้งนอน สังเกตอาการป่วยมีจุดเลือด พบแพทย์ทันที

ไข้เลือดออกระบาด! แนะ ปชช.กางมุ้งนอน สังเกตอาการป่วยมีจุดเลือด พบแพทย์ทันที

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่จังหวัดนครพนม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากในปีนี้สภาพอากาศร้อนอบอ้าวและมีฝนตกชุก นำมาสู่การขยายพันธุ์ของลูกน้ำยุงลายที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ซึ่งจากข้อมูลระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค 506 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2562 พบว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2562 ของจังหวัดนครพนม มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 12 อำเภอ รวม 185 ราย คิดเป็นอัตราการป่วย ประมาณ 26 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งเพิ่มมากกว่าปี 2561 ณ ช่วงเดียวกัน 2.18 เท่า

นายแพทย์ จิณณพิภัทร ชูปัญญา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ในจำนวน 185 รายนั้นมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม เป็นเด็กชาย อายุ 12 ปี 3 เดือน อยู่ที่บ้านทุ่งมน ตำบลคำเตย อำเภอเมืองนครพนม ซึ่งผู้ป่วยรายนี้มีปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการเสียชีวิตด้วย คือป่วยเป็นโรคอ้วน และเข้ารับการรักษาช้า ประกอบกับได้รับยา NSAIDs ก่อนมารับการรักษาที่โรงพยาบาล และมีการรับประทานยาต้มสมุนไพร ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะไตวาย ตับวาย ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนมได้มีการส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ควบคุมโรคภายใน 1 วัน เพื่อจำกัดวงแพร่ระบาดรวมถึงมีการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายจัดตั้ง War Room ขึ้นมาเพื่อติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการประสานหน่วยงานในสังกัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายในการทำงานเชิงรุกด้วยการลงพื้นที่ตรวจสอบ ระดมเครื่องมือ อุปกรณ์ฉีดพ่นควัน แจกจ่ายทรายอะเบท และกำจัดภาชนะต้นเหตุของแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย รวมถึงการสร้างความเข้าใจในการระวังภัยไข้เลือดออกและการป้องกันตัวเองให้กับประชาชน ในส่วนของโรงพยาบาลนครพนมเองก็มีมาตรการในกางมุ้งให้กับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยเช่นเดียวกัน

“ฝากถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้ช่วยกันสอดส่องดูแลให้ทุกคนนอนกางมุ้ง หากพบว่าบุตรหลาน คนในครอบครัว หรือตัวท่านมีอาการป่วย มีไข้ กินยาลดไข้แล้วไข้ยังไม่ลด คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ซึ่งเป็นอาการเบื้องต้นของโรคไข้เลือดออก ไม่ต้องรอให้เกิดจุดเลือดใต้ผิวหนัง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดตรวจทันที ก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการช็อกและเสียชีวิต เพราะปัจจุบันโรคไข้เลือดออกยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน การรักษาจึงเป็นแบบประคองตามอาการจนกว่าผู้ป่วยจะฟื้นตัวและหายจากอาการป่วย ซึ่งหลังการรักษาโรคไข้เลือดออกช่วงที่ไข้ลดลงในวันที่ 3-4 หากผู้ป่วยมีอาการซึมลง กินดื่มไม่ได้ให้รีบกลับมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอีกครั้ง”

นายแพทย์ จิณณพิภัทร ชูปัญญา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม
นายแพทย์ จิณณพิภัทร ชูปัญญา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image