รมช.พาณิชย์ลงตรวจสินค้าประมง ยันไม่พบลักลอบนำเข้าจากเพื่อนบ้าน ด้านตัวแทน ชี้มีจริงวอนรัฐเร่งแก้ไข

รมช.พาณิชย์ลงตรวจสินค้าประมง ยันไม่พบลักลอบนำเข้าจากเพื่อนบ้าน ด้านตัวแทนชาวประมง ชี้มีจริงวอนรัฐเร่งแก้ไข

เมื่อเวลาประมาณ 05.00 น. วันที่ 27 มิถุนายน น.ส.ชุติมา บุญยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย นายประโยชน์ เพ็ญสุด รองอธิบดีกรมการค้าภายใน นายคณิศร์ นาคสังข์ ผู้อำนวยการ กองควบคุมการค้าสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต กรมประมง และคณะ ได้เดินทางมาเยี่ยมชมตลาดทะเลไทยและติดตามสถานการณ์สินค้าประมง ที่ตลาดทะเลไทย หมู่ที่ 1 ต.ท่าจีน อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยมีนายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด นางอำไพ หาญไกรวิไลย์ ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร นายปรีชา ศิริแสงอารำพี ประธานบริหารตลาดทะเลไทย นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร ตัวแทนชมรมผู้ขายปลาสมุทรสาคร ตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน และตัวแทนชาวประมง ร่วมให้การต้อนรับพร้อมกับนำเยี่ยมชมแพกุ้ง แพปลา แพสินค้าประมงต่างๆ ที่จำหน่ายแบบค้าส่งภายในตลาดทะเลไทย ก่อนที่จะมีการหารือ และรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนชาวประมงเกี่ยวกับสถานการณ์การนำเข้าสินค้าประมงจากประเทศเพื่อนบ้าน ผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน การควบคุมมาตรฐานสินค้าประมงจากต่างประเทศ รวมถึงความแตกต่างทางด้านราคาของสินค้าประมงภายในประเทศ กับต่างประเทศ ที่ส่งผลทำให้การจำหน่ายสินค้าประมงของไทยลดต่ำลง และชาวประมงต้องแบกรับภาระมากขึ้น เนื่องจากขาดการกำกับควบคุมที่มีเสถียรภาพจากรัฐบาลไทย

นางสาวชุติมา บุญยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในวันนี้กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกับจังหวัดสมุทรสาคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตลาดทะเลไทย เพื่อตรวจสอบเรื่องของการลักลอบนำเข้าสินค้าประมง ที่ส่งผลกระทบทำให้ราคาสัตว์น้ำตกต่ำ และสินค้าล้นตลาด ตามที่มีเสียงสะท้อนจากพี่น้องชาวประมงทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ จึงได้ลงมาดูว่ามีจุดตรงไหนที่เป็นช่องว่างในการลักลอบนำสินค้าประมงเข้ามาในไทยได้ เพราะว่าสินค้าประมงจากต่างประเทศที่จะเข้ามาในไทยได้นั้น จะต้องผ่านการตรวจสอบจากกรมประมงซึ่งเป็นผู้ดูแลในทุกๆ จุด ตั้งแต่ในเรือจนถึงเอาสินค้าขึ้นฝั่ง ซึ่งขณะก็นี้ยังไม่เห็นเลยว่าตรงไหนที่จะเกิดการลักลอบได้ โดยที่ตลาดทะเลไทยแห่งนี้ซึ่งเป็นแพสินค้าประมงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก็ยังไม่พบการลักลอบการนำเข้า ซึ่งการที่ลงมาดูตรงจุดนี้เพื่อจะให้มั่นใจว่าระบบที่วางไว้มีประสิทธิภาพ และยังได้หารือกับทางประมงเพิ่มเติมในเรื่องของการจัดทำเอกสารของรถขนส่งสินค้าสัตว์น้ำทะเล เพื่อความมั่นใจและป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าประมง

รมช.กระทรวงพาณิชย์ กล่าวอีกว่า ในส่วนที่ 2 คือ ความเสียหายจากการที่มีของนำเข้ามา ทำให้ราคาสินค้าประมง ที่มีการค้าขายแบบขายส่งตกต่ำลงนั้น ก็ต้องมาดูว่าเป็นอย่างไร ซึ่งประเทศไทยเรา เป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าประมงแปรรูปและมีการเปิดเสรีการค้าในกลุ่มอาเซียนนั้น ก็ต้องมาดูกันว่าสินค้าหรือปัจจัยตัวไหนที่เราลดภาษีแล้วส่งผลดีก็ดำเนินการไปตามระบบ แต่ถ้าสินค้าตัวไหนที่นำเข้าจากเพื่อนบ้านมาแล้วส่งผลทำกระทบต่อประเทศไทย ทำลายตลาดของบ้านเรา ทางเราก็ยังคงต้องตรึงภาษีที่สูงไว้ ไม่ใช่ลดไปทุกอย่าง ซึ่งในมาตรการของการลดภาษีในกลุ่มอาเซียนนั้น ไม่ใช่แค่ไทยเราลดเพียงอย่างเดียวแต่สมาชิกในกลุ่มก็ลดด้วย อีกทั้งด้านที่ว่ามีการลักลอบนำเข้าแล้วส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าประมงของไทยนั้น ก็ต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน และพิสูจน์กันให้ได้ว่า มีการลักลอบนำเข้าจริง ส่งผลต่อราคาสินค้าในตลาดจริง หากพบการกระทำดังกล่าว ทางกรมประมงก็จะมีมาตรการเข้าไปดูแลได้เรียกว่ามาตรการ เซฟการ์ด แต่ขณะนี้ยังไม่มีเหตุการณ์ลักษณะนั้นเกิดขึ้น

Advertisement

ขณะที่ทางด้านของนายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร ได้ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวในด้านที่ตรงกันข้ามว่า สถานการณ์จริงในปัจจุบันนี้พบว่ามีการลักลอบนำเข้าสินค้าประมงจากประเทศเพื่อนบ้านจริง โดยลักลอบนำเข้ามาทางชายแดนระหว่างประเทศ แต่ปริมาณจะมากน้อยแค่ไหนนั้น ชาวประมงไม่สามารถไปตรวจสอบได้ และกระบวนการลักลอบเป็นอย่างไรก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ ต้องขึ้นอยู่กับระบบของภาครัฐที่รับผิดชอบ แต่ยืนยันได้ว่ามีการลักลอบนำเข้ามาจริง และส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อพี่น้องชาวประมงไทย อีกทั้งการเปิดการค้าเสรีประกอบกับ ข้อกำหนดของ IUU Fishing ก็ส่งผลทำให้ราคาสินค้าที่พี่น้องชาวประมงควรจะได้รับตกต่ำลง นั่นคือ เมื่อมีการนำเข้าหรือลักลอบนำสินค้าประมงจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา ทั้งๆที่สินค้าเหล่านั้นก็ถูกควบคุมจาก IUU และไม่ได้มาตรฐานเท่าสินค้าของไทยแต่ราคาถูกกว่า เมื่อส่งมาจำหน่ายยังตลาดก็ทำให้ราคาสินค้าประมงจากต่างประเทศถูกกว่าสินค้าประมงของไทย ดังนั้นประมงไทยก็ต้องขายในราคาที่ต่ำลง ทั้งๆที่ต้นทุนของประมงไทยสูงกว่า คุณภาพสินค้าก็ดีกว่า จึงไม่เกิดความเป็นธรรมต่อพี่น้องชาวประมงไทย

ส่วนทางด้านของตัวแทนชาวประมงก็ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า ทุกวันนี้นอกจากชาวประมงจะต้องแบกรับภาระอย่างหนักในทุกๆ เรื่องตามกฎของ IUU ของสหภาพยุโรป ( EU) กับ Tier ของสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังต้องมาเจอผลกระทบซ้ำเติมจากปัญหาการนำเข้าสินค้าประมงจากประเทศเพื่อนบ้านอีก จึงอยากจะให้รัฐบาลไทยเข้ามาดูแลควบคุมแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งเรื่องของราคาสินค้า คุณภาพมาตรฐานสินค้าประมงจากประเทศเพื่อนบ้าน กลไกการตลาด การลักลอบนำเข้า และปริมาณการนำเข้ามาในประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งถ้ารัฐบาลไทยอยากให้ประมงไทยเดินหน้าก็ต้องหันมาแก้ไขในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง ไม่ใช่การดูแลเอาใจการนำเข้าสินค้าประมงจากประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าการดูแลประมงไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ยังได้มีการออกหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2562 สั่งการไปยังเจ้าหน้าที่ ประจำด่านตรวจสัตว์น้ำทุกแห่งทั่วประเทศ ให้มีการตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำอย่างเคร่งครัด ไม่ให้สร้างภาระที่เกินความจำเป็นแก่ผู้ประกอบการนำเข้าที่ถูกต้อง ให้ดำเนินการจัดทำสำเนาใบอนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการนำติดไปกับยานพาหนะที่บรรทุกสัตว์น้ำขณะเดินทางเข้ามาราชอาณาจักร สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการนำเข้าอย่างถูกต้องจริง อีกทั้งกรมประมงยังผนึกกำลังบูรณาการงานร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ตลาดทะเลไทย จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพื่อติดตามสถานการณ์สินค้าประมง โดยสุ่มตรวจสินค้าสัตว์น้ำที่นำมาจำหน่าย ตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาอีกครั้ง เพื่อความชัดเจนว่าสินค้าประมงมีการนำเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย พร้อมกันนี้อธิบดีกรมประมงก็ได้ฝากถึงผู้ประกอบการสินค้าประมง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการร่วมกันแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าประมงอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้หมดสิ้นไป ขอให้ผู้ประกอบการทุกรายได้โปรดปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ของทางราชการ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ทั้งระบบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image