คต.ชี้4เดือนปีนี้ผู้ส่งออกใช้สิทธิเอฟทีเอ-จีเอสพี เพิ่ม5%อาเซียนยังครองแชมป์

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ช่วง 4 เดือนของปี 2562 มีมูลค่ารวม 24,274.56 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ที่ 80.27% เพิ่มขึ้น 5% โดยแบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 22,546.79 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.88% และภายใต้ GSP มูลค่า 1,727.77 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.15%

นายอดุลย์ กล่าวว่า สำหรับการใช้สิทธิ์ภายใต้ FTA จำนวน 12 ฉบับ โดย FTA อาเซียน-ฮ่องกง เป็นฉบับล่าสุดที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2562 ที่มีมูลค่า 22,546.79 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.88% นั้น คิดเป็นร้อยละ 79.79 ของมูลค่าการส่งออกภายใต้ FTA ไปยังประเทศคู่ภาคีความตกลง

โดยตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. อาเซียน มูลค่า 8,272.23 ล้านเหรียญสหรัฐ 2. จีน มูลค่า 6,224.76 ล้านเหรียญสหรัฐ 3. ออสเตรเลีย มูลค่า 2,669.72 ล้านเหรียญสหรัฐ 4. ญี่ปุ่น มูลค่า 2,578.61 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 5. อินเดีย มูลค่า 1,535.61 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายอดุลย์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ พบว่าตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด คือ เปรู เพิ่มขึ้น 35.36% รองลงมาคือ จีน เพิ่ม 16.07% และอินเดีย เพิ่ม 8.77% สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ไทย-ชิลี 109.12% 2. อาเซียน-จีน 99.01% 3.ไทย-เปรู 97.31% 4. ไทย-ญี่ปุ่น 93.70% และ 5. อาเซียน-เกาหลี 87.01%

Advertisement

รายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียนสด น้ำตาลจากอ้อย และผลไม้ประเภทฝรั่ง มะม่วง และมังคุดสดหรือแห้ง

นายอดุลย์ กล่าวว่า กรมฯ คาดว่าการส่งออกไปยังอาเซียนและ CLMV จะมีการใช้สิทธิประโยชน์ฯ เพิ่มมากขึ้นอีก หลังจากจะเริ่มใช้ Form D ที่ใช้หลักการซื้อขายผ่านนายหน้า 2 รูปแบบควบคู่กัน คือ Third Country Invoicing ร่วมกับ Back-to-Back ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป โดยหลักการนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำเข้าสินค้าที่ใช้ Form D แบบ Third Country Invoicing ที่แนบ invoice ของพ่อค้าคนกลางประกอบการใช้สิทธิฯ ควบคู่กับมาขอ Form D แบบ Back to Back เพื่อกระจายสินค้าขายต่อไปยังประเทศอาเซียนอื่นๆ โดยเฉพาะการขายต่อไปยังประเทศกลุ่ม CLMVได้ ซึ่งจะเอื้อต่อระบบการค้าปัจจุบันที่มีการซื้อขายผ่านนายหน้า และช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการไทยที่มีเครือข่ายทางการค้าและมีศักยภาพด้านโลจิสติกส์ให้มีแต้มต่อเพื่อแข่งขันได้ด้วยต้นทุนที่ถูกลงจากการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ที่ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังจะทำให้ไทยสามารถพัฒนาเป็นฮับกระจายสินค้าในภูมิภาคอาเซียนได้ด้วย

นายอดุลย์ กล่าวว่า ในส่วนของการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP จำนวน 4 ระบบ ประกอบด้วย สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ญี่ปุ่นตัดสิทธิการให้ GSP แก่ไทยตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2562 มีมูลค่า 1,727.77 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.15% มีอัตราการใช้สิทธิ 87% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP โดยสหรัฐฯ ยังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากที่สุด คือ 92% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด มีมูลค่า1,591.58 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.21% มีอัตราการใช้สิทธิ 106.63% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP มีมูลค่า 1,492.64 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง รถจักรยานยนต์ และแว่นตาที่ไม่ใช่กันแดด

ส่วนกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศระงับสิทธิ GSP กับอินเดีย โดยได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2562 ที่ผ่านมา เนื่องจากอินเดียไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการเปิดตลาดอย่างถูกต้องเหมาะสม และมีการออกมาตรการกีดกันทางการค้าที่ส่งผลเชิงลบต่อการค้าของสหรัฐฯ ดังนั้น เมื่ออินเดียถูกสหรัฐฯ ระงับสิทธิ GSP ผู้นำเข้าสหรัฐฯ อาจหันมาซื้อสินค้าจากแหล่งอื่น จึงถือเป็นโอกาสอันดีของไทยที่จะผลิตสินค้าเพื่อส่งออกทดแทนสินค้าอินเดียในสหรัฐฯ โดยเฉพาะรายการที่ยังมีมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ไม่สูงมากนัก

กลุ่มสินค้าที่ไทยน่าจะมีโอกาสบุกตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ ของทำด้วยหิน กระเป๋าถือและของที่พกติดกระเป๋าทำด้วยหนัง เครื่องจักสาน คาร์บอนกัมมันต์ (ถ่านสำหรับกรองอากาศในเครื่องปรับอากาศ) และแผ่นทำด้วยโพลิเมอร์ของโพรพิลีน เนื่องจากอินเดียจะต้องเสียภาษีนำเข้าปกติที่ประมาณ 0.1-54.6% ส่งผลให้สินค้านำเข้าจากอินเดียมีต้นทุนสูงขึ้น โดยในปี 2561 อินเดียมีมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ไปสหรัฐฯ รวม 6,234.84 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ไปสหรัฐฯ 4,314.90 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายอดุลย์ กล่าวว่า การใช้สิทธิประโยชน์ ช่วง 4 เดือน ที่มีมูลค่า 24,274.56 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% คิดเป็น 29.96% ของเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสวนทางกับภาวะการส่งออกของไทยช่วง 4 เดือนแรกลดลง 1.86% โดยต้องจับตามองปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก เช่น ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง การแข็งค่าของเงินบาทที่ทำให้ประเทศคู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อสินค้าจากไทย อีกทั้งผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ เป็นต้น

” ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้อาจจะส่งผลต่อเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ปี 2562 ที่กรมตั้งไว้ 81,025 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% ได้ แต่กรมจะไม่หยุดส่งเสริมและผลักดันการใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออก และจะเดินหน้าปรับปรุงระบบการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการจัดกิจกรรมสัมมนาเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงสิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้อัตราการขยายตัวมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์บรรลุได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ” นายอดุลย์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image