ส.อ.ท. ยกระดับอุตสาหกรรมไม้ไทยสู่มาตรฐานสากล หวังเพิ่มมูลค่าการส่งออกกว่าแสนล้านบาท

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)​ กล่าวว่า สำนักงานการรับรองไม้เศรษฐกิจไทย (ทีเอฟซีซี) สถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร (สอก.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้รับคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกของพีอีเอฟซี ในฐานะหน่วยปกครองการรับรองมาตรฐานด้านป่าไม้แห่งชาติ และได้รับการเทียบเคียงมาตรฐานอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 จากนี้ไปการดำเนินการจัดการสวนป่าของไทยจะเป็นที่ยอมรับตามหลักมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมธุรกิจไม้และเข้าสู่ตลาดโลกได้

นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการการรับรองไม้เศรษฐกิจไทย สถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร (สอก.) กล่าวว่า การที่ไทยได้รับการเทียบเคียงระบบการรับรองการจัดการป่าไม้ของไทย ที่สามารถให้การรับรองที่เทียบเท่ามาตรฐานระดับสากล  ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจไม้แปรรูป อาทิ ไม้ยางพารา, เฟอร์นิเจอร์, ของเล่นเด็ก และไม้เพื่อการขนส่งและบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งการรับรองมาตรฐานนี้ จะช่วยยืนยันได้ว่าไม้ต้นทางมาจากแหล่งใด และช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ประกอบการอีกด้วย

นายศักดิ์ชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการของคู่ค้าต่างประเทศที่ต้องการมาตรฐานการรับรองผลิตภัณฑ์ เปรียบเสมือนใบเบิกทางให้สามารถข้ามกำแพงการค้าไปยังตลาดต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรปซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าไม้ได้กว่าแสนล้านบาท และคือสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับประเทศไทยที่ต้องมีมาตรฐานการรับรอง เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไม้ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ด้าน นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านธุรกิจและปฏิบัติการ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ส.อ.ท. ได้เปิดตัวระบบการรับรองการจัดการป่าไม้ของไทย (ทีเอฟซีเอส) อย่างเป็นทางการ ให้บริการด้านการออกใบรับรองการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งเทียบเท่ามาตรฐานสากล (พีอีเอฟซี) กยท. จึงได้ร่วมมือกับ ส.อ.ท. ขับเคลื่อนสวนยางพาราให้เข้าสู่มาตรฐานดังกล่าว เพื่อเป็นการยกระดับสวนยางพาราไทยสู่มาตรฐานสากล ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตยางพาราและไม้ยางพารา

Advertisement

“กยท. ได้กำหนดเป้าหมายนำร่องพื้นที่สวนยาง จำนวน 200,000 ไร่ ใน 7 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช จ.สุราษฎร์ธานี จ.สงขลา จ.กระบี่ จ.ตรัง จ.พัทลุง และ จ.สตูล เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งมีสวนยางหนาแน่น รวมถึงมีบริษัทรับซื้อน้ำยางและไม้ยางพาราในพื้นที่จำนวนมาก โดยหลังจากนี้จะมีการขยายพื้นที่สวนยางเป้าหมายให้ได้รับมาตรฐานสากล ทั่วประเทศ” นายณกรณ์​กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image