สกู๊ป น.1 : ตีทะเบียนซิมการ์ด 2 แชะอัตลักษณ์ ป้องกันไฟใต้

ตามที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4) ให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา นาทวี จะนะ เทพา และสะบ้าย้อย ลงทะเบียนซิมการ์ดด้วยระบบตรวจสอบใบหน้าและอัตลักษณ์ ภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้ หากไม่ดำเนินการจะไม่สามารถใช้บริการได้

ที่ จ.ยะลา ตัวแทนผู้ประกอบการระบบเครือข่าย AIS Dtac และ True ได้นำเจ้าหน้าที่ไปให้บริการ ลงทะเบียนซิมการ์ด ด้วยระบบตรวจสอบใบหน้า เเละอัตลักษณ์แก่ข้าราชการ ที่ศาลากลางจังหวัดยะลา โดยมีข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ นำบัตรประจำตัวประชาชน และเครื่องโทรศัพท์ไปลงทะเบียน ถ่ายรูปบัตรประชาชน และเจ้าของเครื่องตามเครือข่ายใช้งานกันอย่างคึกคัก

ขณะที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เชิญชวนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (นาทวี จะนะ เทพา และสะบ้าย้อย) ซึ่งใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งระบบจดทะเบียน และเติมเงิน ร่วมลงทะเบียนซิมการ์ด ตรวจสอบอัตลักษณ์ ผ่านระบบ “2 แชะอัตลักษณ์” เพื่อปกป้องผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย ป้องกันการปลอมแปลงการลงทะเบียนซิมการ์ดสวมทับสิทธิ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ซึ่งมักจะใช้ซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้อง เป็นสัญญาณในการจุดชนวนระเบิด ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก โดยจะมีการตรวจสอบอัตลักษณ์ของผู้ใช้ซิมการ์ด “ก่อน” การลงทะเบียนและเปิดใช้งาน

ทาง พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวถึงความเป็นมาว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ซึ่งกสทช.ได้ออกประกาศการลงทะเบียนซิมการ์ด ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา โดยการลงทะเบียนซิมการ์ดด้วยบัตรประชาชน ทั้งนี้ พบว่าได้เกิดปัญหาขึ้นมาเยอะ ในส่วนของพี่น้องประชาชนที่เป็นเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์พบว่ามีการสวมสิทธิ สวมรอยประชาชนคนอื่นไปเปิดซิมการ์ด ไปหลอกทำธุรกรรมทางการเงิน ในพื้นที่ จชต. เราได้พบว่าคนร้ายได้มีการขโมยซิมการ์ดของคนอื่น มีการจดทะเบียนซิมการ์ดในนามคนอื่น มีการสั่งซื้อสินค้านอกพื้นที่ มีการนำซิมการ์ดจากประเทศเพื่อนบ้านมาใช้ในการก่อเหตุ ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานด้วยความยากลำบาก พี่น้องประชาชนก็ถูกคุกคามทั้งชีวิตและทรัพย์สินมาตลอด 15 ปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าวทาง กสทช.มีการคิดค้นพัฒนารูปแบบการลงทะเบียนใหม่ที่มีการลงทะเบียน 2 แชะอัตลักษณ์ ที่มีการสแกนใบหน้าและตรวจบัตรประชาชนฉบับตัวจริงด้วย ซึ่งเรื่องนี้ภายหลังจากที่มีการส่งข้อความถึงพี่น้องประชาชนมีคนบางกลุ่มออกมาต่อต้านรณรงค์พบว่าเป็นการละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

Advertisement

ผมเรียนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จชต. รวมทั้งผู้บริโภคทั้งหมดที่ได้เรียนในเบื้องต้นว่าพวกเขาถูกหลอกใช้โทรศัพท์มือถือของประชาชน เขาเสียสิทธิ เขาถูกหลอกไปทำธุรกรรมทางการเงินในพื้นที่ จชต. คนร้ายได้นำมาก่อเหตุเยอะ ทาง กสทช.ได้คิดรูปแบบใหม่ ก็คือระบบ 2 แชะอัตลักษณ์ คือใช้บัตรประชาชนตัวจริง ควบคู่ไปกับการสแกนใบหน้าคือการถ่ายรูปใบหน้าเพื่อนำไปพิสูจน์อัตลักษณ์ในภายหลัง ซึ่งถามว่าการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนมั้ย จริงๆ นั้นไม่ใช่ ถือว่าเป็นการปกป้องและคุ้มครองสิทธิของพี่น้องประชาชนจากการละเมิด โดยมิจฉาชีพก็ดี โดยอาชญากรก็ดี หรือแม้กระทั่งของกลุ่มผู้ก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่ จชต.

แนวทางที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ดำเนินการ เราทำเพียงแค่ออกประกาศเพิ่มเติมจากคำสั่งที่ปรากฏอยู่ในประกาศของ กสทช. ที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาอยู่แล้ว เราแค่ได้ออกประกาศเพิ่มเติมในเรื่องของการกำหนดระยะเวลาในการลงทะเบียนซิมการ์ด ซึ่งในการดำเนินการ กอ.รมน.ภาค 4 สน. นั้นท่านแม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ท่านย้ำมาตั้งแต่แรกว่ามันเป็นเรื่องของการขอความร่วมมือกับพี่น้องประชาชน ย้ำว่าเป็นเรื่องขอความร่วมมือไม่ได้ไปบังคับแต่อย่างใด ในเรื่องของการลงทะเบียนซิมการ์ดถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลเราสามารถปฏิเสธไม่ไปลงทะเบียน
ไม่ไปสแกนใบหน้าได้ แต่อาจเสียสิทธิในการใช้โทรศัพท์มือถือตามประกาศของ กสทช. เพราะฉะนั้นจากประเด็นที่มีการต่อต้านในช่วงที่ผ่านมานั้น ก็พยายามจะชูประเด็นในเรื่องของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ชูประเด็นเผด็จการทหาร ซึ่งในความเป็นจริงเป็นเรื่องของ กสทช.บังคับใช้กับประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการของโทรศัพท์มือถือทุกระบบทั่วประเทศแล้ว ไม่ได้เลือกปฏิบัติเฉพาะ จชต. ในส่วนของทางเจ้าหน้าที่รัฐก็เช่นเดียวกัน ในฐานะที่เป็นผู้บริโภคเราก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนี้ จากการเข้าไปตรวจสอบร้านค้าและแหล่งลงทะเบียน พบว่าพี่น้องประชาชนมาลงทะเบียนกันเยอะแยะ ไม่มีใครมีปัญหาใดๆ เลย ทุกคนเต็มใจก็เพราะว่าสิ่งที่ทาง กสทช.ทำนั้น เป็นการคุ้มครองสิทธิของเขาโดยตรง เขาจะรู้ได้เลยว่ามีคนมาแอบขโมยบัตรประชาชนไปเปิดหมายเลขโทรศัพท์เขารู้เลย เพราะว่ามีระบบที่เชื่อมโยงกันได้

ที่สำคัญคือ ในเรื่องของ จชต.ต่อไปนี้ ถ้าทุกคนจะต้องเข้าสู่ระบบนี้ คนร้ายที่เขาใช้โทรศัพท์ในการจุดชนวนระเบิดก็ทำได้ยาก เพราะเขาไม่สามารถใช้ระบบโทรศัพท์ในระบบอื่นๆ ในการก่อเหตุเหมือนเช่นที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่จะสามารถติดตามสืบค้นคนร้ายที่ก่อเหตุ
รวมทั้งคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อเหตุได้ง่ายขึ้น พี่น้องประชาชนจะมีความปลอดภัยมากขึ้น เป็นประโยชน์โดยตรงของประชาชน

Advertisement

ขณะที่บรรยากาศที่ศูนย์โทรศัพท์เครือข่ายทรูมูฟ ดีแทค และเอไอเอส ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส พบประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว แม้เป็นการขอความร่วมมือ แต่เหมือนเป็นสภาพบังคับ เพราะหากไม่ลงทะเบียนซิมการ์ดภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 จะไม่สามารถใช้โทรศัพท์ได้ รวมทั้งเกรงจะเป็นการสร้างเงื่อนไขความรู้สึกที่มีความละเอียดอ่อนในพื้นที่ให้มีปัญหามากขึ้น เนื่องจากการถ่ายใบหน้าสามารถนำไปเปลี่ยนแปลงใบหน้าด้วยโปรแกรม photo shop ได้ ซึ่งการลงทะเบียนไม่ได้เก็บลายนิ้วมือ เสี่ยงต่อการนำไปทำอย่างอื่น โดยการตัดต่อเปลี่ยนแปลงใบหน้า โดยข้อมูลของลูกค้าทางร้านไม่ได้จัดเก็บเอง ข้อมูลจะส่งไปให้ กสทช.จัดเก็บทั้งหมด

น.ส.กูซารีนา ต่วนมูดอ ผู้จัดการฝ่ายขายทรู กล่าวว่า ร้านจะให้ลูกค้าลงทะเบียนให้ผ่านโดยบันทึกบัตรประชาชนและใบหน้าเจ้าของซิมการ์ด เพื่อเก็บข้อมูลอัตลักษณ์ของผู้ใช้ซิมการ์ด หลังจากผ่านลงทะเบียนระบบอัตลักษณ์แล้ว ลูกค้าสามารถตรวจสอบการลงทะเบียนผ่านหมายเลขของทางเครือข่าย True ได้เลย จะมีข้อความหมายเลขของคุณได้ลงทะเบียนระบบอัตลักษณ์เรียบร้อยแล้ว ส่วนผู้ซื้อซิมใหม่ ร้านจะลงทะเบียนระบบอัตลักษณ์ให้ลูกค้าเลย

“นอกจากนี้ ร้านต้องออกให้บริการในพื้นที่แต่ละอำเภอ เนื่องจากผู้ใช้บริการส่วนใหญ่อยู่พื้นที่ห่างไกล ไม่สามารถมาใช้บริการที่ True Partner ได้
โดยได้ประสานผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ช่วยประชาสัมพันธ์ให้มาลงทะเบียนอัตลักษณ์ในครั้งนี้”

ด้านประชาชนชาวยะลารายหนึ่ง กล่าวว่า ตนไม่เข้าใจ เพราะซื้อซิมโทรศัพท์ได้ให้บัตรประชาชนไปแล้ว มีการถ่ายรูปหน้าไปแล้ว ไม่เข้าใจว่าจะพิสูจน์อัตลักษณ์ เพราะการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทำให้คนเป็นหมื่นเป็นแสนต้องเดือดร้อน ชาวบ้านไม่ว่าอะไรอยู่แล้ว ที่จะมีการตรวจต่างๆ แต่ไม่เข้าใจการตรวจอัตลักษณ์ ถามจะไล่ตรวจดีเอ็นเอคนทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรืออย่างไร

“จะคิดให้เยอะไปทำไม ถ้ามีเด็กเกิดใหม่ในพื้นที่ 3 จังหวัด ก็ไปที่กรมการปกครองเก็บดีเอ็นเอเลย หรือใครทำบัตรประชาชนใหม่ก็เก็บเลย ผมไม่เข้าใจเลยว่าจะเอาอะไรกับคน 3 จังหวัด ผมอยากให้ออกมาชี้แจงเหตุผลว่าจะเอาอะไร มีวิธีที่ดีกว่านี้หน่อย เครื่องมือมีอยู่แล้วในการติดตามและการตรวจสอบดีๆ มีวิธีที่ดีกว่านี้ไหม” ชาวยะลากล่าว

ถือเป็นอีกมาตรการหนึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เพื่อป้องกันการก่อความรุนแรง แต่ถูกต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image