“กสทช.” เตรียมยืมเงินกองทุน กทปส. 4,847 ลบ. ชดเชยกิจการทีวีดิจิทัล

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. ได้อนุมัติเงินเยียวยาให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ขอคืนใบอนุญาต

สำหรับช่องสปริง 26 ยอดเงินประมูลใบอนุญาต 2,200 ล้านบาท โดยมีการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแล้ว 3 งวด เป็นเงิน 1,472 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นค่าธรรมเนียมคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้งาน (16 สิงหาคม 2562-24 เมษายน 2572) เป็นเงิน 951.064 ล้านบาท หักผลประโยชน์ที่ได้รับระหว่างประกอบกิจการ รวม 60.229 ล้านบาท ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2562 ได้แก่ ค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (มักซ์) จำนวน 26.250 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมตามเกณฑ์ (มัสต์แครี่) จำนวน 33.979 ล้านบาท รวมค่าชดเชยที่จะได้รับ (15 สิงหาคม 2562) เป็นเงินจำนวน 890.834 ล้านบาท หักค่าใบอนุญาตงวดที่ 4 ที่ค้างชำระพร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 215.070 ล้านบาท ดังนั้น ช่องจะได้รับค่าชดเชยสุทธิ เป็นเงินจำนวน 675.764 ล้านบาท

นายฐากร กล่าวว่า ส่วนช่องสปริงนิวส์ 19 ยอดเงินประมูลใบอนุญาต 1,318 ล้านบาท โดยมีการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแล้ว 4 งวด เป็นเงิน 878.8 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นค่าธรรมเนียมคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้งาน (16 สิงหาคม 2562-24 เมษายน 2572) เป็นเงิน 567.795 ล้านบาท หักผลประโยชน์ที่ได้รับระหว่างประกอบกิจการ รวม 66.843 ล้านบาท ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2562 ได้แก่ ค่ามักซ์ จำนวน 27 ล้านบาท ค่ามัสต์แครี่ จำนวน 35.431 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 4.412 ล้านบาท ดังนั้น ช่องจะได้รับค่าชดเชยสุทธิ เป็นเงินจำนวน 500.951 ล้านบาท

“สำหรับแผนเยียวยากับพนักงานที่ได้รับผลกระทบ ทั้งช่องสปริง 26 และช่องสปริงนิวส์ 19 เป็นไปตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด และจ่ายเงินชดเชยเพิ่มอีก 1 เท่าของเงินเดือน” นายฐากร กล่าว

Advertisement

นายฐากร กล่าวว่า ส่วนช่องไบรท์ทีวี ยอดเงินประมูลใบอนุญาต 1,298 ล้านบาท โดยมีการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแล้ว 4 งวด เป็นเงิน 866.8 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นค่าธรรมเนียมคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้งาน (16 สิงหาคม 2562-24 เมษายน 2572) เป็นเงิน 560.042 ล้านบาท หักผลประโยชน์ที่ได้รับระหว่างประกอบกิจการ รวม 60.942 ล้านบาท ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2562 ได้แก่ ค่าเช่ามักซ์ จำนวน 26.25 ล้านบาท และค่ามัสต์แครี่ จำนวน 34.692 ล้านบาท รวมค่าชดเชยที่จะได้รับ (15 สิงหาคม 2562) เป็นเงินจำนวน 499.099 ล้านบาท หักค่าใบอนุญาตงวดที่ 4 ที่ค้างชำระพร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 127.116 ล้านบาท ดังนั้น ช่องจะได้รับค่าชดเชยสุทธิ เป็นเงินจำนวน 371.983 ล้านบาท

“ขอให้ทั้ง 3 ช่องที่ได้รับอนุมัติเงินเยียวยาแล้ว ยื่นเรื่องขอรับเงินคืนจากสำนักงาน กสทช. ได้ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป ส่วนความคืบหน้าในการยื่นแผนเยียวยาเพื่อรับการชดเชย ล่าสุดวอยซ์ทีวีได้ยื่นหลักฐานเข้ามาแล้ว โดยคณะอนุกรรมการกำหนดวิธีการและเงื่อนไขการชดเชยกรณีคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล จะพิจารณาในวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 และจะเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เหลือเพียงช่อง 13 (ช่อง 3 แฟมิลี่) ช่อง 28 (ช่อง 3 เอสดี) และช่อง 14 (เอ็มคอตแฟมิลี่)” นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า กสทช.จะยืมเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) วงเงินประมาณ 4,847.198 ล้านบาท เพื่อใช้ชดเชยโดยแบ่งออกเป็น เงินเยียวยาให้กับผู้ประกอบการที่ขอคืนใบอนุญาตทั้ง 7 ช่อง รวม 2,962.798 ล้านบาท, ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่ 5 ของช่อง 7, สปริงนิวส์ 19 และช่องเวิร์คพอยท์ เป็นเงิน 986.6 ล้านบาท, ค่ามักซ์ เป็นเงิน 552.8 ล้านบาท รวมถึงค่าปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ของผู้ให้บริการมักซ์ รวม 345 ล้านบาท

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image